ผลการเข้าร่วมงาน Roadshow ณ สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 17, 2009 14:57 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ผลการเข้าร่วมงาน Roadshow ณ สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา และการประชุมของธนาคารโลก

และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (Spring Meeting)

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการเข้าร่วมงาน Roadshow ณ สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา และการประชุมของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (Spring Meeting) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

กระทรวงการคลังรายงานว่า

1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเพื่อเข้าร่วมงานกระทรวงการคลังพบปะนักลงทุนต่างชาติ (Roadshow) ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 22-23 เมษายน 2552 และกรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 24 เมษายน 2552 และการเข้าร่วมการประชุมของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (Spring Meeting) และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 24-26 เมษายน 2552 โดยมีสรุปผลการเข้าร่วมประชุมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1.1 การจัดงานกระทรวงการคลังพบปะนักลงทุนต่างชาติ (Roadshow) ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 22-23 เมษายน 2552 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1.1.1 การพบปะกับนักลงทุนครั้งนี้ เป็นช่วงที่นักลงทุนต้องการเข้าถึงข้อมูลและแนวนโยบายของประเทศมากที่สุด ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและการเมือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและคณะได้มีโอกาสพบกับนักลงทุนโดยรวมประมาณ 30 สถาบัน มีเม็ดเงินที่ดูแลทั้งหมดประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีโอกาสที่จะอธิบายถึงภาพรวมของประเทศเพื่อให้เขาได้รับรู้ในข้อเท็จจริง อุปสรรค และโอกาสในการลงทุนในประเทศไทย คำถามที่ได้รับมีความหลากหลายและสอบถามในประเด็นต่างๆ ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า นักลงทุนยังพร้อมให้โอกาสกับประเทศไทย และสนับสนุนแนวทางนโยบายของรัฐบาล โดยที่ยังรอดูผลของการแก้ปัญหาของประเทศทั้งในส่วนของการเมืองและเศรษฐกิจ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวปาฐกถาและกล่าวนำในหัวข้อ “การฟื้นฟูและพลิกฟื้นประเทศไทยภายใต้การนำของรัฐบาล (Government-led Recovery and Restructuring of Thailand)” มีสาระสำคัญสรุปได้ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง โดยวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลกระทบต่อการหดตัวเศรษฐกิจไทยผ่านการลดลงของการส่งออก ขณะเดียวกัน ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในประเทศในช่วงที่ผ่านมาได้ซ้ำเติมให้เศรษฐกิจไทยน่าจะหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมจากการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุนที่ลดลง อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ภาคการผลิตจะเผชิญความเสี่ยงดังกล่าว แต่ภาคการเงินของไทยยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่มาก ดังจะเห็นได้จากข้อมูลหนี้ด้อยคุณภาพ NPLของระบบธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในระดับต่ำไม่ถึงร้อยละ 6.0 ของสินทรัพย์รวม และเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่อยู่ในระดับสูงประมาณร้อยละ 14 ทั้งนี้ รัฐบาลมีแนวทางในการฟื้นฟูและพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ด้วยการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจระยะสั้นที่เน้นการสร้างกำลังซื้อในประเทศซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2552 จำนวน 1.17 แสนล้านบาท มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 4 หมื่นล้านบาท และการใช้สถาบันการเงินของรัฐในการเร่งเพิ่มสินเชื่อเพื่อให้ผู้ประกอบการจำนวน 3.39 แสนล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4.96 แสนล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 5.4 ของ GDP ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนของรัฐบาลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในระยะยาว โดยรัฐบาลได้อนุมัติวงเงินลงทุน 1.57 ล้านล้านบาท ในช่วงปีงบประมาณ 2553-2555

1.1.2 ในด้านการเมือง รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ปัญหาด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีการใช้สิทธิภายใต้กรอบกฎหมายที่จะต้องไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น ซึ่งแนวทางดังกล่าวทำให้สามารถแก้ไขปัญหาความไม่สงบในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้ในระยะสั้นแต่ในระยะยาว รัฐบาลได้มีแนวทางที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ต้นเหตุ ด้วยการใช้กระบวนการทางรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาช่วยกันแก้ปัญหาทางการเมืองและปฏิรูปทางการเมืองร่วมกัน

1.1.3 นักลงทุนต่างชาติได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในหลายประเด็น สรุปได้ดังนี้

1.1.3.1 นักลงทุนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการประเมินเศรษฐกิจและการเมืองไทยอย่างตรงไปตรงมา ทำให้ช่วยสร้าง

ความเข้าใจต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองไทยได้ดียิ่งขึ้น

1.1.3.2 ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสอย่างมากในการที่จะเป็นประเทศที่สามารถ

ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงิน

ที่เข้มแข็งกว่าหลายๆ ประเทศและเห็นว่าหากแนวทางการปฏิรูปทางการเมืองและนโยบายเศรษฐกิจของ

รัฐบาลประสบความสำเร็จจะช่วยให้ประเทศไทยน่าลงทุนมากขึ้น

1.1.3.3 นักลงทุนได้สนับสนุนแนวทางโครงการลงทุนของภาครัฐค่อนข้างมาก และได้สอบถามถึงความเป็นไปได้ใน

การหาแหล่งเงินเพื่อใช้ในการลงทุน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ให้ความมั่นใจแก่นักลงทุนถึง

ความสามารถในการกู้เงินในประเทศที่มีสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินสูงถึงประมาณ 1.4

ล้านล้านบาท ขณะเดียวกัน การที่ภาครัฐมีหนี้ต่างประเทศน้อยมากเพียงร้อยละ 12 ของหนี้สาธารณะ

ทำให้การกู้เงินทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของภาครัฐ

1.1.3.4 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องของการนำแผนงานลงทุนที่รัฐบาลอนุมัติไป

ทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ และยืนยันความตั้งใจของรัฐบาลในการกำกับดูแลการลงทุนให้เป็นไปตามเป้า

หมายอย่างเป็นรูปธรรม

1.1.3.5 นักลงทุนหลายท่านได้แสดงความสนใจถึงแนวทางของรัฐบาลในการให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนกับภาครัฐ

(Public Private Partnership: PPP) ซึ่งเห็นว่านอกจากจะเป็นนโยบายที่ดึงดูดให้ภาคเอกชนลง

ทุนเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการช่วยให้การบริหารจัดการและการขับเคลื่อนโครงการลงทุนของภาครัฐเป็นไป

อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย และนักลงทุนอยากเห็นนโยบายที่มีความชัดเจนของรัฐบาลว่าจะกระตุ้นให้

ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศมีส่วนร่วมมากขึ้น

2. ผลของการจัดงานชี้แจงนักลงทุนต่างชาติ ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี วันที่ 24 เมษายน 2552

การจัดงานดังกล่าวมีสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน และ US ASEAN Business Council และ Asia Society of Washington, DC ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ โดยเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยเข้าร่วม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ชี้แจงต่อนักลงทุนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้แทนจากภาคธุรกิจสหรัฐฯ กว่า 25 บริษัท รวมถึงนักการเมืองสำคัญของสหรัฐฯ รวมกว่า 100 คน ให้ทราบถึงภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองล่าสุดของเศรษฐกิจของประเทศไทย และสร้างความเข้าใจในแนวนโยบายของรัฐบาล พร้อมทั้งให้นักลงทุนต่างชาติได้รับทราบในข้อเท็จจริง อุปสรรค และโอกาสในการลงทุนในประเทศไทย

3. การประชุมอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia Voting Group: SEA Group) ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ในวันที่ 24 เมษายน 2552 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะผู้ว่าการของไทยในธนาคารโลกได้เข้าร่วมการประชุม โดยมีการหารือแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจโลกต่อประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกว่า เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -1.3 ต่อปีในปี 2552 และคาดการณ์ว่าจะสามารถเริ่มฟื้นตัวได้ภายในปี 2553 โดยขยายตัวได้ที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และการรักษากลไกของกระแสสินเชื่อ (Credit Flows) จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป ในส่วนของธนาคารโลกได้รายงานความคืบหน้าของมาตรการต่างๆ และนโยบายที่ได้ดำเนินการเพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ

4. การประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก ครั้งที่ 79 (79th Development Committee Meeting) ในวันที่ 26 เมษายน 2552 มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

4.1 ที่ประชุมได้หารืออย่างกว้างขวางถึงผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกต่อประเทศสมาชิกโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา และขณะนี้กำลังจะส่งผลกระทบต่อประชากรโลก โดยเกิดเป็นวิกฤตด้านมนุษย์และวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ กำลังส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ Millennium Development Goals (MDGs) ในการที่จะลดความยากจนของประชากรโลก และไม่สามารถทำได้ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ คาดว่ามีประชากรมากกว่า 50 ล้านคน กำลังเผชิญกับความยากจนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะสตรีและเด็กที่ประชุมจึงเรียกร้องให้เร่งแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าวโดยเร็วที่สุด

4.2 ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้แสดงบทบาทร่วมกันอย่างสูงในการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาให้สามารถโต้ตอบกับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยมีบทบาทในการเป็นตัวเชื่อมโยงช่องว่างในแง่ของการเป็นแหล่งเงินและการไหลเวียนเงินทุน อย่างไรก็ตาม องค์กรการเงินระหว่างประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอ เพื่อให้สามารถดำเนินมาตรการต่างๆ ที่จะต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิผล ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับการประชุมผู้นำ G-20 ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อต้นเดือนเมษายน 2552 ที่เห็นชอบให้องค์กรการเงินระหว่างประเทศต้องมีความพร้อมทั้งในด้านแหล่งเงินทุนและการจัดการ จึงเรียกร้องให้ประเทศผู้บริจาคทั้งหลายได้แสดงความตกลงที่จะผูกพันให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อให้มีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอไว้ดำเนินการได้ต่อไป

4.3 ที่ประชุมชื่นชมการดำเนินงานของธนาคารโลกในการโต้ตอบกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก การสนับสนุนให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว การแก้ไขปัญหา Climate Change ตลอดจนการดำเนินการเพื่อไปสู่เป้าหมาย MDGs ทั้งนี้ จะต้องมีการเพิ่มทุนให้เพียงพอและการเร่งกระบวนการบริจาคในสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ International Development Association (IDA) เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกที่ยากจนต่อไป โดยมีมาตรการต่างๆ ของธนาคารโลกที่ได้ดำเนินการเพื่อนำไปสู่เป้าหมายข้างต้น ดังนี้

4.3.1 การแก้ไขปัญหาความยากจน โดยธนาคารโลกได้จัดตั้งกองทุนต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชากรโลก ได้แก่ 1) Vulnerability Financing Facility (VFF) 2) Global Food Crisis Response Program และ 3) Rapid Social Response Program รวมถึงการจัดตั้ง Microfinance Enhancement Facility ของ International Finance Corporation (IFC)

4.3.2 การสนับสนุนแหล่งเงินเพื่อการค้า (Trade Finance) IFC มีบทบาทสำคัญโดยการขยายโปรแกรมเงินกู้แก่ผู้ดำเนินธุรกิจต่างๆ จาก 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับระยะเวลา 3 ปี ข้างหน้า

4.3.3 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการสร้างงาน ธนาคารโลกได้จัดทำ Infrastructure Recovery and Assets Platform โดยมีแผนจะให้กู้วงเงิน 15 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี สำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนา และ IFC ได้จัดตั้ง Infrastructure Crisis Facility เพื่อให้กู้แก่ภาคเอกชนต่อไป

4.3.4 ภาคการเงิน IFC ได้จัดตั้งกองทุนชื่อว่า Capitalization Fund เพื่อสนับสนุนการเพิ่มทุนของสถาบันการเงินในประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้ง Multilateral Investment Guarantee Agency (MIGA) ได้ขยายการค้ำประกันเงินกู้ให้แก่ประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออกให้มีมูลค่าครอบคลุมถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

4.4 ที่ประชุมเรียกร้องให้ธนาคารโลกได้ใช้แหล่งเงินทุนที่ระดับสูงสุด หรือเท่ากับ 100 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในระยะ 3 ปี ข้างหน้า และในกรณีที่เห็นว่าจะมีการฟื้นตัวที่ช้าลงอีก ก็เห็นสมควรให้ธนาคารโลกพิจารณาความเหมาะสมในการใช้แหล่งเงินอื่นๆ เพิ่มเติม รวมทั้งการพิจารณาความเพียงพอของทุนในหน่วยงานภายใต้กลุ่มธนาคารโลก ประกอบด้วย International Bank for Reconstruction and Development (IBRD) IFC และ IDA และนำเสนอในที่ประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลก ในเดือนตุลาคม 2552 เพื่อพิจารณาต่อไป

4.5 การดำเนินการต่างๆ ข้างต้นเพื่อโต้ตอบวิกฤตเศรษฐกิจโลก นั้น ยังเชื่อมโยงกับการปฏิรูปอำนาจการออกเสียงและการมีส่วนร่วม (Voice and Participation Issue) ของประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาในธนาคารโลกด้วย เนื่องจากจะนำไปสู่การสร้างการบริหารจัดการที่ดี (Good Governance) ในธนาคารโลกต่อไป โดยขอให้ธนาคารโลกจัดทำข้อเสนอและขอบเขตในการจัดสรรหุ้นของประเทศสมาชิก ซึ่งเป็นระยะที่ 2 ของการปฏิรูปดังกล่าว และนำเสนอในที่ประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลก ในเดือนตุลาคม 2552 เพื่อพิจารณาต่อไป

4.6 การประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก ครั้งที่ 80 มีกำหนดจัดการประชุมในวันที่ 5 ตุลาคม 2552 ณ นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี

5. การประชุม Bali Brunch ในวันที่ 26 เมษายน 2552

ที่ประชุมได้มีการหารือถึงเรื่อง Climate Change Financing โดยธนาคารโลกได้รายงานความคืบหน้าของการดำเนินการจัดให้มีแหล่งเงินกู้เพื่อการแก้ไขปัญหา Climate Change โดยการจัดตั้งกองทุน Clean Technology Fund ที่จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบเงินกู้ดอกเบี้ยผ่อนปรนเพื่อจูงใจให้เกิดโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ส่งเสริมเทคโนโลยีในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งในภาคพลังงาน คมนาคม อุตสาหกรรม และการเกษตร ทั้งนี้ ประเทศที่สนใจสามารถแสดงความจำนงในการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวกับธนาคารโลก

6. การหารือทวิภาคีและสัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 24-26 เมษายน 2552

6.1 การหารือทวิภาคีกับธนาคารโลก

6.1.1 นาย Juan Jose Daboub ตำแหน่ง Managing Director East Asia and Pacific Region ของธนาคารโลก โดยได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจโลก และการดำเนินงานของธนาคารโลกในการให้ความช่วยเหลือกับประเทศสมาชิกต่างๆ ทั้งในด้านการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างงาน และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยรวม ในการนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวถึงวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออกที่ชะลอตัว และกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Sector) แต่ยังมั่นใจว่า ปัจจัยพื้นฐานที่ดีของประเทศไทยทั้งจากสถาบันการเงินที่มีความมั่นคง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ดีในช่วงที่ผ่านมา นโยบายและมาตรการของรัฐบาลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ กับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก ตลอดจนกล่าวขอบคุณการสนับสนุนเงินกู้ของรัฐบาลจากธนาคารโลกจำนวน 1.0 พันล้านเหรียญสหรัฐซึ่งได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากรัฐสภาของไทยแล้ว ซึ่งธนาคารโลกจะได้นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการธนาคารภายในเดือนกรกฎาคม 2552 เพื่อประเทศไทยจะได้นำไปใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป นอกจากนี้ ได้หารือในความเป็นไปได้ที่จะขอสนับสนุนเงินกู้ธนาคารโลกเพิ่มเติมในระยะ 3 ปี ข้างหน้า

6.1.2 Ms. Kathy Sierra ตำแหน่งรองประธานธนาคารโลก และผู้เชี่ยวชาญธนาคารโลกในประเด็นสำคัญ 3 ด้าน คือ (1) ระบบประกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ (Weather Index Insurance) เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านรายได้และลดภาระความเสี่ยงให้แก่เกษตรกรไทย (2) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPPs) และ (3) Clean Technology Fund (CTF) ซึ่งเป็นกองทุนสนับสนุนการลงทุนในโครงการที่ช่วยลดโลกร้อน ทั้งนี้ ยังได้หารือถึงการจัด Workshop ระหว่างธนาคารโลกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย เพื่อขยายความร่วมมือระหว่างกันในการสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยเพื่อเสริมสร้างความเข็มแข็งของเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป

6.2 การให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่าง ๆ ได้แก่ (1) Reuters (2) Bloomberg (3) Voice of America (4) BBC World และ (5) New York Times เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนในเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจและนโยบายของรัฐบาลไทยในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต

7. ความเห็นกระทรวงการคลัง

กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว เห็นควรพิจารณาความเหมาะสมและโอกาสในการร่วมมือกับธนาคารโลกผ่านกองทุนต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาในด้านต่างๆ ได้แก่ 1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ 2) การแก้ไขปัญหาความยากจน 3) การแก้ไขปัญหา Climate Change 4) การพัฒนาภาคการเงิน ทั้งในส่วนการเงินฐานราก และ SMEs 5) การจัดหาแหล่งเงินเพื่อการค้า ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย และเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาวต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มิถุนายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ