คณะรัฐมนตรีพิจารณาแผนแม่บทการจัดการประมงทะเลไทย (พ.ศ. 2552-2561) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ แล้วมีมติดังนี้
1. เห็นชอบแผนแม่บทการจัดการประมงทะเลไทย (พ.ศ. 2552-2561) เพื่อเป็นแนวทางสำหรับหน่วยงานใช้ในการจัดทำแผนปฏิบัติการต่อไป
2. เห็นชอบให้หน่วยงานที่ร่วมรับผิดชอบในแผนแม่บทฯ ได้แก่ หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพเรือ ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับมาตรการและแนวทาง
3. เห็นชอบให้กรมประมงเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานกับหน่วยงานในข้อ 2 เพื่อจัดทำแผน ปฏิบัติการและงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในโอกาสต่อไป
4. เห็นชอบในหลักการให้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมบูรณาการการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องในด้านการประมงอย่างเป็นระบบ เนื่องจากปัญหาที่เกี่ยวข้องในด้านการประมงเป็นปัญหาที่สำคัญเกี่ยวพันกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพียงหน่วยงานเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างลุล่วงไปได้ และคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะเป็นผู้ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนแม่บทฯ ที่ได้นำเสนอในครั้งนี้ด้วย
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า
1. ประเทศไทยนับได้ว่าเป็นผู้นำในภาคการประมง โดยผลผลิตรวมของสัตว์น้ำในช่วงปี พ.ศ. 2538 - 2547 อยู่ที่ระดับ 3.6-4.1 ล้านตัน และอาชีพประมง นอกจากสร้างรายได้ในทางเศรษฐกิจระดับประเทศแล้วยังก่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย เช่น อุตสาหกรรมต่อเรือ โรงงานแปรรูปต่างๆ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ เป็นต้น
2. เนื่องจากหากพิจารณาจากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า ผลผลิตจากประมงทะเลของไทยเริ่มลดน้อยลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะผลผลิตจากภายในน่านน้ำไทย จึงทำให้มีเรือประมงบางส่วนต้องออกไปทำการประมงในทะเลหลวงและในเขต น่านน้ำของประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะการซื้อใบอนุญาต (Licensing) หรือการทำการประมงร่วม (Joint ventures) ผลผลิตจากการทำการประมงของเรือประมงไทยเป็นผลผลิตจากในน่านน้ำไทยประมาณร้อยละ 56 ส่วนร้อยละ 44 เป็นผลผลิตจากการทำประมงนอกน่านน้ำ
3. การเสื่อมโทรมของทรัพยากรประมงของประเทศไทยมีสาเหตุจากการทำประมงมากเกินไป (Over fishing) การใช้เครื่องมือประมงมีความหลากหลายชนิดจนบางครั้งเกิดการขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ใช้เครื่องมือต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเรือประมงพาณิชย์กับกลุ่มเรือประมงพื้นบ้าน หรือกลุ่มชาวประมงขนาดเล็ก ซึ่งมีการร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่บ่อยครั้งขึ้น
4. ในการไปทำการประมงนอกน่านน้ำของเรือประมงไทยพบว่ามีประเด็นปัญหาของการประกอบอาชีพ เช่น ปัญหาการปิดกั้นแหล่งทำการประมง ปัญหาภาพลักษณ์ของผู้ประกอบการและชาวประมงไทยที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มชาวประมงที่มักหลีกเลี่ยงและไม่ยอมทำตามกฎกติกาที่ตกลงกัน
5. ปัญหาเรื่องต้นทุนการทำการประมงที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ราคาน้ำมัน ซึ่งเป็น ต้นทุนผันแปรที่สูงถึงร้อยละ 60 ของการประกอบการ
6. ประมงไทยต้องมีภาระผูกพันกับองค์กรระหว่างประเทศและนานาประเทศทั้งหลายเกี่ยวกับการจัดการประมงภายใต้หลักจรรยาบรรณ การทำการประมงอย่างรับผิดชอบ (Code of Conduct for Responsible Fisheries) อนุสัญญาประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) มาตรการการค้าภายในองค์การการค้าโลก (WTO) อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์น้ำและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) เป็นต้น
7. เพื่อให้สถานการณ์การประมงไทยได้รับการแก้ไขปัญหา กรมประมงจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนแม่บทการจัดการประมงทะเลไทย (พ.ศ. 2552-2561) ประกอบด้วยข้าราชการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคเอกชน ผู้แทนชาวประมง เพื่อให้ดำเนินการกำหนดกรอบและแนวทางการจัดทำแผนแม่บทฯ ให้แล้วเสร็จ และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนแม่บทฯ จำนวน 4 คณะ ทั้งนี้ คณะกรรมการจัดทำแผนแม่บทฯ ได้นำแผนแม่บทฯ ที่ได้ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้วประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิและตัวแทนชาวประมงแล้ว ต่อมาคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการประมงทะเลได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบกับแผนแม่บทฯ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2551 เรียบร้อยแล้ว สรุปได้ดังนี้
สาระสำคัญของแผนแม่บทฯ
(1) วิสัยทัศน์ “พัฒนาการประมงทะเลอย่างยั่งยืน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีคนเป็นศูนย์กลาง”
(2) พันธกิจ 1) บริหารจัดการการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำ ฟื้นฟู ดูแล และรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล ให้คงความอุดมสมบูรณ์ โดยคำนึงถึงปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากร และระบบนิเวศ 2) พัฒนาศักยภาพคน องค์กรและองค์ความรู้ในการจัดการทรัพยากรประมงและสิ่งแวดล้อมทางทะเล 3) ส่งเสริมการทำประมงตามหลักจรรยาบรรณในการทำประมงอย่างรับผิดชอบ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในทุกระดับ
(3) วัตถุประสงค์ 1) เพื่อบริหารจัดการให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมงทะเลอย่างรับผิดชอบและเหมาะสมคุ้มค่า 2) เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำและระบบนิเวศให้มีความสมบูรณ์และคงความสมดุล 3) เพื่อพัฒนาศักยภาพองค์กรประมงและส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการประมงทะเล 4) เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการประกอบกิจการประมงในทุกระดับให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงและข้อกำหนดที่เป็นที่ยอมรับ 5) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวประมง 6) เพื่อสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของอาหารที่ได้จากการประมงทะเล
(4) เป้าหมาย 1) การประมงทะเลของไทยมีความยั่งยืนและมั่นคง โดยรักษาระดับการจับสัตว์น้ำ ในน่านน้ำให้ได้ระหว่าง 1.7-2.0 ล้านตันต่อปี โดยมีสัตว์น้ำเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 และการจับสัตว์น้ำจากนอกน่านน้ำ ระหว่าง 1.0-1.5 ล้านตันต่อปี 2) มีองค์กรของชาวประมงที่มีส่วนร่วมดำเนินกิจกรรมกับภาครัฐอย่างน้อย 1 องค์กรต่อจังหวัด และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างจังหวัดหรือพื้นที่ใกล้เคียง 3) มีการบริหารจัดการประมง โดยชุมชนมีส่วนร่วมอย่างน้อยร้อยละ 10 ของชุมชนประมงชายฝั่ง
(5) กลยุทธ์ที่ดำเนินการ 1) กลยุทธ์ที่ 1 ปรับปรุงระบบการจัดการประมงทะเลให้มีประสิทธิภาพและมีส่วนร่วม 2) กลยุทธ์ที่ 2 ปรับปรุงโครงสร้างและศักยภาพองค์กรภาคประมง 3) กลยุทธ์ที่ 3 พัฒนาและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรประมงทะเลอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน 4) กลยุทธ์ที่ 4 ฟื้นฟูระบบนิเวศและพัฒนาแหล่งประมงทะเล เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเล 5) กลยุทธ์ที่ 5 ส่งเสริมและพัฒนาการประมงนอกน่านน้ำไทย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 เมษายน 2552 --จบ--