การดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับการคว่ำบาตรโซมาเลีย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 17, 2009 15:24 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบรับรองการดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับการคว่ำบาตรโซมาเลีย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติต่อไป โดยให้เป็นไปตามขอบเขตของกฎหมายภายในของไทย รวมทั้งแจ้งผลการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องให้กระทรวงการต่างประเทศทราบ เพื่อรายงานให้สหประชาชาติทราบต่อไป ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า

1. คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีมติข้อที่ 733 (ค.ศ. 1992) เกี่ยวกับการคว่ำบาตรโซมาเลียและข้อมติที่ 751 (ค.ศ. 1992) กำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรและตรวจสอบการละเมิดมาตรการดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยการคว่ำบาตรทางอาวุธ การห้ามเดินทางผ่านหรือเข้าไปในดินแดนและการอายัดทรัพย์สินของบุคคลและองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความขัดแย้ง ซึ่งต่อมาได้มีการรับรองข้อมติอื่น ๆ ที่สืบเนื่อง จากข้อมติดังกล่าว ได้แก่ ข้อมติที่ 1356 (ค.ศ. 2001) 1425 (ค.ศ. 2002) 1725 (ค.ศ. 2006) 1744 (ค.ศ. 2007) 1772 (ค.ศ. 2007) 1844 (ค.ศ. 2008) และ 1846 (ค.ศ. 2008) ตามลำดับ โดยมีผลบังคับใช้ไปจนกว่าคณะมนตรีความมั่นคงฯ จะมีมติเป็นอื่น ทั้งนี้ ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงฯ มีข้อมูลประกอบ ดังนี้

1.1 มาตรการคว่ำบาตรทางอาวุธ

1.1.1 มาตรการต่อประเทศโซมาเลียกำหนดให้รัฐสมาชิกสหประชาชาติดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันการจัดหาและขนย้ายอาวุธและยุทโธปกรณ์ทุกประเภทให้แก่โซมาเลีย โดยให้ยกเว้นการดำเนินมาตรการข้างต้นในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์สำหรับเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมและการพัฒนา และสื่อมวลชน รวมทั้งยกเว้นในการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ การฝึกอบรมและการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของภารกิจในโซมาเลียที่จัดตั้งโดยประเทศสมาชิกสหภาพแอฟริกา เพื่อสนับสนุนหน่วยงานของรัฐบาลและการพัฒนากระบวนการทางการเมืองภายในของโซมาเลีย และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของรัฐสมาชิกสหประชาชาติที่ให้ความช่วยเหลือแก่โซมาเลียในด้านการพัฒนาหน่วยงานด้านความมั่นคง ตลอดจนการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์และการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการด้านความมั่นคงทางทะเลและชายฝั่งแก่โซมาเลียและรัฐชายฝั่งใกล้เคียง เพื่อประโยชน์ในการปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นโดยอาวุธ ทั้งนี้ จะต้องแจ้งให้คณะกรรมการฯ ทราบล่วงหน้าเป็นรายกรณีไป

1.1.2 มาตรการต่อบุคคลและองค์กรกำหนดให้รัฐสมาชิกสหประชาชาติดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันการจัดหา จำหน่าย หรือโอนอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ การฝึกอบรม ความช่วยเหลือทางการเงินและอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการลงทุน การเป็นนายหน้าและการให้บริการอื่นๆ เกี่ยวกับการทหาร หรือการจัดหา จำหน่าย ขนย้าย ผลิต บำรุงรักษา และใช้อาวุธยุทโธปกรณ์แก่บุคคลและองค์กรตามที่คณะกรรมการฯ กำหนด ซึ่งได้แก่ บุคคลและองค์กรที่มีส่วนร่วมหรือให้การสนับสนุนการกระทำที่เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพของโซมาเลีย ละเมิดการคว่ำบาตรทางอาวุธ หรือขัดขวางการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่โซมาเลีย

1.2 การห้ามเดินทาง กำหนดให้รัฐสมาชิกดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลและองค์กรตามที่คณะกรรมการฯ ระบุ โดยใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาเช่นเดียวกับมาตรการคว่ำบาตรทางอาวุธในข้อ 1.1.2 เดินทาง เข้าหรือผ่านดินแดนของรัฐสมาชิก ยกเว้นในกรณีที่คณะกรรมการฯ เห็นว่าการเดินทางดังกล่าวเป็นไปเพื่อเหตุผลทางมนุษยธรรม ซึ่งรวมถึงความจำเป็นทางศาสนาหรือเพื่อช่วยสนับสนุนการสร้างสันติภาพ และความปรองดองแห่งชาติในโซมาเลียและสร้างเสถียรภาพในภูมิภาค โดยคณะกรรมการฯ จะพิจารณาเป็นรายกรณี

1.3 การอายัดทรัพย์สิน กำหนดให้รัฐสมาชิกดำเนินมาตรการเพื่ออายัดเงินทุนและสินทรัพย์ต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในการครอบครองหรือการควบคุมของบุคคลและองค์กรโดยใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาเช่นเดียวกับมาตรการคว่ำบาตรทางอาวุธในข้อ 1.1.2 ยกเว้นการอายัดเงินทุนหรือทรัพย์สินสำหรับค่าใช้จ่ายพื้นฐานและค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ค่าใช้จ่ายพิเศษ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการดำเนินคดีทางศาลยุติธรรม ซึ่งรัฐสมาชิกได้แจ้งและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ ในการขอยกเว้นดังกล่าวแล้ว

1.4 คณะมนตรีความมั่นคงฯ ขอความร่วมมือจากรัฐสมาชิกในการจัดส่งรายชื่อบุคคลและองค์กรที่มีลักษณะเข้าข่ายตามหลักเกณฑ์การพิจารณาในข้อ 1.1.2 รวมทั้งองค์กรอื่นๆ ที่อยู่ในการครอบครองหรือการควบคุม หรือดำเนินการแทนบุคคลและองค์กรดังกล่าว พร้อมทั้งจัดส่งหลักฐานและข้อมูลสนับสนุน เพื่อให้คณะกรรมการฯ พิจารณาและจัดทำบัญชีรายชื่อบุคคลและองค์กรที่อยู่ในข่ายการดำเนินมาตรการคว่ำบาตร

1.5 คณะมนตรีความมั่นคงฯ ขอให้รัฐสมาชิกให้ความร่วมมือในการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรตามข้อมติ และรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการฯ ทราบ

2. ไทยในฐานะรัฐสมาชิกของสหประชาชาติมีพันธกรณีจะต้องดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงฯ และโดยที่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับ เพื่อให้ปฏิบัติตามพันธกรณีตามข้อมติข้างต้นได้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยึดและอายัดทรัพย์สินทำให้ในบางกรณีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่อาจดำเนินมาตรการดังกล่าวได้ กระทรวงการต่างประเทศจึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบดังกล่าว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มิถุนายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ