การดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับการคว่ำบาตรไลบีเรีย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 7, 2009 16:49 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับการคว่ำบาตรไลบีเรีย ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และธนาคารแห่งประเทศไทย ถือปฏิบัติต่อไป โดยให้เป็นไปตามขอบเขตกฎหมายภายในของไทย รวมทั้งแจ้งผลการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องให้กระทรวงการต่างประเทศทราบเพื่อรายงานให้สหประชาชาติทราบต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า

1. คณะมนตรีความมั่นคงฯ ได้มีข้อมติที่ 1521 (ค.ศ 2003) เกี่ยวกับการคว่ำบาตรไลบีเรียและกำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรเพื่อตรวจสอบการละเมิดมาตรการดังกล่าว เพื่อขอรับข้อมูลจากรัฐสมาชิกสหประชาชาติที่เกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐนั้น และเพื่อระบุรายชื่อบุคคลหรือองค์กรที่มาตรการนั้นมีผลบังคับใช้รวมทั้งปรับสถานะของรายชื่อดังกล่าวเป็นประจำ โดยมาตรการดังกล่าวประกอบด้วย การคว่ำบาตรทางอาวุธ การคว่ำบาตรทางการค้า การห้ามเดินทางผ่านหรือเข้าไปในดินแดน และการอายัดทรัพย์สินของบุคคลและองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความขัดแย้ง ซึ่งต่อมาได้มีการรับรองข้อมติอื่น ๆ ที่สืบเนื่องจากข้อมติดังกล่าว ได้แก่ ข้อมติที่ 1532 (ค.ศ. 2004) 1647 (ค.ศ. 2005) 1683 (ค.ศ. 2006) 1689 (ค.ศ. 2006) 1731 (ค.ศ. 2006) 1753 (ค.ศ. 2007) 1792 (ค.ศ. 2007) และ 1854 (ค.ศ. 2008) ตามลำดับ โดยมีผลบังคับใช้ไปจนกว่าคณะมนตรีความมั่นคงฯ จะมีมติเป็นอื่น

2. ในฐานะรัฐสมาชิกสหประชาชาติ ไทยมีพันธกรณีจะต้องดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงฯ และโดยที่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับเพื่อให้ปฏิบัติตามพันธกรณีตามข้อมติข้างต้นได้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยึดและอายัดทรัพย์สิน ทำให้ในบางกรณีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่อาจดำเนินมาตรการดังกล่าวได้ กระทรวงการต่างประเทศ จึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ สาระสำคัญของมาตรการคว่ำบาตรไลบีเรียตามข้อมติคณะรัฐมนตรีความมั่นคงฯ สรุปได้ดังนี้

2.1 มาตรการคว่ำบาตรทางอาวุธ กำหนดให้รัฐสมาชิกดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันการจัดหาหรือขายอาวุธยุทโธปกรณ์ทุกประเภทให้แก่ไลบีเรีย รวมทั้ง การให้ความช่วยเหลือที่เกี่ยวกับการจัดหา ผลิต และซ่อมบำรุงอาวุธ โดยยกเว้นการดำเนินการข้างต้นในการจัดสรรอาวุธยุทโธปกรณ์ การฝึกฝน และความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่ United Nations Mission in Liberia (UNMIL) ตลอดจนการฝึกและการปฏิรูปทหารตำรวจไลบีเรีย ตลอดจนการจัดสรรอุปกรณ์ทางทหารที่ไม่ร้ายแรงถึงชีวิต เพื่อใช้ในด้านมนุษยธรรมและการป้องกัน และการจัดสรรชุดป้องกันอันรวมถึงเกราะกันกระสุนและหมวกเหล็กทหารที่นำเข้าและใช้โดยบุคลากรของสหประชาชาติ รวมทั้งการจัดสรรอาวุธและกระสุนที่ได้จัดให้สมาชิกหน่วยงานความมั่นคงพิเศษ (Special Security Service) สำหรับใช้ฝึกฝนและที่ได้จัดหาอาวุธและกระสุนอย่างจำกัดสำหรับตำรวจและหน่วยงานความมั่นคงของไลบีเรียที่ได้รับการฝึกฝนตั้งแต่การก่อตั้ง UNMIL ในเดือนตุลาคม 2546 ทั้งนี้ จะต้องแจ้งให้คณะกรรมการฯ ทราบล่วงหน้าเพื่อเห็นชอบเป็นรายกรณีไป

2.2 มาตรการคว่ำบาตรทางการค้า กำหนดให้รัฐสมาชิกดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันการนำเข้าโดยตรงหรือโดยอ้อม เพชรที่ไม่ได้เจียระไนทุกชนิดจากไลบีเรีย รวมทั้งในกรณีที่เพชรนั้นไม่ได้มีจุดกำเนิดในไลบีเรีย และให้รัฐสมาชิกดำเนินมาตรกรที่จำเป็นเพื่อป้องกันการนำเข้าซุงและผลิตภัณฑ์จากซุงทุกชนิดที่มีจุดกำเนิดจากไลบีเรีย ทั้งนี้ ในปัจจุบันคณะมนตรีความมั่นคงฯ ได้ยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าสินค้าทั้งสองชนิดแล้ว

2.3 การห้ามเดินทาง กำหนดให้รัฐสมาชิกดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อขัดขวางไม่ให้บุคคลและองค์กรตามที่คณะกรรมการฯ กำหนดว่าเป็นภัยคุกคามต่อกระบวนการสันติภาพในไลบีเรียหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เพื่อบั่นทอนสันติภาพและเสถียรภาพในไลบีเรียและอนุภูมิภาคเดินทางเข้าหรือผ่านดินแดนของรัฐสมาชิก แต่ยกเว้นในกรณีที่คณะกรรมการฯ เห็นว่าการเดินทางดังกล่าวเป็นไปเพื่อเหตุผลทางมนุษยธรรม ซึ่งรวมถึงความจำเป็นทางศาสนา หรือเพื่อช่วยสนับสนุนการสร้างสันติภาพเสถียรภาพและประชาธิปไตยในไลบีเรียและสันติภาพที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาค

2.4 การอายัดทรัพย์สิน กำหนดให้รัฐสมาชิกดำเนินมาตรการเพื่ออายัดเงินทุนและสินทรัพย์ต่างๆ ซึ่งอยู่ในครอบครองหรือการควบคุมของบุคคลและองค์กรตามที่คณะกรรมการฯ กำหนด ยกเว้นการอายัดเงินทุนหรือทรัพย์สินสำหรับค่าใช้จ่ายพื้นฐานและค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ค่าใช้จ่ายพิเศษและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการดำเนินคดีทางศาลยุติธรรม ซึ่งเริ่มต้นขึ้นก่อนวันที่รับรองข้อมติ 1532 (ค.ศ. 2004) และไม่ได้ใช้เพื่อประโยชน์ของบุคคลและองค์กรตามที่คณะกรรมการฯ ได้กำหนด ซึ่งรัฐสมาชิกได้แจ้งคณะกรรมการฯ ในการขอยกเว้นดังกล่าวแล้ว

3. คณะมนตรีความมั่นคงฯ ขอให้รัฐสมาชิกให้ความร่วมมือในการดำเนินการมาตรการคว่ำบาตรตามข้อมติดังกล่าว และรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการฯ ทราบ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 ตุลาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ