ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศ และดัชนีภาวะธุรกิจส่งออกเดือนสิงหาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 7, 2009 15:49 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์ รายงานดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศ และดัชนีภาวะธุรกิจส่งออกเดือนสิงหาคม 2552 สรุปดังนี้

ดัชนีราคาส่งออก

1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนสิงหาคม 2552 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 2.1 เป็นผลจากการสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า

หมวดสินค้าเกษตรกรรม ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 6.3 (เดือนกรกฎาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.3) เป็นการสูงขึ้นของสินค้ากสิกรรม ร้อยละ 7.3 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผักและผลไม้สดแช่แข็งและแห้ง สำหรับยางพาราราคาสูงขึ้นมาก เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นทั้งจีนและญี่ปุ่น

หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 3.2 (เดือนกรกฎาคม 2552 ลดลงร้อยละ 1.5) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ น้ำตาลทรายและกากน้ำตาล ตามราคาตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณผลผลิตน้ำตาลในหลายประเทศลดลงจากภัยธรรมชาติ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผักกระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป มีราคาสูงขึ้น เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 0.6 (เดือนกรกฎาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.1) สินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ สิ่งทอ เครื่องอิเลคทรอนิกส์ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 7.7 (เดือนกรกฎาคม 2552 ลดลงร้อยละ 2.2) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูปสูงขึ้นตามตลาดโลก

2. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนสิงหาคม 2552 เทียบกับเดือนสิงหาคม 2551 ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 2.1 เป็นการลดลงของหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 21.3 หมวดสินค้าเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 15.2 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ลดลงร้อยละ 3.1 และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.9

3. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเฉลี่ยระยะ 8 เดือน (มกราคม-สิงหาคม) ของปี 2552 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 2.1 จากการลดลงของหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ร้อยละ 31.1 หมวด สินค้าเกษตรกรรม ร้อยละ 14.5 และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ร้อยละ 3.9 ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.9

ดัชนีราคานำเข้า

1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนสิงหาคม 2552 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 2.1 (เดือนกรกฎาคม 2552 ลดลงร้อยละ 0.3) สาเหตุสำคัญจากการสูงขึ้นของหมวดสินค้าเชื้อเพลิง

หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 7.7 (เดือนกรกฎาคม 2552 ลดลงร้อยละ 3.4) ทั้งนี้ เป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากความต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว

หมวดสินค้าทุน ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 0.3 (เดือนกรกฎาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.4) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ

หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 0.4 (เดือนกรกฎาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 1.1) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ทองแดงและผลิตภัณฑ์ ปลาทูน่า ปลาหมึกและปูสดแช่เย็นแช่แข็ง พืชและผลิตภัณฑ์ จากพืช (ยางสังเคราะห์ โกโก้ สารหอมระเหย) ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเพชร

หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.1 (เดือนกรกฎาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.5) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด

หมวดสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.1 (เดือนกรกฎาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.8) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนสิงหาคม 2552 เทียบกับเดือนสิงหาคม 2551 ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 4.2 สาเหตุสำคัญจากการลดลงในหมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงมากถึง ร้อยละ 20.8 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 3.4 หมวดสินค้าทุน ลดลงร้อยละ 2.1

หมวดสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 1.9 สำหรับหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 0.2

2. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเฉลี่ยระยะ 8 เดือน (มกราคม-สิงหาคม) ของปี 2552 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 5.9 สาเหตุหลักคือการลดลงของหมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 28.1 สำหรับหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์ยานยนต์ ลดลงร้อยละ 3.4 หมวดสินค้าทุน ลดลงร้อยละ 2.7 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 1.3 สำหรับหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ดัชนีราคานำเข้าไม่เปลี่ยนแปลง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 ตุลาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ