แผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2552 — 2556)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 23, 2009 14:24 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2552 — 2556) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ตามแผนแม่บท ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

สาระสำคัญของเรื่อง

1. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรายงานว่า

1.1 สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2533 ที่เห็นชอบแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อวางแผนการอนุรักษ์ธรรมชาติทั้งระยะสั้นและระยะยาว ให้มีประสิทธิภาพ มีวิธีการ รูปแบบการอนุรักษ์ และมาตรการในการอนุรักษ์ธรรมชาติแต่ละประเภทยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร มีผลทำให้พื้นที่แหล่งธรรมชาติหลายแห่งถูกทำลายและสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมจนไม่อาจฟื้นฟูกลับสู่สภาพเดิมได้

1.2 เนื่องจากมีการปฏิรูประบบบริหารราชการตามพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ทส. โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้ปรับปรุงแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2552 — 2556) เพื่อเป็นฐานข้อมูลของแหล่งธรรมชาติ เสนอแนะเพิ่มเติมในส่วนที่บกพร่องให้เหมาะสมต่อเหตุการณ์ในปัจจุบัน และเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานสำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมธรรมชาติได้นำไปใช้ในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่

2. คณะอนุกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติเห็นชอบแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2552 — 2556) เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2549 และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีติเห็นชอบแผนแม่บทฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2552

3. แผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2552 — 2556)

3.1 วัตถุประสงค์

(1) ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ที่เสื่อมโทรมและมีแนวโน้มจะนำไปสู่ปัญหาวิกฤติให้กลับฟื้นฟูความสมบูรณ์เพื่อเป็นฐานทรัพยากรในการพัฒนาประเทศ

(2) พัฒนาการนำสิ่งแวดล้อมธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ซึ่งเป็นทุนทางสังคมไปใช้อย่างชาญฉลาดเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างยั่งยืน โดยสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศ

(3) เกิดการบริหารจัดการแบบบูรณาการเชิงรุก มีแผนแม่บทครอบคลุมสิ่งแวดล้อมธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายทั้งระบบ

(4) เพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรของรัฐ และเพิ่มภูมิปัญญาของสังคมทุกระดับให้สามารถบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ได้อย่างสัมฤทธิ์ผล

3.2 เป้าหมาย

เพื่อใช้เป็นกรอบการจัดทำแผนและแผนปฏิบัติการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ของประเทศ ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน

3.3 กลยุทธ์และมาตรการในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

การดำเนินการเพื่อให้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติอันควรอนุรักษ์บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ ได้กำหนดกลยุทธ์และมาตรการ ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ 19 มาตรการ ได้แก่

กลยุทธ์ที่ 1 สงวนและอนุรักษ์การใช้ประโยชน์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติอันควรอนุรักษ์โดยประชาชนมีส่วนร่วม

  • มาตรการที่ 1 ประเมินสถานภาพของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติแต่ละแหล่งเพื่อจัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนที่จะได้รับการจัดการอนุรักษ์
  • มาตรการที่ 2 กำหนดขอบเขตพื้นที่สงวนและอนุรักษ์การใช้ประโยชน์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยประชาชนมีส่วนร่วม
  • มาตรการที่ 3 กำหนดแผนการอนุรักษ์ และแผนการจัดการที่เหมาะสม เพื่อลดความขัดแย้งเพิ่มความร่วมมือของประชาชน
  • มาตรการที่ 4 สร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติอันควรอนุรักษ์

กลยุทธ์ที่ 2 กำกับ ดูแล ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมธรรมชาติอันควรอนุรักษ์

  • มาตรการที่ 5 ขึ้นทะเบียนสิ่งแวดล้อมธรรมชาติอันควรอนุรักษ์เพื่อควบคุม ป้องกัน ฟื้นฟู และแก้ไขการทำลายสิ่งแวดล้อมธรรมชาติอันควรอนุรักษ์
  • มาตรการที่ 6 ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมกิจกรรมเชิงบวก เพื่อให้ประชาชนและองค์กรท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบำรุงรักษา คุ้มครอง ฟื้นฟู เฝ้าระวัง และติดตามตรวจสอบสิ่งแวดล้อมธรรมชาติอันควรอนุรักษ์
  • มาตรการที่ 7 พัฒนาความรู้ ประชาสัมพันธ์ และเพิ่มภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์สิ่งแวดล้อมอันควรอนุรักษ์
  • มาตรการที่ 8 กำหนดแผนงาน ปรับปรุงกฎหมาย และกำหนดหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบดูแลแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ให้เหมาะสม
  • มาตรการที่ 9 กำหนดและใช้มาตรการจูงใจทางสังคมและเศรษฐศาสตร์ในการสงวน อนุรักษ์ เฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกัน แก้ไขและพื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมธรรมชาติอันควรอนุรักษ์

กลยุทธ์ที่ 3 บริหารจัดการแบบบูรณาการเชิงรุก

  • มาตรการที่ 10 บริหารจัดการเชิงพื้นที่โดยเน้นการมีส่วนร่วมพร้อมทั้งจัดหาบุคลากรที่เชี่ยวชาญให้คำแนะนำในกรณีที่จำเป็นในการแก้ไขปัญหาทางด้านวิชาการ
  • มาตรการที่ 11 เสริมสร้างและพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรและองค์กรเพื่อเป็นแกนนำในการดำเนินงานอนุรักษ์
  • มาตรการที่ 12 ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยและพัฒนาแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ รวมทั้งใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการให้บริการประชาชน
  • มาตรการที่ 13 สร้างกลไกและติดตามการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ และประเมินผลการดำเนินงาน โดยมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน
  • มาตรการที่ 14 สำรวจ ศึกษา ประเมินคุณค่าและจัดทำฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อมธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ทั่วประเทศโดยรวบรวมข้อมูล ขนาดที่ตั้งและสภาพภูมิศาสตร์
  • มาตรการที่ 15 ศึกษาแนวทางเพื่อสนับสนุนและจัดอบรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่ที่มีศักยภาพเพียงพอ
  • มาตรการที่ 16 ประเมินผลการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติเป็นประจำทุกปี จัดให้มีการประชุมเป็นระยะเพื่อปรับแผนให้เหมาะสมกับสถานการณ์และให้บรรลุเป้าหมาย
  • มาตรการที่ 17 เสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาขีดความสามารถของชุมชนให้สามารถดำเนินการอนุรักษ์หรือบริหารการจัดการอย่างยั่งยืน
  • มาตรการที่ 18 จัดการบริหารการจัดการให้สอดคล้องกันทั้งระดับชาติ ระดับภูมิภาค ระดับจังหวัดลงไปถึงระดับชุมชนให้โอกาสองค์กรทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์
  • มาตรการที่ 19 เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน องค์กร ชุมชน องค์กรท้องถิ่นและองค์กรเอกชนสร้างเครือข่ายองค์กรในพื้นที่ไว้คอยดูแลสิ่งแวดล้อมแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์

3.4 หน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ

(1) หน่วยงานหลักประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเร่งรัด กำกับ ควบคุม ติดตามการดำเนินงานตามกลยุทธ์และมาตรการสู่การปฏิบัติ ได้แก่ ทส. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงกลาโหม

(2) หน่วยงานหลักสนับสนุนด้านงบประมาณ เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

(3) ผู้รับผิดชอบดำเนินการตามกลยุทธ์และมาตรการภายใต้แผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2552-2556) ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงกลาโหม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เป็นหน่วยงานอิสระ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 กันยายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ