คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานการค้าระหว่างประเทศของไทยในระยะ 3 เดือนแรก ปี 2552 (มกราคม-มีนาคม) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
1. การส่งออก
1.1 การส่งออกเดือนมีนาคม 2552
1.1.1 การส่งออก มีมูลค่า 11,555.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 23.1 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ห้า ซึ่งการส่งออกปรับตัวลดลงอย่างมากจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ลดลงร้อยละ 11.3 และเมื่อคิดในรูปเงินบาทการส่งออกมีมูลค่า 404,792.5 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 16.6
1.1.2 สินค้าส่งออกลดลงในทุกหมวด โดยสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรสำคัญลดลงร้อยละ 20.6 สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญลดลงร้อยละ 21.6 และสินค้าอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 32.0
(1) สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรสำคัญ ส่วนใหญ่ส่งออกลดลงตามความต้องการในตลาดโลกที่ลดลง การแข่งขันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ลูกค้าชะลอการสั่งซื้อและมีการต่อรองราคามากขึ้น ยกเว้นไก่ และน้ำตาลที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น
- สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 และ น้ำตาล มูลค่าและปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.0 และ 20.4 ตามลำดับ
- สินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว มูลค่าและปริมาณลดลงร้อยละ 20.1 และ 36.7 ตามลำดับ ยางพารา มูลค่าและปริมาณลดลงร้อยละ 46.9 และ 4.1 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มูลค่าและปริมาณลดลงร้อยละ 40.2 และ 20.1 ตามลำดับ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป มูลค่าและปริมาณลดลงร้อยละ 9.4 และ 6.3 ตามลำดับ และ ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป มูลค่าและปริมาณลดลงร้อยละ 12.5 และ 14.3 ตามลำดับ อาหารอื่นๆ มูลค่าและปริมาณลดลงร้อยละ 11.5 และ 13.7 ตามลำดับ
(2) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ส่วนใหญ่ส่งออกลดลง
- สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 อัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 ผลิตภัณฑ์เภสัช/เครื่องมือแพทย์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 อาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0
- สินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ ครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และส่วนประกอบ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งพิมพ์ เครื่องเดินทางและเครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องใช้เครื่องประดับตกแต่ง เลนส์ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว นาฬิกาและส่วนประกอบ และ เครื่องกีฬาและเครื่องเล่นเกมส์ และของเล่น
(3) สินค้าอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 32.0 ที่สำคัญและลดลงในอัตราสูงได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบและเครื่องจักรกลและส่วนประกอบลดลงร้อยละ 39.2, 43.5 และ 34.2 ตามลำดับ
1.1.3 ตลาดส่งออก ตลาดหลักยังลดลงต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 2551 โดยลดลงถึงร้อยละ 33.3 และตลาดใหม่ส่งออกลดลงร้อยละ 12.2
- ตลาดหลัก ส่งออกลดลงต่อเนื่องในทุกตลาด คือ อาเซียน(5) สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และ สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 35.5 , 37.8 , 30.1 และ 28.4 ตามลำดับ
- ตลาดใหม่ ส่งออกลดลงเกือบทุกตลาด
- ตลาดที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ แอฟริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 ตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้น
- ตลาดที่ส่งออกลดลง ได้แก่ ฮ่องกง(-28.3%) ไต้หวัน (-36.5%) เกาหลีใต้ (-16.7%) ทวีปออสเตรเลีย (-1.4%) แคนาดา (-14.6%) อินโดจีน (-19.4%) ลาตินอเมริกา (-46.1%) ยุโรปตะวันออก (-20.0%) อินเดีย (- 9.8%) และจีน (- 14.0%)
1.2 การส่งออกในระยะ 3 เดือนแรกของปี 2552 (ม.ค.-มี.ค)
1.2.1 การส่งออก มีมูลค่า 33,787.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 20.55 และเมื่อคิดในรูปเงินบาท การส่งออกมีมูลค่า 1,171,900.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 16.21
1.2.2 สินค้าส่งออก ลดลงในทุกหมวด โดยสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรสำคัญลดลงร้อยละ 19.2 สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญลดลงร้อยละ 17.9 และสินค้าอื่นๆ ลดลงร้อยละ 32.6
(1) สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรสำคัญส่วนใหญ่ส่งออกลดลงตามความต้องการในตลาดโลกที่ลดลง การแข่งขันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ลูกค้าชะลอการสั่งซื้อและมีการต่อรองราคามากขึ้น ยกเว้น กุ้ง ไก่ อาหารอื่น ๆ และน้ำตาล ที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น
- สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ กุ้งแช่แข็งและแปรรูป ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 และ 1.1 ตามลำดับ ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ปริมาณลดลงร้อยละ 4.6 อาหารอื่น ๆ ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 และ 1.4 ตามลำดับ และ น้ำตาล ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 และ 16.0 ตามลำดับ
- สินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 32.8 และ 13.7 ตามลำดับ ยางพารา ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 5.7 และ 45.5 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 34.1 และ 45.6 ตามลำดับ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป(ไม่รวมกุ้ง) ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 12.2 และ 12.5 ตามลำดับ และ ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 15.6 และ 12.4 ตามลำดับ
(2) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ส่งออกลดลงเกือบทุกรายการ
- สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัญมณี เพิ่มขึ้นร้อยละ 106.3 (เป็นการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 351.6) ผลิตภัณฑ์เภสัช/เครื่องมือแพทย์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 อาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 และ เครื่องสำอาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3
- สินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และส่วน ประกอบ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยาง และของเล่น เป็นต้น
(3) สินค้าอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 32.6 ที่สำคัญและลดลงในอัตราสูงได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบและเครื่องจักรกลและส่วนประกอบลดลงร้อยละ 39.9, 43.3 และ 26.6 ตามลำดับ
1.2.3 ตลาดส่งออกลดลงทั้งในตลาดหลักและตลาดใหม่ โดยตลาดหลักลดลงถึงร้อยละ 30.5 ขณะที่ตลาดใหม่ลดลงเพียงร้อยละ 10.0
- ตลาดหลัก ส่งออกลดลงต่อเนื่องในทุกตลาด คือ อาเซียน(5) สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และ ญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 34.5, 32.7, 27.0 และ 26.1 ตามลำดับ
- ตลาดใหม่ ส่งออกลดลงเกือบทุกตลาด
- ตลาดที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ทวีปออสเตรเลีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 และแอฟริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5
- ตลาดที่ส่งออกลดลง ได้แก่ ฮ่องกง (-14.2%) ไต้หวัน (-42.5%) เกาหลีใต้ (-24.5%) แคนาดา (-13.6%) อินโดจีน (-23.6%) ตะวันออกกลาง (-0.2%) ลาตินอเมริกา (-39.6%) ยุโรปตะวันออก (-22.7%) เอเชียใต้ (-7.1%) อินเดีย (-17.0%) และจีน (-27.6%)
2. การนำเข้า
2.1 การนำเข้าเดือนมีนาคม 2552
2.1.1 การนำเข้า มีมูลค่า 9,454.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาลดลงร้อยละ 35.1 คิดในรูปเงินบาทมีมูลค่า 334,702.0 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 29.7
2.1.2 สินค้านำเข้าสินค้านำเข้าสำคัญมีการนำเข้าลดลงทุกหมวดสินค้าดังนี้
(1) สินค้าเชื้อเพลิง นำเข้ามูลค่า 1,735.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 40.2 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่น้ำมันดิบ ปริมาณ 27.71 ล้านบาร์เรล (893,980 บาร์เรลต่อวัน) มูลค่า 1,277.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.11 และมูลค่าลดลงร้อยละ 50.6 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบปรับลดลงถึงร้อยละ 53.5 โดยเดือนมีนาคม 2552 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 46.09 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ในขณะที่เดือนมีนาคม 2551 อยู่ที่ 99.09 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
(2) สินค้าทุน นำเข้ามูลค่า 2,669.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 24.7 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ นำเข้ามูลค่า 999.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 10.7 เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ นำเข้ามูลค่า 642.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 27.4 เนื่องจากการลงทุนชะลอตัว เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ นำเข้ามูลค่า 454.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 37.3
(3) สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป นำเข้ามูลค่า 3,638.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 43.2 การนำเข้าลดลงเพราะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในตลาดส่งออก ทำให้การลงทุนชะลอตัว สินค้าที่นำเข้ามาสำหรับการผลิตเพื่อการส่งออกลดลงเกือบทุกสินค้า เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ และเครื่อง จักรกล สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นำเข้ามูลค่า 677.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 39.0 เคมีภัณฑ์ นำเข้ามูลค่า 625.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 41.8 เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ นำเข้าปริมาณ 548.9 พันตัน มูลค่า 432.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 54.9 และ 55.6 ของปริมาณและมูลค่าตามลำดับ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้ภาคก่อสร้างชะลอตัว รวมทั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบลดกำลังการผลิต เช่น อุตสาหกรรมยานพาหนะและส่วนประกอบ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ทองคำ นำเข้าปริมาณ 6.04 ตัน มูลค่า 180.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 66.5และ 67.7 ตามลำดับ การนำเข้าทองคำลดลงมากทั้งปริมาณและมูลค่า เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกสูงขึ้น
(4) สินค้าอุปโภคบริโภค นำเข้ามูลค่า 1,089.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 13.0 การนำเข้ามีมูลค่าลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ทำให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เช่น เครื่องรับวิทยุโทรศัพท์ โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เป็นต้น นำเข้ามูลค่า 261.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 14.6 เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เช่น เครื่องใช้ในครัวและโต๊ะอาหาร กระเป๋า เป็นต้น นำเข้ามูลค่า 177.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 21.0 ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เช่น ยารักษาโรค วิตามิน ฮอร์โมน และฟิล์มที่ใช้ทางเวชกรรม ศัลยกรรม เป็นต้น เป็นสินค้าที่ยังจำเป็นต่อสุขภาพ นำเข้ามูลค่า 155.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.2
(5) สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์นำเข้ามูลค่า 281.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 38.3 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ นำเข้ามูลค่า 204.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 38.9ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์และรถจักรยาน นำเข้ามูลค่า 23.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 32.0 รถยนต์นั่ง นำเข้ามูลค่า 31.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 20.6 รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก นำเข้ามูลค่า 14.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 63.2
ทั้งนี้หากพิจารณาการนำเข้าในเดือนมีนาคม 2552 เทียบกับเดือนมีนาคม 2551 ขยายตัวลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั้งภายในและภายนอกประเทศ แต่เมื่อเทียบกับ 2 เดือนที่ผ่านมามีแนวโน้มดีขึ้นโดย เฉพาะในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปซึ่งเป็นการนำเข้าเพื่อผลิตสำหรับส่งออก
2.2 การนำเข้าในระยะ 3 เดือนแรกของปี 2552 (ม.ค.-มี.ค.)
2.2.1 การนำเข้า การนำเข้ามีมูลค่า 26,732.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2551 ลดลงร้อยละ 37.6
2.2.2 สินค้านำเข้าสำคัญ
(1) สินค้าเชื้อเพลิง นำเข้ามูลค่า 4,448.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 50.1 เป็นการนำเข้าน้ำมันดิบปริมาณ 70.1 ล้านบาร์เรล ลดลงร้อยละ 8.6 มูลค่า 3,217.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 56.4
(2) สินค้าทุน นำเข้ามูลค่า 8,427.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 24.1 เป็นการนำเข้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 2,926.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 10.0 เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ 1,912.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 32.7 เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 1,321.2ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 35.5
(3) สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป มูลค่า 9,946.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 44.5 เป็นการนำเข้าอุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 1,952.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 41.2 เคมีภัณฑ์ 1,611.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 47.7 เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 1,351.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 51.9 ทองคำ 337.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 58.9
(4) กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค มูลค่า 2,965.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 17.1 เป็นการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน 679.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 20.9 เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด 498.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 22.2 ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์และเภสัช 444.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.7
(5) กลุ่มสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง มูลค่า 867.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 34.2 เป็นการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ 589.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 40.3
3. ดุลการค้า
3.1 ดุลการค้าเดือนมีนาคม 2552
ไทยเกินดุลการค้า 2,100.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2551 ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 444.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนในรูปเงินบาท ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 404,792.5 ล้านบาท เมื่อเทียบกับมีนาคม 2551 ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 9,558.9 ล้านบาท
3.2 ดุลการค้าในระยะ 3 เดือนแรกของปี 2552
ไทยเกินดุลการค้า 7,054.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้าไทยขาดดุลการค้า 333.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อคิดในรูปเงินบาท ไทยเกินดุลการค้า 234,991.3 ล้านบาท เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า ไทยขาดดุลการค้า 25,720.1 ล้านบาท
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 พฤษภาคม 2552 --จบ--