นโยบายการขอคืนที่ดินราชพัสดุ 1 ล้านไร่ เพื่อนำมาให้เกษตรกรเช่าทำการเกษตร

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 29, 2009 13:19 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องนโยบายการขอคืนที่ดินราชพัสดุ 1 ล้านไร่ เพื่อนำมาให้เกษตรกรเช่าทำการเกษตร ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ แล้วมีมติเห็นชอบ ดังนี้

1. ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้กำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ มาตรการและเงื่อนไขตลอดจนกำกับดูแลในการนำที่ดินราชพัสดุ 1 ล้านไร่ มาจัดให้เกษตรกรเช่าทำการเกษตรตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายและระเบียบกำหนด โดยควรให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการเอง

2. แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการ เพื่อกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ มาตรการและเงื่อนไขในการดำเนินการในเรื่องต่างๆ เช่น มาตรการขอคืนที่ดินจากหน่วยงานราชการ การแบ่งโซนพืชอาหารและพลังงาน การกำหนด คุณสมบัติเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ รูปแบบและการบริหารจัดการอย่างครบวงจร เป็นต้น เพื่อนำที่ดินราชพัสดุมาจัดให้เช่าทำการเกษตรและเป็นแนวทางให้จังหวัดนำไปใช้ปฏิบัติ โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (กำกับดูแลงานกรมธนารักษ์) เป็นประธานกรรมการ

3. แต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด เพื่อนำที่ดินราชพัสดุมาจัดให้เช่าทำการเกษตรตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการอำนวยการกำหนด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการคลังรายงานว่า

1. สืบเนื่องจากประเทศกำลังประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอย เกิดปัญหาการว่างงาน ปัญหาวิกฤตเกี่ยวกับพืชอาหารและพลังงาน รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ จึงได้มีมติคณะรัฐมนตรี (22 เมษายน 2551) ซึ่งกระทรวงการคลังได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ขอความร่วมมือจากกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ สำรวจและส่งคืนที่ราชพัสดุ เพื่อนำมารองรับการดำเนินการ และมีนโยบายในการนำที่ดินราชพัสดุมาสนับสนุนการปลูกพืชอาหารและพืชทดแทน พลังงานเพื่อจัดสรรให้แก่ราษฎรที่เป็นเกษตรกรหรือผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพเกษตรกร ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการว่างงาน และต้องการกลับภูมิลำเนาเดิมเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีที่ดินทำกินและได้เช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อทำการเกษตรในราคาที่เหมาะสมตามนโยบายการขอคืนที่ราชพัสดุ 1 ล้านไร่ เพื่อนำมาสนับสนุนการปลูกพืชอาหารและพืชทดแทนพลังงาน ซึ่งคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2551 ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

2. ตั้งแต่ได้มีมติคณะรัฐมนตรี (24 กุมภาพันธ์ 2552) จังหวัดต่างๆ ได้ประสานหารือไปยังกรมธนารักษ์เกี่ยวกับการให้กระทรวงการคลังเป็นผู้กำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ มาตรการและเงื่อนไข ตลอดจนกำกับดูแลในการนำ ที่ดินราชพัสดุมาให้เกษตรกรเช่าทำการเกษตรและคณะรัฐมนตรีเห็นควรมอบหมายให้ สปก. รับไปดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎหมายด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า กระบวนการในการบริหารจัดการที่ราชพัสดุตามพระราชบัญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 และการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มีความแตกต่างในด้านวัตถุประสงค์ ขั้นตอนปฏิบัติ และวิธีการดำเนินการ เนื่องจากนโยบายการขอคืนที่ดินราชพัสดุ 1 ล้านไร่ จากส่วนราชการในส่วนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มพื้นที่และเป็นพื้นที่ที่สามารถทำเกษตรได้ เพื่อนำมาให้เกษตรกรเช่าทำการเกษตรปลูกพืชอาหารและพืชทดแทนพลังงาน เป็นการดำเนินการในลักษณะเช่นเดียวกับการนำที่ราชพัสดุที่เป็นที่ว่างมิได้ใช้ประโยชน์ในทางราชการ หรือที่มีผู้ถือครองทำประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ด้านการบริหารจัดการที่ดินของรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการภายใต้โครงการ “รัฐเอื้อราษฎร์” ที่ได้สนองนโยบายการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกินได้มีที่ดินทำกินอย่างมั่นคงและยั่งยืน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้ได้จัดให้ประชาชนอยู่อาศัยและทำกินในโครงการ ดังกล่าวประมาณ 46,227 ราย รวมเนื้อที่ประมาณ 119,195-1-31 ไร่ หากมอบหมายให้ สปก. ดำเนินการในโครงการ ดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อสถานะของที่ราชพัสดุตามกฎหมายในข้อ 4 จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จะมีผลทำให้ที่ราชพัสดุสิ้นสภาพไปโดยไม่ต้องดำเนินการถอนสภาพตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ และมีผลกระทบอย่างมากต่อการบริหารจัดการที่ราชพัสดุในโครงการดังกล่าว ตลอดจนที่ดินราชพัสดุแปลงที่ตั้งโครงการมีสภาพไม่เหมาะสมจะตราเป็น พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน ประกอบกับยังไม่มีความชัดเจนว่าคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและคณะกรรมการระดับจังหวัดตามที่กระทรวงการคลังเสนอหรือไม่ ดังนั้น จึงมีความเห็นดังนี้

2.1 ประเด็นการนำที่ดินราชพัสดุมาจัดให้เกษตรกรเช่าซึ่งคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้กระทรวงการคลังเป็นผู้กำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ มาตรการและเงื่อนไข ตลอดจนกำกับดูแลในการนำที่ดินราชพัสดุมาให้เกษตรกรเช่าทำการเกษตร และควรมอบหมายให้ สปก. รับไปดำเนินการนั้น หากจะนำที่ดินราชพัสดุที่ได้รับคืนจากส่วนราชการมาจัดให้เกษตรกรเช่าภายใต้กฎหมายการปฏิรูปที่ดิน ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 อาจจะมีปัญหาในทางปฏิบัติเกียวกับการดำเนินการ เนื่องจากสภาพที่ดินราชพัสดุโดยส่วนใหญ่จะมีผู้บุกรุกถือครองทำประโยชน์อยู่แล้ว และเป็นพื้นที่แปลงเล็กแปลงน้อยไม่เหมาะแก่การนำไปจัดรูปที่ดินตามวิธีดำเนินการของการปฏิรูปที่ดิน อีกทั้งจะเป็นการทำให้ที่ดินของรัฐประเภทที่ดินราชพัสดุเปลี่ยนสภาพเป็นที่ดินที่จะนำไปดำเนินการตามกฎหมายการปฏิรูปที่ดิน และได้มีการดำเนินโครงการตามนโยบายการขอคืนที่ดินราชพัสดุ 1 ล้านไร่ เพื่อนำมาให้เกษตรกรเช่าทำการเกษตร โดยกรมธนารักษ์ได้ดำเนินการจัดงานเปิดโครงการนำร่องและจัดกิจกรรมการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการปลูกพืชอาหารและพืชทดแทน พลังงานในที่ดินราชพัสดุ เนื้อที่ประมาณ 4,949 ไร่เศษ ของจังหวัดชัยภูมิ พิจิตร และนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552 และวันที่ 3 เมษายน 2552 ตามลำดับ โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์) เป็นประธานในการมอบสัญญาเช้าที่ดินราชพัสดุเพื่อประกอบการเกษตรให้แก่ผู้ได้รับสิทธิตามโครงการรวม จำนวน 332 ราย เนื้อที่ประมาณ 4,304 ไร่เศษ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี ตลอดจนมีการเผยแพร่นโยบายและกิจกรรมดังกล่าวผ่านสื่อมวลชนทุกประเภท และได้ประสานงานกับส่วนราชการกรณีที่ส่วนราชการ มีการปลูกพืชอาหารหรือพืชทดแทนพลังงานไว้แล้ว หรือมีโครงการจะปลูกพืชอาหารหรือพืชทดแทนพลังงานในที่ดินที่ครอบครองใช้ประโยชน์ โดยส่วนราชการไม่ต้องส่งคืนที่ดิน ในพื้นที่ จำนวน 3,700 ไร่ ด้วยแล้ว สำหรับที่ดินราชพัสดุแปลงอื่น ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินงานของจังหวัดเพื่อนำที่ดินดังกล่าวมารองรับการดำเนินการต่อไป ซึ่งกระทรวงการคลังถือว่าโครงการที่ดำเนินการได้สัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรมในระดับหนึ่งแล้ว และเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการจากความล่าช้า ที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประกอบกับในการบริหารจัดการที่ราชพัสดุที่ผ่านมาก็มิได้มีปัญหาในทางปฏิบัติ และได้มีการนำที่ราชพัสดุสนับสนุนตามนโยบายของรัฐบาลดังกล่าวมาข้างต้น

2.2 เนื่องจากในการดำเนินการมีความจำเป็นในการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและ คณะกรรมการระดับจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนการขอคืนที่ราชพัสดุ 1 ล้านไร่ โดยนำไปจัดให้เกษตรกรเช่าตามนโยบายของรัฐบาล ดังกล่าว ด้วยเหตุนี้จึงเห็นสมควรขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี (24 กุมภาพันธ์ 2552) เกี่ยวกับการให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการเอง และให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งคณะกรรมการ จำนวน 2 ชุด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กรกฎาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ