มาตรการสินเชื่อเพื่อชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 29, 2009 12:56 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการสินเชื่อเพื่อชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการดำเนินมาตรการนี้ให้แก่บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ทั้งนี้ ให้เบิกจ่ายตามที่เกิดขึ้นจริง ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

กระทรวงการคลังรายงานว่า ด้วยวิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการของไทย ทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ขาดสภาพคล่องจนอาจจะไม่สามารถชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี 2551 ภายในเดือนพฤษภาคม 2552 ได้ตามกำหนด

กระทรวงการคลังได้พิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือ SMEs ในประเด็นดังกล่าวโดยอาศัยกลไกการค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และสภาพคล่องที่ยังมีอยู่จำนวนมากในระบบธนาคารพาณิชย์ จึงเสนอมาตรการสินเชื่อเพื่อชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ดังนี้

1. ข้อเท็จจริง

ประเด็นภาษีเงินได้นิติบุคคล

1.1 ผู้ประกอบการจะต้องยื่นชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี 2551 ภายในเดือนพฤษภาคม 2552 และหากผู้ประกอบการไม่สามารถชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลภายในเวลาที่กำหนดของแต่ละปีภาษี ผู้ประกอบการจะต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสีย (ร้อยละ 18 ต่อปี) ซึ่งกรณีเหล่านี้จะเป็นภาระอย่างมากสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ในภาวะเศรษฐกิจเช่นปัจจุบันซึ่งยังคงขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจอยู่

1.2 ผู้ประกอบการ SMEs (บริษัทขนาดย่อม) มีสัดส่วนมากที่สุดของผู้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยในปี 2551 มีจำนวนประมาณ 278,191 ราย และมีการชำระภาษีประจำปี 2550 จำนวน 31,368.79 ล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ประมาณการว่าการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิ ในช่วงครึ่งปีหลัง (ภงด 50) สำหรับผู้ประกอบการ SMEs มีประมาณ 13,000 ล้านบาท

สถานะปัจจุบันของ บสย.

1.3 ปัจจุบัน บสย. มีเงินกองทุนประมาณ 3,400 ล้านบาท Gearing Ratio ตามมติคณะกรรมการ บสย. กำหนดไว้ที่ 10 เท่าของเงินกองทุน ซึ่งจะทำให้ บสย. สามารถค้ำประกันได้ประมาณ 34,000 ล้านบาท โดยขณะนี้ บสย. มีภาระค้ำประกันอยู่ประมาณ 22,980 ล้านบาท ดังนั้น จะสามารถค้ำประกันได้อีกประมาณ 11,020 ล้านบาท

2. หลักเกณฑ์ของมาตรการสินเชื่อเพื่อชำระหนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการ SMEs ในการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปีภาษี 2551 เห็นควรให้ธนาคาร (สถาบันการเงินเฉพาะกิจและธนาคารพาณิชย์) ปล่อยสินเชื่อแก่ SMEs ที่เป็นลูกค้าของธนาคารเพื่อชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี 2551 โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้

2.1 ประเภทสินเชื่อ : สินเชื่อเพื่อชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี 2551 โดยเงินสินเชื่อที่ได้รับจากธนาคารจะส่งตรงให้กับทางการเพื่อชำระภาษีของ SMEs นั้น ๆ

2.2 คุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ

(1) เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี 2551 และ

(2) ณ ปัจจุบัน ไม่เคยค้างชำระภาษีกับกรมสรรพากรในรอบบัญชีก่อนหน้า สามารถตรวจสอบได้กับกรมสรรพากร

(3) เป็นลูกค้าของธนาคารนั้น ๆ และไม่เคยมีประวัติการผิดนัดชำระหนี้กับธนาคารเกินกว่า 90 วันย้อนหลัง3 ปี และข้อมูล Credit Bureau ณ ปัจจุบันจะต้องไม่มีหนี้ค้างชำระ

(4) ดำเนินธุรกิจดังกล่าวมาไม่น้อยกว่า 3 ปี

2.3 เงื่อนไขการกู้เงิน : ระยะเวลาการให้สินเชื่อ 1 ปี ระยะเวลาปลอดหนี้ 3 เดือน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี จ่ายชำระเป็นรายเดือน

2.4 การค้ำประกัน : บสย. ค้ำประกันสินเชื่อเต็มจำนวนของผู้กู้แต่ละราย วงเงินค้ำประกันรวมประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยคิดค่าธรรมเนียมตามปกติ และให้ บสย. จ่ายเงินในส่วนที่ค้ำประกันให้กับธนาคารทันทีที่ค้างชำระ (ค้างชำระเกิน 3 เดือน) โดยไม่ต้องรอฟ้องร้องต่อศาล หรือมีเงื่อนไขใด

2.5 ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ : ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

2.6 ประโยชน์ที่จะได้รับ :

(1) ช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นนิติบุคคลให้สามารถชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ตามกำหนด เพื่อมิต้องค้างหนี้สรรพากรในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (ร้อยละ 18 ต่อปี)

(2) รัฐสามารถจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เพิ่มขึ้น

(3) ช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของสภาพคล่องในระบบสถาบันการเงิน

โดยที่ บสย. ค้ำประกันเต็มจำนวนและไม่มี Stop loss อีกทั้ง บสย. จะต้องจ่ายเงินส่วนที่ค้ำประกันทันทีในกรณีที่ SMEs ไม่ชำระหนี้ต่อธนาคาร ส่งผลให้เงินกองทุนของ บสย. ลดลงทันที ซึ่งแตกต่างจากการดำเนินงานปกติของ บสย. ที่ต้องมีการฟ้องร้องดำเนินคดีจนถึงที่สุดแล้ว จึงจะมีการจ่ายเงินชดเชยการค้ำประกันให้ธนาคารของลูกหนี้ ดังนั้น จึงเห็นควรชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการดำเนินมาตรการให้ บสย. ตามที่เกิดขึ้นจริง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 เมษายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ