การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 16

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 7, 2009 17:00 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 16 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย

อินโดนีเซีย — มาเลเซีย — ไทย (IMT-GT)

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้

1. รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงาน และเห็นชอบให้คณะผู้แทนไทยผลักดันแนวทางการดำเนินงานตามข้อ 2 ในการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย — มาเลเซีย — ไทย (IMT-GT) ครั้งที่ 16

2. เห็นชอบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส IMT-GT ตามข้อ 3.2

3. เห็นชอบให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวีระชัย วีระเมธีกุล) รัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมระดับรัฐมนตรี IMT-GT ครั้งที่ 16

4. มอบหมายรักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (นายปรเมธี วิมลศิริ) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส IMT-GT ครั้งที่ 16

สาระสำคัญของเรื่อง

ตามที่รัฐบาลมาเลเซีย จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย — มาเลเซีย — ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT-GT) ครั้งที่ 16 ที่เมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 13 — 15 ตุลาคม 2552 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการผู้ประสานงานระดับประเทศ (National Secretariat) ของแผนงาน IMT-GT ขอรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการดังนี้

1. ภาพรวมแผนงาน IMT-GT

1.1 ก่อตั้งในปี 2536 จากความเห็นชอบร่วมกันของผู้นำ 3 ประเทศ โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในการศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดกรอบความร่วมมือ ขอบเขตดำเนินงาน และสาขาความร่วมมือ หลักความร่วมมือเป็นการกำหนดบทบาทหน้าที่ตามความได้เปรียบเทียบเชิงเปรียบเทียบในอนุภูมิภาค การจัดสรรทรัพยากรและปัจจัยการผลิตร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยภาคเอกชนมีบทบาทนำในการเสนอต่อภาครัฐเพื่อการอำนวยความสะดวกทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อกระตุ้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค

1.2 ปัจจุบันกรอบ IMT-GT มีความร่วมมือ 6 สาขาประกอบด้วย (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง (2) การค้าและการลงทุน (3) การท่องเที่ยว (4) ผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล (5) พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ (6) เกษตร อุตสาหกรรมการเกษตรและสิ่งแวดล้อม

2. ความก้าวหน้าและแนวทางการดำเนินงานต่อไป

2.1 ความก้าวหน้ารายสาขา

2.1.1 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง ได้แก่ การพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจของ IMT-GT ทั้ง 5 แนว โดยเร่งเชื่อมโครงข่ายคมนาคมทางบก น้ำ และอากาศ การเพิ่มประสิทธิภาพการผ่านแดนและข้ามแดนเพื่อประโยชน์ในการเดินทาง การขนส่ง การไหลเวียนสินค้าและบริการ การจัดเตรียมแผนปฏิบัติการการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจของ IMT-GT 5 แนว โดยจัดลำดับแผนงานโครงการและค่าใช้จ่ายให้ชัดเจนและเตรียมแผนปฏิบัติการสำหรับการพัฒนาการเดินเรือและพัฒนาประสิทธิภาพโลจิสติกส์ ซึ่งในส่วนของไทยอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับ ADB เพื่อจัดลำดับความสำคัญโครงการในพื้นที่ภาคใต้ของไทยเพื่อดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นโดยความช่วยเหลือทางวิชาการของ ADB ทั้งนี้ปัจจุบัน ADB อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อจัดตั้งกองทุนพัฒนาโครงการอนุภูมิภาค (Subregional Project Development Facility) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่สำคัญในอนุภูมิภาค IMT-GT และ BIMP-EAGA (บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์)

2.1.2 การค้าและการลงทุน ได้แก่ การดำเนินโครงการศึกษาความเป็นไปได้ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนบริเวณอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา - เมืองบูกิตกายูฮิตัม รัฐเกดะห์ มาเลเซีย ระยะที่ 2 โดย สศช. ดำเนินการศึกษาคู่ขนานกับ Economic Planning Unit (EPU) ของมาเลเซีย การจัดคณะผู้ประกอบการภาคเอกชนเดินทางเพื่อเปิดตลาดในพื้นที่ IMT-GT และการจัดทำระบบข้อมูลการค้า การลงทุน ท่องเที่ยว และข้อมูลเศรษฐกิจอื่นที่สะท้อนความก้าวหน้าของ IMT-GT การพัฒนาและบำรุงรักษาฐานข้อมูลด้านการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว รวมถึงเว็บไซต์ IMT-GT

2.1.3 การท่องเที่ยว ได้แก่ การสนับสนุน IMT-GT Celebration Year ปี 2552 โดยการจัดกิจกรรมต่างๆ ต่อเนื่องจากปีแห่งการท่องเที่ยว IMT-GT เมื่อปี 2551 ในทั้ง 3 ประเทศ โดยหน่วยงานภาครัฐสนับสนุนและทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

2.1.4 ผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล ได้แก่ การจัดประชุมวิชาการ WHASIB 2009 และเตรียมงาน WHASIB 2010 งาน IMT-GT Halal Expo งานวัฒนธรรมมุสลิม การตลาดภิวัฒน์ หรือ Business matching การจัดงาน Halal SMEs การฝึกอบรมนักวิทยาศาสตร์ฮาลาลจากประเทศต่างๆ การอนุมัติงบของรัฐบาลไทยในการดำเนินงาน Halal ICT Superhighway ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพดำเนินงาน การจัดแสดงผลิตภัณฑ์ IMT-GT ณ ประเทศบาห์เรน ระหว่างการจัดประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนและ GCC ในกลางปี 2552 การดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานชั่วคราวด้านมาตรฐานและการรับรองฮาลาลของ IMT-GT ซึ่งกรมมาตรฐานของมาเลเซียเสนอตัวจะเป็นผู้จัดประชุมครั้งที่ 1 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์

2.1.5 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ การเร่งรัดด้านการรับรองมาตรฐานและรับรองวิชาชีพแรงงาน (MRA) การแลกเปลี่ยนการศึกษาดูงาน การจัดการสัมมนาเสริมสร้างบทบาทของสตรีในตลาดแรงงาน

2.1.6 การเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ความร่วมมือด้านการปลูกและการวิจัยและพัฒนาปาล์มน้ำมัน การใช้เทคโนโลยีที่ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมการเกษตร การแสวงหาความร่วมมือในการกำหนดเป้าหมายระยะยาวเรื่องความมั่นคงอาหาร ความมั่นคงพลังงาน การพัฒนายั่งยืน การลดผลกระทบโลกร้อน และการสร้างสมดุลของการผลิตพืชและพืชพลังงาน

2.2 แนวทางการดำเนินงานต่อไป

2.2.1 การทบทวนกลางรอบ (Mid-Term Review : MTR) ของแผนที่นำทาง IMT-GT ปี 2550 — 2554 โดย สศช. เป็นเจ้าภาพร่วมกับ ADB จัดหารือภายในประเทศเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2552 ที่กรุงเทพฯ และจัดประชุมหารือร่วม 3 ประเทศ ระหว่างวันที่ 16-17 กรกฎาคม 2552 ที่กรุงเทพฯ เพื่อวางแนวทางการปฏิบัติตามแผนที่นำทาง IMT-GT ในอีก 2 ปีข้างหน้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลการหารือที่สำคัญ ได้แก่ (1) การจำกัด Flagship Projects ภายใต้แผนที่นำทาง ให้อยู่ในแนวพื้นที่เศรษฐกิจ IMT-GT 5 แนว (2) ความจำเป็นในการมุ่งเน้นด้านซอฟท์แวร์เพื่อให้การพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจบรรลุผล อาทิ การอำนวยความสะดวกการขนส่งผ่านแดนและข้ามแดน CIQs และ (3) ระดับคณะทำงานจะมีการทบทวนและจัดลำดับความสำคัญโครงการครั้งใหม่ โดย CIMT ร่วมกับ ADB และฝ่ายเลขานุการของแต่ละประเทศจะทำหน้าที่แนะนำกลไกและแนวทางทบทวนให้แก่คณะทำงาน

2.2.2 การประสานและเชื่อมโยงการพัฒนา IMT-GT โดยเฉพาะตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจหลักให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาระดับประเทศ ซึ่งในส่วนของไทยคือ แผนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน โดยที่ประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย (Joint Development Strategy for Border Areas : JDS ) ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2552 ณ เมืองปีนัง ประเทศ มาเลเซีย เห็นชอบให้มีกลไกการประชุมระดับสูง (High Level Meeting) ระหว่างไทย-มาเลเซีย เพื่อหารือเรื่องการประสานการดำเนินงานตามแผนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้ฯ ของไทย ควบคู่กับการดำเนินงานตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจในบริเวณแนวพื้นที่ภาคเหนือ (Northern Corridor Economic Region : NCER) และการพัฒนาในบริเวณแนวพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก (East Coast Economic Region : ECER) ของมาเลเซีย

2.2.3 การลงนามความตกลงการจัดตั้งศูนย์ประสานความร่วมมืออนุภูมิภาค IMT-GT (CIMT) ไทยอยู่ระหว่างการนำเสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อการลงนามความตกลงร่วมกันระหว่าง 3 ประเทศ

2.2.4 การให้การประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดและมุขมนตรี เป็นเวทีประสานเชื่อมโยงของนักธุรกิจและเอกชนท้องถิ่นในการพัฒนา IMT-GT และให้สภาธุรกิจสามฝ่าย IMT-GT เพิ่มความเข้มข้นในการทำงานระดับรัฐและจังหวัด และรัฐบาลท้องถิ่นให้การสนับสนุนที่จำเป็นเพื่อผลักดันกระบวนการดังกล่าว

2.2.5 การขยายความร่วมมือระหว่าง IMT-GT กับหุ้นส่วนการพัฒนาใหม่ นอกเหนือจาก ADB อาทิ ญี่ปุ่น เพื่อการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค และการสร้างความเชื่อมโยงอย่างบูรณาการระหว่าง IMT-GT และประชาคมอาเซียน

2.2.6 การเตรียมการประชุมสุดยอดแผนงาน IMT-GT ครั้งที่ 5 ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 16 ที่ประเทศเวียดนามในปี 2553

3. การเตรียมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 16

3.1 รัฐบาลมาเลเซีย จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส IMT-GT ครั้งที่ 16 ที่เมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 13- 15 ตุลาคม 2552 เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของ 6 สาขาความร่วมมือและผลักดันแนวทางดำเนินงานที่สำคัญ และติดตามผลการทบทวนกลางรอบของแผนที่นำทาง IMT-GT ปี 2550 — 2554 การประชุมดังกล่าวประกอบด้วย (1) การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 16 วันที่ 13 ตุลาคม 2552 (2) การประชุมระดับผู้ว่าราชการจังหวัดและมุขมนตรี ครั้งที่ 6 ในวันที่ 14 ตุลาคม 2552 (3) การประชุม IMT-GT JBC Business Opportunities Forum ครั้งที่ 1 ในวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2552 (4) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกับญี่ปุ่น วันที่ 14 ตุลาคม 2552 และ (5) การประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 16 ในวันที่ 15 ตุลาคม 2552 โดย สศช. เป็นผู้ประสานเตรียมการ ทั้งด้านสารัตถะและด้านโลจิสติกส์

3.2 องค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการประชุม หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมระดับรัฐมนตรี ได้แก่ รัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT โดยมี องค์ประกอบคณะผู้แทนไทยดังนี้ 1. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวีระชัย วีระเมธีกุล) หัวหน้าคณะผู้แทนระดับรัฐมนตรี 2. รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 3. รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หัวหน้าคณะผู้แทนระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส 4. ผู้แทนกระทรวง มหาดไทย 5. ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ 6. ผู้แทนกระทรวงคมนาคม 7. ผู้แทนกรมทางหลวง 8. ผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 9. ผู้แทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 10. ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 11. ผู้แทนกรมการค้าต่างประเทศ 12. ผู้แทนสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ 13. ผู้แทนศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 14. ผู้แทนหอการค้าไทย 15. ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 16. ผู้แทนบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ดร. สารสิน วีระผล) 17. ผู้แทนสภาธุรกิจภาคใต้ IMT-GT 18.-34. ผู้ว่าราชการจังหวัดของ 14 จังหวัดภาคใต้ 35. ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 ตุลาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ