ผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 13/2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 7, 2009 16:00 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) ครั้งที่ 13/2552 และเห็นชอบมติคณะกรรมการ รศก. ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการ รศก. เสนอ ดังนี้

1. การฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกขั้นตอนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 67 กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 67 ทั้งในส่วนของกระทรวงทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สรุปความคืบหน้า และมติคณะกรรมการฯ ได้ดังนี้

ความคืบหน้า

1.1 ตั้งแต่ปี 2550 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการ/โครงการให้กับผู้ประกอบการแล้วจำนวน 12 ราย ประกอบด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม 6 ราย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจำนวน 6 ราย และอยู่ระหว่างพิจารณาของหน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 9 ราย ประกอบด้วยกรมโรงงานอุตสาหกรรม 7 ราย และการนิคมอุตสาหกรรมฯ 2 ราย

1.2 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2552 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงนามในประกาศอุตสาหกรรม เรื่อง โครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง จำนวน 8 กิจการ ได้แก่ (1) กิจการการทำเหมืองใต้ดิน (2) กิจการเหมืองแร่ตะกั่วและสังกะสี (3) กิจการถลุงแร่ ด้วยสารละลายและเคมีในชั้นดินทุกขนาด และอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กขั้นต้นที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 2 หมื่นตันต่อวันขึ้นไป (4) อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้นหรือขั้นกลางที่มีการใช้หรือผลิตสารอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น สารที่ก่อให้เกิดมลสารทางอากาศที่เป็นอันตรายและสารที่มีพิษรุนแรง (5) นิคมอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือโครงการที่มีลักษณะเช่นเดียวกับนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจัดตั้งเพื่อรองรับอุตสาหกรรมผลิตเหล็กขั้นต้นหรืออุตสาหกรรม ปิโตรเคมีขั้นต้นหรือขั้นกลาง (6) โรงงานฝังกลบของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมหรือเตาเผาที่จัดสร้างเพื่อกำจัดของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม (7) โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ยกเว้นก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติสังเคราะห์ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป และ (8) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์

1.3 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ อยู่ระหว่างจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเพื่อเตรียมเสนอคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ในการประชุมครั้งที่ 5/2552 วันที่ 16 ตุลาคม 2552 (ร่างหลักเกณฑ์ฯ ได้ผ่านการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาแล้วทั้งหมด 5 เวที และจะจัดเวทีรับฟังความเห็นครั้งสุดท้ายในวันที่ 8 ตุลาคม 2552)

1.4 วันที่ 29 กันยายน 2552 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ระงับการดำเนินโครงการของผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตแล้วในพื้นที่ชุมชนมาบตาพุด จังหวัดระยอง จำนวน 76 โครงการไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือศาลมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ยกเว้นโครงการหรือกิจกรรมที่ได้รับใบอนุญาตก่อนวันประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญฯ และโครงการหรือกิจกรรมที่ไม่ได้กำหนดให้เป็นประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2552 ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ

มติคณะกรรมการ รศก.

1. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 67 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

2. มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลักในการอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางโดยเร็ว และหารือข้อกฎหมายและแนวทางดำเนินการกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานอัยการสูงสุดต่อไป โดยในระหว่างการอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการออกใบอนุญาตใหม่จนกว่าจะมีผลการตัดสินของศาลปกครองกลาง และประสานโดยด่วนกับศาลปกครองกลาง เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางและวิธีปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งศาลต่อไป

3. มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมตรวจสอบโครงการของผู้ประกอบการทั้งหมดที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว และประเมินผลกระทบจากคำพิพากษาของศาลปกครองกลางแล้วนำเสนอคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจต่อไป

2. ขอทบทวนภารกิจของคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้และแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมนิเวศน์ สศช. ได้เสนอเรื่อง ขอทบทวนภารกิจของคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้และแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมนิเวศน์ สรุปสาระสำคัญและมติคณะกรรมการฯ ได้ดังนี้

สาระสำคัญ

2.1 วันที่ 25 สิงหาคม 2552 คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบและเห็นชอบกับมติคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ในหลักการของข้อเสนอการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมนิเวศน์ (Eco-Industrial Town)และมอบหมายให้ สศช. พิจารณาทบทวนภารกิจของคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โดยผนวกรวมข้อเสนอของภาคเอกชนเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมและชุมชนอย่างยั่งยืน ให้ครอบคลุมมิติการพัฒนาอุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม และชุมชน โดยอาจปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ และเปลี่ยนชื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่กำหนดขึ้นใหม่

2.2 กรอบแนวคิด การพัฒนาเขตพื้นที่หรือเขตอุตสาหกรรมนิเวศน์ โดยยึดหลักการ 3 หลักการ ได้แก่ (1) การพัฒนาเขตอุตสาหกรรมนิเวศน์เชิงบูรณาการ ระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของชุมชน (2) การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและชุมชน และ (3) การใช้หลักการผู้ปล่อยมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluters’ Pay Principle)

2.3 เป้าหมาย พัฒนาเขตพื้นที่หรือเมืองที่กำหนดให้เป็นเมืองนิเวศน์ที่ดีเลิศของภูมิภาคเอเชียเพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และภาคการผลิตสามารถอยู่ร่วมกับประชาชนและชุมชนได้อย่างยั่งยืน

2.4 มาตรการของรัฐ

(1) ทบทวนและปรับปรุง กฎ ระเบียบ เพื่อยกระดับมาตรฐานสิ่งแวดล้อม โดยการกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจภาคการผลิตและบริการ ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย และมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวทาง Clean & Green

(2) การให้บริการของรัฐในลักษณะที่เป็น One Stop One Start Service ที่ได้มาตรฐานสากล อาทิ การให้บริการข้อมูลพื้นฐานและข้อมูลนิคมอุตสาหกรรม และการอนุญาตใช้ที่ดินและประกอบกิจการ เป็นต้น

(3) จัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีคุณภาพ และมีราคาที่เป็นธรรม เพื่อความรวดเร็วในการประกอบการ และคำนึงถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

(4) จัดให้มีกลไกและเครื่องมือ ที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมนิเวศน์ที่สำคัญคือ

(1) ปรับเปลี่ยนองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่จากคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ เป็นคณะกรรมการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมนิเวศน์ เพื่อกำกับดูแลทางด้านนโยบายและแผน

(2) จัดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมนิเวศน์ในแต่ละพื้นที่/เมืองเพื่อบริหารและกำกับดูแลพื้นที่เฉพาะที่กำหนดเป็นเขตอุตสาหกรรมนิเวศน์ และ

(3) ใช้มาตรการด้านราคาสินค้าและบริการที่สะท้อนถึงต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

2.5 โครงการนำร่อง กำหนดให้มีโครงการนำร่องขึ้นในจังหวัดสมุทรสาคร พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ และพื้นที่อื่น ๆ เป็นต้น

2.6 ข้อเสนอการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมนิเวศน์ เห็นสมควรให้ยกเลิกคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ และให้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมนิเวศน์แทน โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ดังนี้

(1) องค์ประกอบ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ) และรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ได้รับมอบหมายเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

(2) อำนาจหน้าที่ ประกอบด้วย 1) พิจารณาและกำหนดนโยบาย แผนงาน โครงการและมาตรการในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคการผลิตเชิงนิเวศน์ และชุมชนอย่างยั่งยืน รวมทั้งประสาน การบริหาร กำกับดูแลการพัฒนาภาคผลิตเชิงนิเวศน์ ให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืนในภาพรวมทั้งระบบ 2) กำกับดูแลและเร่งรัดการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาภาคการผลิตเชิงนิเวศน์ และชุมชนยั่งยืน ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และการพัฒนากิจกรรมต่างๆ ให้มีความสมดุล และสามารถอยู่ร่วมกันกับชุมชนในทุกพื้นที่อย่างยั่งยืน 3) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือหรือปฏิบัติงานตามความเหมาะสม และ 4) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย

มติคณะกรรมการ รศก.

1. มอบหมาย สศช. ทบทวนภารกิจและองค์ประกอบของคณะกรรมการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมนิเวศน์ และนำเสนอคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจพิจารณาต่อไป

2. มอบหมาย สศช. ดำเนินการศึกษาทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ เชื่อมโยงกับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ และนำเสนอคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจภายใน 3 เดือน โดยให้นำเสนอกรอบการศึกษาให้คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจพิจารณาภายใน 1 เดือน

3. กรอบการศึกษาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง และแนวทางการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานดอนเมือง สศช. ได้เสนอเรื่อง กรอบการศึกษาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง และแนวทางการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานดอนเมือง สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

สาระสำคัญ

3.1 แนวคิดการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยในช่วงการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นการดำเนินการตามแนวคิดระบบ 2 ท่าอากาศยาน โดยให้มีขีดความสามารถในรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปี และการดำเนินโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 1 (ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงการเปิดบริการวันที่ 28 กันยายน 2549 ) เป็นการดำเนินงานภายใต้แนวคิดระบบท่าอากาศยานเดียว โดยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเป็น 45 ล้านคน/ปี

3.2 การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประกอบด้วย (1) General Engineering Consultant (GEC) เพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิภายใต้แนวคิดระบบ 2 ท่าอากาศยาน (2) Japan International Cooperation Agency(JICA) เป็นการศึกษาเพื่อการพัฒนาขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้สอดคล้องกับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นภายใต้แนวคิดระบบท่าอากาศยานเดียวตามนโยบายขณะนั้น แต่มีข้อเสนอให้ใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นท่าอากาศยานสำรอง (3) International Civil Aviation Organization (ICAO) ซึ่งเป็นการศึกษาล่าสุด (ปี 2552) โดยปรับปรุงแผนแม่บทเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรณภูมิในอนาคต ภายใต้แนวคิดระบบ 2 ท่าอากาศยาน และ (4) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ศึกษากรณีการใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นระบบท่าอากาศยานแห่งเดียว พบว่า จะทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเป็น 70 ล้านบาทต่อเดือน และสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงเฉลี่ย 229,851 กิโลกรัมต่อวัน

3.3 กรอบการศึกษาแนวทางการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง มีวัตถุประสงค์ เพื่อกำหนดบทบาทของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมืองให้เกิดความชัดเจน และปรับปรุงแผนแม่บทการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมทั้งจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจของท่าอากาศยานดอนเมืองให้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินอย่างคุ้มค่า สามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้โดยมีขอบเขตการศึกษา ดังนี้

(1) ศึกษาแนวทางการพัฒนาท่าอากาศยานของกรุงเทพมหานครสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค ประกอบด้วย (1) แนวโน้มปริมาณการจราจรทางอากาศของกรุงเทพมหานครในระยะยาว (2) การศึกษาทบทวนรายงานผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องและแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรณภูมิ (3) แนวคิดการพัฒนาการและการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานของต่างประเทศที่มีมากกว่า 2 แห่งและอยู่ใกล้กัน ทั้งที่ใช้ระบบ 2 ท่าอากาศยาน และระบบท่าอากาศยานเดียว (4) รูปแบบการพัฒนาธุรกิจของท่าอากาศยานในต่างประเทศ ทั้งที่มีการประกอบธุรกิจหลัก และ/หรือมีการใช้พื้นที่ไปประกอบธุรกิจอื่น (5) วิเคราะห์ทางเลือกในการกำหนดบทบาทของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง โดยพิจารณาจากโครงสร้างพื้นฐาน และขีดความสามารถที่มีอยู่ในปัจจุบัน และการขยายขีดความสามารถในอนาคต รวมทั้งเงื่อนไขความปลอดภัย ระเบียบ/กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ความเหมาะสมทางกายภาพ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงและประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อชุมชน และ (6) การปรับปรุงแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและแผนการพัฒนาพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเมืองท่าอากาศยาน

(2) การศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์ในการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมการบิน ของท่าอากาศยานดอนเมือง ประกอบด้วย (1) ประเมินผลการดำเนินงาน ผลประกอบการ และการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานดอนเมืองที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน (2) ประเมินการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย (3) ปริมาณความต้องการและแนวโน้มการขยายตัวของตลาดอุตสาหกรรมการบินในตลาดโลก (4) โอกาสและข้อจำกัดในการพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์อุตสาหกรรมการบิน (5) ทางเลือกและรูปแบบการลงทุนพัฒนาการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานดอนเมือง และ (6) แผนธุรกิจของท่าอากาศยานดอนเมือง

3.4 สรุปผลการศึกษาและข้อเสนอ เป็นการสรุปใน 3 ประเด็นกล่าวคือ (1) แนวทางการพัฒนาท่าอากาศยานของกรุงเทพมหานครให้เป็นศูนย์กลางการบินและธุรกิจอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาค (2) ทางเลือกและข้อเสนอทิศทางการพัฒนาของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ (3) ทางเลือกและข้อเสนอการใช้ประโยชน์ของท่าอากาศยานดอนเมือง

มติคณะกรรมการ รศก.

รับทราบกรอบการศึกษาแนวทางการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมืองตามที่เสนอ โดยให้นำความเห็นเพิ่มเติมในส่วนของการพิจารณาเปรียบเทียบความเหมาะสมทางด้านเทคนิคและกายภาพในการพัฒนาท่าอากาศยานภายใต้แนวคิดระบบ 2 ท่าอากาศยาน หรือระบบท่าอากาศยานเดียว โดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานของท่าอากาศยานดอนเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ให้นำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นให้คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจพิจารณาภายใน 90 วัน

4. แนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจในระยะต่อไป

นายกรัฐมนตรี ได้เสนอว่า ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจเริ่มคลี่คลายแล้ว จึงเห็นว่า คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจควรพิจารณาในประเด็นด้านนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่สำคัญ เพื่อวางรากฐานการพัฒนาในระยะปานกลางและระยะยาว โดยเฉพาะด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การพัฒนาขนส่งระบบราง การพัฒนาระบบการให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 (3G) รวมทั้งการส่งเสริมสนับสนุนให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือลงทุนในกิจการของรัฐเพิ่มขึ้น เป็นต้น

นอกจากนี้ การลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในส่วนที่ใช้เงินจาก พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 จำนวน 200,000 ล้านบาทนั้น เป็นการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นที่เน้นการลงทุนในโครงการที่สามารถเบิกจ่ายได้ในปี 2553 และก่อให้เกิดการกระจายการจ้างงานไปทั่วประเทศ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว สำหรับการลงทุนในระยะต่อไปที่จะใช้จ่ายจาก พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ..... จำนวน 400,000 ล้านบาท นั้น ขณะนี้กระบวนการยังอยู่ในขั้นตอนของรัฐสภา จึงควรพิจารณารายละเอียดเพื่อให้การลงทุนที่สามารถตอบสนองยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในระยะปานกลางและระยะยาวได้มากขึ้น

มติคณะกรรมการ รศก.

เห็นชอบตามดำริของนายกรัฐมนตรี และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ บรรจุเรื่องการพัฒนาระบบขนส่งทางรางและการพัฒนาด้านโทรคมนาคมในวาระการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจในครั้งต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 ตุลาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ