หลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการโครงการประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2552/53

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 13, 2009 16:17 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการโครงการประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2552/53 ตามมติคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เมื่อวันที่ 4 และวันที่ 7 สิงหาคม 2552 และมติคณะอนุกรรมการกำหนดราคาตลาดอ้างอิงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2552 รวมทั้งงบประมาณดำเนินการเบื้องต้น ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) ประธานกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

มติคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2552 และวันที่ 7 สิงหาคม2552 ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) เป็นประธาน โดยมีผู้แทนธ.ก.ส. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ เข้าร่วมประชุม และมติคณะอนุกรรมการกำหนดราคาตลาดอ้างอิงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2552 โดยมีแนวทางหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการโครงการประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2552/53 ดังนี้

1. เป้าหมาย พื้นที่ดำเนินการ จังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2552/53 ทั่วประเทศที่มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2552/53 ปริมาณเป้าหมายตามปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2552/53 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 4.25 ล้านตัน (ข้าวโพดเมล็ด ความชื้น 14.5%) โดยให้เกษตรกรรายครัวเรือนใช้สิทธิเพื่อขอรับเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาตลาดอ้างอิงได้ตามฐานความคิดในการจ่ายเงินชดเชยในปริมาณที่ผลิตได้จริง แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ตัน

2. ราคาประกัน กำหนดราคาประกันข้าวโพดเมล็ดความชื้น 14.5% กก.ละ 7.10 บาท (ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 14 กรกฎาคม 2552) โดยใช้เกณฑ์ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศ (กก.ละ 5.43 บาท) บวกค่าขนส่ง (กก.ละ 0.25 บาท) และผลตอบแทนให้เกษตรกร ร้อยละ 25 (กก.ละ 1.42 บาท) โดยการซื้อขายให้เป็นไปตามการค้าปกติ

3. การกำหนดราคาอ้างอิง คณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดราคาตลาดอ้างอิงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยมีนายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) เป็นประธาน เป็นผู้กำหนดราคาตลาดอ้างอิงที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาระหว่างราคาประกันกับราคาตลาดอ้างอิงให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยกำหนดราคาตลาดอ้างอิงเท่ากันทุกจังหวัดแหล่งผลิต และใช้เกณฑ์ในการคำนวณ ดังนี้

เกณฑ์ที่กำหนด ใช้ราคาโรงงานอาหารสัตว์รับซื้อข้าวโพดฯ ส่งมอบ ณ กรุงเทพและปริมณฑล เฉลี่ยย้อนหลัง 15 วัน (วันที่ 1 -15 และวันที่ 16-30 ของเดือน) หักทอนค่าขนส่งจากจังหวัดแหล่งผลิตไปยังโรงงานอาหารสัตว์เฉลี่ยถ่วงน้ำหนักผลผลิตแต่ละจังหวัด(กก.ละ 0.47 บาท) และหักค่าปรับปรุงคุณภาพข้าวโพดให้ได้มาตรฐานคุณภาพที่โรงงานอาหารสัตว์ใช้(กก.ละ 0.15 บาท) เป็นราคารับซื้อ ณ แหล่งผลิต หรือราคาตลาดอ้างอิงข้าวโพดเมล็ด ความชื้น 14.5% และหากราคาตลาดอ้างอิงที่คำนวณจากฐานราคาโรงงานอาหารสัตว์รับซื้อ แตกต่างจากราคาตลาดอ้างอิง ที่คำนวนจากฐานราคาซื้อขายล่วงหน้าตลาดชิคาโก มากกว่าร้อยละ 5 ให้คณะอนุกรรมการกำหนดราคาตลาดอ้างอิงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พิจารณาทบทวนเกณฑ์ในการคำนวณใหม่

ทั้งนี้ เกณฑ์ราคาตลาดอ้างอิงที่คำนวณจากฐานราคาซื้อขายล่วงหน้าตลาดชิคาโก ใช้ราคาซื้อขายล่วงหน้าตลาดชิคาโกเฉลี่ยย้อนหลัง 15 วัน(ช่วงเวลาเดียวกันกับข้อมูลราคาอาหารสัตว์รับซื้อ) บวกค่าระวางเรือจากสหรัฐอเมริกาถึงท่าเรือกรุงเทพ (เฉลี่ยค่าระวางเรือในช่วงเดียวกัน ที่มา : US Grains Council) คูณด้วย อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยย้อนหลัง 15 วัน(ช่วงเวลาเดียวกันกับข้อมูลราคา) เป็นราคา F.O.B. กรุงเทพ บวก ค่าใช้จ่ายจากท่าเรือถึงโรงงาน(กก.ละ 0.15 บาท) เป็น ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ โรงงานอาหารสัตว์ เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หักทอนค่าขนส่งจากจังหวัดแหล่งผลิตมายังกรุงเทพ-ปริมณฑลเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักผลผลิตแต่ละจังหวัด (กก.ละ 0.47 บาท) และหัก ค่าปรับปรุงคุณภาพข้าวโพดให้ได้มาตรฐานคุณภาพที่โรงงานอาหารสัตว์ใช้(กก.ละ 0.15 บาท) เป็นราคารับซื้อ ณ แหล่งผลิต หรือราคาตลาดอ้างอิงข้าวโพดเมล็ด ความชื้น 14.5 %

4. ระยะเวลาดำเนินการ 1) การขึ้นทะเบียนเกษตรกร เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2552 โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2) การทำสัญญาประกันราคากับเกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ เดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2552 โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้ทำสัญญาฯ 3) การใช้สิทธิประกันราคา ให้เกษตรกรใช้สิทธิได้หลังจากวันทำสัญญา 15 วัน แต่ไม่เกิน 3 เดือนนับถัดจากวันทำสัญญา และต้องไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553

5. การประชาสัมพันธ์โครงการฯ เดือนกรกฎาคม 2552 — กุมภาพันธ์ 2553 โดย ธ.ก.ส. กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมการค้าภายใน เกี่ยวกับ (1) นโยบายการประกันราคา (2) การขึ้นทะเบียนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2552/53 (3) การทำสัญญากับ ธ.ก.ส. (4) ราคาตลาดอ้างอิง และอื่นๆ (ผู้ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนฯ จะไม่ได้รับการช่วยเหลือตามโครงการ)

6. การประกาศราคาตลาดอ้างอิง คณะอนุกรรมการกำหนดราคาตลาดอ้างอิงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยความเห็นชอบของประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นผู้ประกาศราคาตลาดอ้างอิงที่กำหนดตามหลักเกณฑ์ ตามข้อ 1.3 โดยประกาศราคาทุก 15 วัน (ทุกวันที่ 1 และ 16 ของแต่ละเดือนตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2552 เป็นต้นไป ระยะเวลาดำเนินการเดือน สิงหาคม 2552 ถึง มีนาคม 2553) เพื่อใช้เป็นฐานคำนวณอัตราจ่ายชดเชยแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการประกันราคาในช่วง 15 วันถัดไป เช่น ราคาตลาดอ้างอิงที่ประกาศวันที่ 16 เดือนสิงหาคม 2552 ให้ ธ.ก.ส. ใช้เป็นฐานคำนวณในการจ่ายชดเชยให้เกษตรกรที่มาขอใช้สิทธิประกันราคา ระหว่างวันที่ 16-31 เดือนสิงหาคม 2552

7. ระยะเวลาโครงการ กรกฎาคม 2552 — เมษายน 2553

8. เกษตรกรผู้มีสิทธิทำสัญญา เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริม-การเกษตรและผลผลิตยังเป็นกรรมสิทธิ์ของเกษตรกรในปริมาณข้าวโพดเมล็ดที่ผลิตได้จริง โดยมีหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ทพศ.3/3) ปี 2552/53 ที่ออกโดยกรมส่งเสริมการเกษตร มาทำสัญญาประกันราคากับ ธ.ก.ส.

9. การขอรับเงินชดเชยส่วนต่างราคา เกษตรกรรายครัวเรือนที่ทำสัญญาขอรับเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาตลาดอ้างอิงตามปริมาณที่ทำสัญญาประกันราคากับ ธ.ก.ส. ทั้งนี้ ต้องไม่เกินครัวเรือนละ 20 ตันและตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา และธ.ก.ส. จ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาระหว่าง ราคาประกันและราคาตลาดอ้างอิงให้แก่เกษตรกรภายใน 3 วันทำการ

10. การกำกับดูแล

1) คณะอนุกรรมการด้านการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นผู้พิจารณาผ่อนผันหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีดำเนินโครงการฯ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสมและนำเสนอประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พิจารณาให้ความเห็นชอบ

2) จังหวัดแหล่งผลิต โดยคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด ดำเนินการ (1) ติดตาม กำกับดูแลการดำเนินงานภายในจังหวัดให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและป้องปรามมิให้มีการทุจริตอย่างเคร่งครัด (2) รายงานภาวะราคาซื้อขายข้าวโพดภายในจังหวัดต่อคณะอนุกรรมการกำหนดราคาตลาดอ้างอิงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นประจำทุกวัน

3) กรมการค้าภายใน ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นหน่วยประสานแนวทางการปฏิบัติ การกำกับดูแลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และติดตามสุ่มตรวจเป็นครั้งคราว รวมทั้งรวบรวม ประมวลและรายงานผลการดำเนินการในภาพรวม

4) กรณีจำเป็น คณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบจากส่วนกลางเพื่อตรวจสอบการดำเนินโครงการฯ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการและประโยชน์ตกถึงเกษตรกร นอกเหนือจากการตรวจสอบและกำกับดูแลตามปกติของคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด

11. ข้อเสนองบประมาณในการดำเนินโครงการฯ

1) วงเงินสำหรับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นค่าใช้จ่ายในการจ่ายชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาตลาดอ้างอิงให้เกษตรกรเป็นเงิน 7,055 ล้านบาท (คำนวณจากผลผลิตข้าวโพด ปี 2552/53 4.250 ล้านตัน ชดเชยตันละ 1,660 บาท) ทั้งนี้ ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์โครงการฯ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของ ธ.ก.ส.

2) วงเงินสำหรับกรมการค้าภายใน ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดประชุม กำกับดูแล ติดตาม สุ่มตรวจสอบโครงการฯ และอื่นๆ วงเงิน 6.00 ล้านบาท

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 สิงหาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ