สถาบันการเงินชุมชนในระบบอิสลาม (Islamic micro credit)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 26, 2009 13:55 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบสนับสนุนสถาบันการเงินชุมชนในระบบอิสลาม (Islamic micro credit) ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยกำหนดเป็นนโยบายรัฐบาลให้ส่วนราชการ องค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้องสนับสนุนสถาบันการเงินระดับชุมชน (จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล) และกลุ่มธรรมชาติทางการเงินระดับชุมชน (ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล) ในระบบอิสลาม ทั้งด้านความรู้ การบริหารจัดการและงบประมาณ เพื่อดำเนินการตามมาตรการ ดังนี้

1. ส่งเสริมให้มีความรู้ธุรกรรมทางการเงินและการจัดสวัสดิการในระบบอิสลามทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ รวมถึงความรู้ด้านจัดการกลุ่ม ระบบบัญชีให้กับราษฎรและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นพี่เลี้ยง เช่น พัฒนากร และเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่น

2. สร้างความเข้าใจกับสังคมผ่านสื่อต่างๆ ว่า สถาบันและกลุ่มธรรมชาติทางการเงินระดับชุมชนในระบบอิสลาม เป็นที่รวมของทุกคนในชุมชนราษฎรทุกศาสนิกชนในชุมชนได้ใช้และและรับประโยชน์ทั้งสวัสดิการทางเศรษฐกิจและทางสังคม

3. การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือไม่ให้ขึ้นอยู่กับบริบทของชุมชนและความพร้อมของสถาบันและ กลุ่มธรรมชาติทางการเงินระดับชุมชนในระบบอิสลาม เพื่อเชื่อมโยงและต่อยอดกับสถาบันการเงินอิสลามประเภทต่างๆ เช่น สหกรณ์อิสลาม ธนาคารอิสลาม เป็นต้น

4. สนับสนุนสถาบันและกลุ่มธรรมชาติทางการเงินระดับชุมชนในระบบอิสลามที่มีศักยภาพในชุมชนให้เป็นตัวอย่างนำร่องเผยแพร่ความรู้และขยายเป็นเครือข่ายในทุกพื้นที่

5. กำหนดให้มีตัวชี้วัดความสำเร็จของผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินชุมชน 3 ประการ คือ

5.1 มีสมาชิกเพิ่มขึ้น (สมาชิกเข้ามากกว่าสมาชิกออก)

5.2 สมาชิกต้องการเพิ่มทุน หรือเพิ่มหุ้น

5.3 มีการจัดสวัสดิการให้สมาชิกตั้งแต่เกิดถึงตายรวมถึงการจัดสวัสดิการภายในชุมชนด้านการศึกษา สาธารณกุศล สาธารณประโยชน์และสิ่งแวดล้อมเพราะเป็นเป้าหมายสำคัญของสถาบันการเงินชุมชน

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงมหาดไทยรายงานว่า

1. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้มีคำสั่งที่ 179/2551 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2551 และคำสั่งที่ 1/2552 ลงวันที่ 7 มกราคม 2552 แต่งตั้งคณะทำงานศึกษารูปแบบและวิธีการดำเนินงาน (Model) สถาบันการเงินชุมชนในระบบอิสลาม เพื่อให้ชุมชนต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ได้มีสถาบันการเงินในระดับชุมชนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ คำสอนตามหลักการศาสนา และดำเนินชีวิตตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

2. คณะทำงานฯ ได้ประชุมปรึกษา ประชุมเชิงปฏิบัติการและจัดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ได้ข้อสรุป ดังนี้

2.1 ผู้นำกลุ่มรวมถึงชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องธุรกรรมและเครื่องมือทางการเงินในระบบอิสลาม

2.2 ชาวบ้านรอคอยที่จะให้มีสถาบันการเงินในระบบอิสลามเกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งบางกลุ่มดำเนินงานได้ดี และบางกลุ่มยังขาดทิศทางในการดำเนินการและต้องการความรู้และคำแนะนำเรื่องธุรกรรมและการใช้เครื่องมือทางการเงิน

2.3 พัฒนากรผู้เข้าร่วมประชุมปฏิบัติการและเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้ตั้งประเด็นและให้ข้อเสนอแนะว่าควรอบรม พัฒนาเจ้าหน้าที่รัฐให้มีความรู้ในเรื่องดังกล่าว เพื่อจะได้นำไปแนะนำราษฎรในพื้นที่

2.4 เกิดสถาบันการเงินชุมชนและกลุ่มธรรมชาติการเงินของชุมชนในระบบอิสลาม ตามความต้องการของราษฎร ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ คำสอนตามหลักการศาสนา และไม่มีข้อขัดแย้งกับศาสนิกอื่น ราษฎรทุกศาสนิกและทุกระดับในชุมชนได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้รับสวัสดิการ และดำเนินชีวิตตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

2.5 สถาบันและกลุ่มธรรมชาติทางการเงินของชุมชนในระบบอิสลามเป็นการจัดสวัสดิการให้สมาชิกในชุมชนตั้งแต่เกิดถึงตายรวมถึงการจัดสวัสดิการภายในชุมชนด้านการศึกษา สาธารณกุศล สาธารณประโยชน์ และสิ่งแวดล้อม

3. คณะทำงานฯ ได้นำข้อสรุปตามข้อ 2 เสนอที่ประชุมสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 5/2552 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2552 แล้ว ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบรูปแบบสถาบันการเงินชุมชนในระบบอิสลาม โดยเห็นควรให้ ศอ.บต. ดำเนินการจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลเพื่อให้เกิดผลในการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม

4. กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วเห็นว่า สถาบันการเงินชุมชนในระบบอิสลาม (Islamic micro credit) เป็นความต้องการและการรอคอยของราษฎรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ คำสอนตามหลักการศาสนา และไม่มีข้อขัดแย้งกับศาสนิกอื่น ราษฎรทุกศาสนิกและทุกระดับในชุมชนได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ได้รับสวัสดิการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสถาบันการเงินชุมชนในระบบอิสลาม เป็นการจัดสวัสดิการให้สมาชิกในชุมชนตั้งแต่เกิดถึงตาย รวมถึงการจัดสวัสดิการภายในชุมชนด้านการศึกษา สาธารณกุศล สาธารณประโยชน์ และสิ่งแวดล้อม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 สิงหาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ