การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหภาพพม่า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 20, 2009 14:55 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหภาพพม่า

ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก

คณะรัฐมนตรีรับทราบการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหภาพพม่าว่าด้วยความร่วมมือเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รายงานว่า

1. พม.ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานประสานงานกลางในการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยได้ประสานการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อเป็นกรอบความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีร่วมกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ในการประสานความร่วมมือกับสหภาพพม่า ผู้แทนของทั้งสองประเทศได้พัฒนาความร่วมมือในการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจร่วมกันเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็กขึ้น

2. ตามมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2551) และมติที่ประชุมรัฐสภาครั้งที่ 1 (สมัยสามัญทั่วไป) วันที่ 26 มกราคม 2552 และครั้งที่ 2 (สมัยสามัญทั่วไป) วันที่ 27 มกราคม 2552 เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (นายอิสสระ สมชัย) เป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ในนามรัฐบาลไทย

3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้เดินทางไปลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวร่วมกับพลตรีหม่อง อู (Major General Maung Oo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สหภาพพม่าแล้ว เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2552 ณ เมืองเนปิดอ สหภาพพม่า

4. บันทึกความเข้าใจฯ นับเป็นความร่วมมือทวิภาคีฉบับที่ 4 ที่ประเทศไทยได้ลงนามร่วมกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจะเป็นกรอบความร่วมมือในการป้องกัน การปราบปรามการค้ามนุษย์ การคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ รวมทั้งการส่งกลับคืนประเทศ และการปฏิบัติงานร่วมกัน สาระสำคัญในบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวจะมีความแตกต่างจากบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับก่อนๆ โดยเพิ่มเติมสาระสำคัญให้ชัดเจนขึ้นในส่วนของการคุ้มครองเด็กที่เป็นผู้เสียหาย การคัดแยกผู้เสียหาย การคุ้มครองพยาน การพัฒนากลไก เครื่องมือ ตลอดจนการติดตามผลอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังได้เชื่อมโยงกับบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงาน ระหว่างรัฐบาลไทยกับสหภาพพม่า ปี พ.ศ. 2546 โดยได้เพิ่มเติมมาตรการสำคัญในการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ ในรูปแบบของการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งสาระสำคัญดังกล่าวจะสอดคล้องกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ประกอบกับสหภาพพม่าได้มีการบัญญัติกฎหมายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็กเช่นกัน จึงเป็นที่เชื่อมั่นว่าการจัดทำกรอบความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่ความสำเร็จในการป้องกัน การปราบปราม และการคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งทั้งสองประเทศจะได้จัดทำแผนปฏิบัติการตามบันทึกความเข้าใจร่วมกันต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 พฤษภาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ