หลักเกณฑ์ วิธีดำเนินการโครงการประกันราคามันสำปะหลัง ปี 2552/53

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 13, 2009 16:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีดำเนินการโครงการประกันราคามันสำปะหลังปี 2552/53 ตามมติคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลังเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม และวันที่ 4 สิงหาคม 2552 รวมทั้งการหารือระหว่างประธานคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2552 และมติคณะอนุกรรมการกำหนดราคาตลาดอ้างอิงมันสำปะหลัง เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2552 และงบประมาณดำเนินการเบื้องต้น ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) ประธานกรรมการนโยบายมันสำปะหลังเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

มติคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลังเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม และวันที่ 4 สิงหาคม 2552 รวมทั้งการหารือระหว่างประธานคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2552 และมติคณะอนุกรรมการกำหนดราคาตลาดอ้างอิงมันสำปะหลัง เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2552 โดยมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้

1. เป้าหมาย พื้นที่ดำเนินการ จังหวัดที่เป็นแหล่งเพาะปลูกมันสำปะหลังปี 2552/53 ทั่วประเทศ ที่มีการดำเนินการจดทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปริมาณเป้าหมายตามปริมาณผลผลิตมันสำปะหลัง ปี 2552/53 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 29.7 ล้านตัน โดยให้เกษตรกรรายครัวเรือนใช้สิทธิ เพื่อขอรับเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาตลาดอ้างอิงได้ ตามฐานความคิดในการจ่ายเงินชดเชยในปริมาณที่ผลิตได้จริงแต่ไม่เกินครัวเรือนละ 100 ตัน และต้องเป็นผลผลิต ที่เกษตรกรแจ้งขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร

2. ราคาประกัน กำหนดราคาประกันหัวมันสำปะหลังสดเชื้อแป้ง 25% กก.ละ 1.70 บาท (ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พ.ค.52) โดยใช้เกณฑ์ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศ (กก.ละ 1.21 บาท) บวกค่าขนส่ง (กก.ละ 0.15 บาท) และผลตอบแทนให้เกษตรกรร้อยละ 25 (กก.ละ 0.34 บาท) โดยการซื้อ-ขาย ให้เป็นไปตามการค้าปกติ

3. การกำหนดราคาตลาดอ้างอิง คณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลังแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดราคาตลาดอ้างอิง โดยมีนายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) เป็นประธาน เพื่อพิจารณากำหนดราคาตลาดอ้างอิงในการคำนวณการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาระหว่างราคาประกันกับราคาตลาดอ้างอิงให้เกษตรกร โดยกำหนดราคาตลาดอ้างอิงเท่ากันทุกจังหวัดแหล่งผลิต และใช้เกณฑ์ในการคำนวณ ดังนี้

1) คำนวณจากราคาซื้อขายมันเส้น ณ โกดังผู้ส่งออกจังหวัดอยุธยาและชลบุรี เฉลี่ยย้อนหลัง 15 วัน หักทอนค่าขนส่งจากลานมันไปถึงโกดังผู้ส่งออกจังหวัดอยุธยาและชลบุรีเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักผลผลิตแต่ละจังหวัด (กก.ละ 0.42 บาท) หักค่าแปรสภาพมันเส้น (กก.ละ 0.30 บาท) จากนั้นคำนวณกลับจากมันเส้นเป็นหัวมันสดในอัตรามันเส้น : มันสด เท่ากับ 1: 2.38

2) คำนวณจากราคาขายส่งแป้งมัน ณ หน้าโกดังท่าเรือกรุงเทพฯ เฉลี่ยย้อนหลัง 15 วัน หักทอนค่าขนส่งจากโรงแป้งมันไปถึงโกดังท่าเรือกรุงเทพฯ เฉลี่ยถ่วงน้ำหนักผลผลิตแต่ละจังหวัด (กก.ละ 0.41 บาท) หักค่าแปรสภาพแป้งมัน (กก.ละ 2.55 บาท) จากนั้นคำนวณกลับจากแป้งมันเป็นหัวมันสด ในอัตราแป้งมัน : มันสด เท่ากับ 1: 4.4

3) พิจารณากำหนดราคาตลาดอ้างอิง เพื่อประกาศใช้อ้างอิงในการจ่ายเงินส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาตลาดอ้างอิงของ ธ.ก.ส. โดยหาค่าเฉลี่ยราคาตาม 1) กับ 2) และถ่วงน้ำหนักปริมาณการแปรรูปเป็นมันเส้นและแป้งมันสัดส่วน 2:1 ทั้งนี้ ราคาเฉลี่ยวันที่ 1-15 ของเดือน ใช้เป็นเกณฑ์ราคาตลาดอ้างอิงเพื่อจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาในระหว่างวันที่ 16-30 (หรือ 31) ของเดือนเดียวกัน และราคาวันที่ 16-30 (หรือ31) ใช้เป็นเกณฑ์ราคาตลาดอ้างอิงเพื่อจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาในระหว่างวันที่ 1-15 ของเดือนถัดไป

4. ระยะเวลาดำเนินการ 1) การขึ้นทะเบียนเกษตรกร เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2552 โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2) การทำสัญญาประกันราคากับเกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ เดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2552 โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้ทำสัญญาฯ 3) การใช้สิทธิประกันราคา ให้เกษตรกรใช้สิทธิได้หลังจากวันทำสัญญา 45 วัน แต่ไม่เกิน 6 เดือนนับถัดจากวันทำสัญญา และต้องไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม 2553

5. การประชาสัมพันธ์โครงการฯ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 - พฤษภาคม 2553 โดย ธ.ก.ส. และกรมส่งเสริมการเกษตรเกี่ยวกับ (1) นโยบายการประกันราคา (2) การขึ้นทะเบียนการปลูกมันสำปะหลังปี 2552/53 (ผู้ไม่ขึ้นทะเบียนจะไม่ได้รับการช่วยเหลือตามโครงการ) (3) การทำสัญญากับ ธ.ก.ส. (4) ราคาตลาดอ้างอิง และอื่นๆ

6. การประกาศราคาตลาดอ้างอิง คณะอนุกรรมการกำหนดราคาตลาดอ้างอิงมันสำปะหลัง โดยความเห็นชอบของประธานคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง เป็นผู้ประกาศราคาตลาดอ้างอิงที่กำหนดตามหลักเกณฑ์ ตามข้อ 1.3 โดยประกาศราคาทุก 15 วัน (ทุกวันที่ 1 และ 16 ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2552 เป็นต้นไป (ระยะเวลาดำเนินการเดือนกันยายน 2552 — มิถุนายน 2553) เพื่อใช้เป็นฐานคำนวณอัตราจ่ายชดเชยแก่เกษตรกรโครงการประกันราคาในช่วง 15 วันถัดไปเช่น ราคาตลาดอ้างอิงที่ประกาศวันที่ 16 เดือนกันยายน 2552 ให้ ธ.ก.ส. ใช้เป็นฐานคำนวณในการจ่ายชดเชยให้เกษตรกรที่มาใช้สิทธิประกันวันที่ 16 - 30 เดือนกันยายน 2552

7. ระยะเวลาโครงการ เดือนกรกฎาคม 2552 — กรกฎาคม 2553

8. เกษตรกรผู้มีสิทธิทำสัญญา เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2552/53 โดยให้มีการตรวจสอบปริมาณและรับรองความเป็นเกษตรกรอย่างถูกต้อง และมีหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนการปลูกมันสำปะหลัง (ทพศ. 2/3) ปี 2552/53 ที่ออกโดยกรมส่งเสริมการเกษตร และ เกษตรกรต้องทำสัญญาประกันราคากับ ธ.ก.ส. ในช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2552

9. การขอรับเงินชดเชยส่วนต่างราคา เกษตรกรรายครัวเรือนขอรับเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาตลาดอ้างอิง ตามปริมาณที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรและที่ทำสัญญาประกัน แต่ต้องไม่เกินครัวเรือนละ 100 ตัน จาก ธ.ก.ส. สาขาที่ทำสัญญาหลังจากวันทำสัญญา 45 วัน แต่ไม่เกิน 6 เดือน นับถัดจากวันทำสัญญาและต้องไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม 2553

10. การจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาให้เกษตรกร ธ.ก.ส. จ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาระหว่างราคาประกันและราคาตลาดอ้างอิงให้เกษตรกรภายใน 3 วันทำการนับถัดจากวันที่ ธ.ก.ส.ได้รับแจ้งการขอรับเงินจากเกษตรกรและเอกสารถูกต้องครบถ้วน

11. การกำกับดูแล

1) คณะอนุกรรมการด้านการตลาดมันสำปะหลัง เป็นผู้พิจารณาผ่อนผันหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีดำเนินโครงการฯ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม และนำเสนอประธานคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลังพิจารณาให้ความเห็นชอบ

2) จังหวัดแหล่งผลิตโดยคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัดดำเนินการ (1) ติดตาม กำกับดูแลการดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และป้องปรามเพื่อให้การค้าขายปกติเกิดความเป็นธรรม (2) รายงานภาวะราคาซื้อขายมันสำปะหลังในจังหวัดต่อคณะอนุกรรมการกำหนดราคาตลาดอ้างอิงเป็นประจำทุกวัน

3) กรมการค้าภายใน ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง เป็นหน่วยประสานแนวทางการปฏิบัติ การกำกับดูแลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและติดตามสุ่มตรวจเป็นครั้งคราว รวมทั้งรวบรวม ประมวลและรายงานผลการดำเนินการในภาพรวม

4) กรณีจำเป็นคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลังอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบจากส่วนกลาง เพื่อตรวจสอบการดำเนินโครงการฯ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ และประโยชน์ตกถึงเกษตรกร นอกเหนือจากการตรวจสอบและกำกับดูแลตามปกติของคณะกรรมการ เพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด

12. ข้อเสนองบประมาณในการดำเนินโครงการฯ

เพื่อใช้จ่ายชดเชยส่วนต่างราคาให้เกษตรกรปริมาณเป้าหมายหัวมันสำปะหลังสด 29.7 ล้านตัน และค่าใช้จ่ายดำเนินการฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง และคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1) เงินจ่ายชดเชยส่วนต่างราคาระหว่างราคาประกันกับราคาตลาดอ้างอิง วงเงิน เบื้องต้น 10,692 ล้านบาท โดยใช้ราคามันเส้นและแป้งมันในปัจจุบันคำนวณหาราคาตลาดอ้างอิงหัวมันสดได้ กก.ละ 1.34 บาท คิดเป็นเงินชดเชยส่วนต่างราคา กก.ละ 0.36 บาท (ราคาประกัน 1.70 บาท/กก. — ราคาตลาดอ้างอิง 1.34 บาท/กก.) และคิดเป็นวงเงินที่ใช้จ่ายชดเชยส่วนต่างราคาประมาณ 10,692 ล้านบาท (29.7 ล้านตัน x 0.36 บาท/กก.)

2) ค่าใช้จ่ายดำเนินการฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง และคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 10 ล้านบาท

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 สิงหาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ