แผนการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำของประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 4, 2009 16:41 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง แผนการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำของประเทศไทยสำหรับขอรับการสนับสนุนทางการเงินจาก

Clean Technology Fund (CTF) ของธนาคารโลก

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการของแผนการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำของประเทศไทยสำหรับขอรับการสนับสนุนทางการเงินจาก Clean Technology Fund (CTF) ของธนาคารโลก ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้กระทรวงการคลังประสานงานกับธนาคารโลกและจัดทำรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนำเสนอรัฐสภาตามนัยมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป

ความเป็นมา

ธนาคารโลกได้เสนอแนวทางการให้การสนับสนุนทางการเงินภายใต้ Clean Technology Fund (CTF) ซึ่งเป็นกองทุนที่สนับสนุนด้านการเงินในรูปเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำแก่การลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สำหรับโครงการที่สนับสนุนการลดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก CTF เป็นกองทุนภายใต้การดำเนินงานของกองทุนเพื่อการลงทุนด้านภูมิอากาศ (Climate Investment Fund: CIF) ก่อตั้งโดยธนาคารโลก (World Bank: WB) ร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับภูมิภาคต่างๆ (Regional Development Banks) อาทิ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (International Financial Corporation: IFC) CTF เป็นกองทุนที่มุ่งเน้นการจัดหาเงินทุนระหว่างประเทศเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยกองทุนจะให้เงินสนับสนุนโครงการที่ส่งเสริมการทดลอง (Demonstration) การจัดเพื่อใช้งาน (Deployment) และการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการลดคาร์บอน (Low-carbon Technologies) ในภาคอุตสาหกรรม พลังงาน คมนาคม เกษตรกรรม รวมถึงประสิทธิภาพในการใช้พลังงานในอาคาร (Energy Efficiency in Buildings) ภายใต้ข้อกำหนดว่าฝ่ายไทยต้องจัดทำแผนการลงทุน (Investment Plan) เสนอต่อคณะกรรมการกองทุน CTF

วัตถุประสงค์

ใช้ในการสนับสนุนการลงทุนในโครงการที่ช่วยลดและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งมีส่วนช่วยในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

การดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง

1. กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้มีหนังสือแสดงความสนใจที่จะขอรับการสนับสนุนทางการเงินจาก CTF เพื่อสนับสนุนโครงการที่ช่วยลดและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม (Green Economy Project) โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยประสานงานกลางในการจัดทำ Investment Plan เพื่อใช้ประกอบการเสนอขอรับการสนับสนุนทางการเงินจาก CTF และ กระทรวงการคลังจะพิจารณาแผนการใช้จ่ายเงินที่เหมาะสมของโครงการต่างๆ ภายใต้แผนการลงทุนดังกล่าว โดย สศช. ได้แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาแผนการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำของประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2552 โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นประธาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กรุงเทพมหานคร และกระทรวงการคลัง เป็นต้น

2. การขอรับการสนับสนุนทางการเงินจาก CTF ประเทศไทยจะต้องจัดทำแผนการลงทุน (Investment Plan) เพื่อขอรับการสนับสนุนจาก CTF โดยโครงการที่อยู่ในแผนการลงทุนจะต้องมีความสอดคล้องกับแผนการพัฒนาของประเทศ ในเบื้องต้นคาดว่ากองทุน CTF มีวงเงินสนับสนุนให้แก่ประเทศไทยประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการสนับสนุนทางการเงินในรูปแบบการกู้ผสมระหว่างกองทุน CTF ที่มีเงื่อนไขให้เงินกู้แบบไม่มีดอกเบี้ยแต่มีค่าธรรมเนียม กู้ร่วมกับ WB ADB หรือ IFC ที่มีเงื่อนไขเงินกู้ทั่วไปของแต่ละสถาบันการเงิน ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนในการกู้เงินที่ต่ำ นอกจากนี้ ยังมีความช่วยเหลือทางวิชาการจากธนาคารโลกเพื่อจัดเตรียมโครงการและแผนการลงทุนด้วย ในการนี้ สศช. และ สบน. ร่วมกับธนาคารโลก และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันยกร่างแผนการลงทุนเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุน CTF โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

2.1 โครงการที่กองทุน CTF จะสนับสนุนเงินทุน ต้องมีลักษณะสำคัญ ดังนี้

(1) มีความสอดคล้องและส่งเสริมแผนพัฒนาฯ และแผนชาติที่เกี่ยวข้อง อาทิ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 และแผนพัฒนาพลังงานทดแทน พ.ศ. 2551-2565 เป็นต้น

(2) โครงการต้องมีศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

(3) โครงการและเทคโนโลยีที่ใช้ต้องมีความพร้อมในการนำมาปฏิบัติจริงและมีความคุ้มทุน

(4) เป็นโครงการขนาดใหญ่ในสาขาพลังงานและการขนส่งที่สะอาด เช่น โครงการในสาขาการผลิตพลังงานทดแทน โครงการด้านการขนส่ง และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในสิ่งปลูกสร้าง และอาคารที่อยู่อาศัย เป็นต้น

(5) มีแผนการเงิน กรอบเวลาการลงทุน และแหล่งที่มาของเงินทุนที่ชัดเจน

2.2 สาขาที่มีความเป็นไปได้ในการขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุน CTF ประกอบด้วย 2 สาขาหลัก ได้แก่ สาขาพลังงาน และสาขาการขนส่ง วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 4,263 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

(1) สาขาพลังงาน (Clean Energy Advancement) วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,676 ล้านเหรียญสหรัฐประกอบด้วย

  • การส่งเสริมการลงทุนของเอกชนและชุมชนเพื่อพัฒนาโครงการด้านพลังงานหมุนเวียน ผ่านสถาบันที่เป็นสื่อกลางทางการเงินของรัฐ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของประเทศไทย จำนวน 374 MW วงเงินลงทุน 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • โครงการพลังงานหมุนเวียน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้แก่ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนของ กฟผ. จำนวน 224 MW จากพลังลม แสงอาทิตย์ และพลังน้ำขนาดเล็ก วงเงินลงทุนรวม 579 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • โครงการพลังงานหมุนเวียนและเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการผลิตพลังงานทดแทนจากเศษไม้ (Forestry Residual) จำนวน 100 แห่ง (แห่งละ 1 MW) โดยซื้อเศษไม้จากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ วงเงินลงทุน 230 ล้านเหรียญสหรัฐ และโครงการติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงานสำหรับโคมไฟเสาสูงและไฟกิ่ง (Street Lighting Energy Efficiency) จำนวน 500,000 หลอด เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าในส่วนไฟถนนและไฟสาธารณะในพื้นที่บริการของ กฟภ. วงเงินลงทุน 67 ล้านเหรียญสหรัฐ

(2) สาขาขนส่ง (Urban Transformation) วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,266.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้แก่

  • โครงการขยายระบบขนส่งมวลชนและปรับปรุงระบบการจราจร (Urban Transport: Expand Mass Transit & Improve Traffic System) ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยจัดทำระบบรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit: BRT) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,218 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้า ของกรุงเทพมหานคร วงเงินลงทุน 48.7 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อดำเนินโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าของอาคารของหน่วยงานสังกัด กทม.

(3) สาขาการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน (IFC Private Sector Financing Mobilization Program for RE/EE/CP) วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,320 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้แก่

  • การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน ของธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบการเอกชน เพื่อดำเนินโครงการด้านพลังงานทดแทน (Renewable Energy: RE) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy Efficiency: EE) และการผลิตที่สะอาด (Clean Production : CP) โดยให้ผู้ประกอบการเอกชนกู้เงินผ่านธนาคารพาณิชย์ วงเงินลงทุน 1,320 ล้านเหรียญสหรัฐ

2.3 แหล่งที่มาและเงื่อนไขของกองทุน

CTF จะให้การสนับสนุนทางการเงินเพียงบางส่วน โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10-15 ของวงเงินรวมโครงการทั้งหมด โครงการดังกล่าวจะต้องมีการกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคี (Multilateral Development Banks: MDBs) อาทิ ธนาคารโลก และ ADB ในอัตราส่วนขั้นต่ำ (CTF: MDB) คือ 1:1 ทั้งนี้ เงินดำเนินโครงการส่วนที่เหลือจะได้มาจากการจัดสรรเงินงบประมาณจากภาครัฐ การสมทบเงินลงทุนโดยภาคเอกชน/รัฐวิสาหกิจ ธนาคารโลก ADB และ IFC ซึ่งจะต้องมีการหารือเกี่ยวกับสัดส่วนของเงินลงทุนจากต่างประเทศที่จะใช้ในการดำเนินโครงการต่อไป

3. คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เห็นชอบในหลักการแผนการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำของประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2552 สำหรับการดำเนินการขั้นต่อไป คือ กระทรวงการคลังนำเสนอแผนการลงทุนฯ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการกองทุน CTF พิจารณาให้เงินสนับสนุนแก่ประเทศไทยต่อไป

ความเห็น

1. แผนการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำของประเทศไทย เป็นเพียงกรอบการลงทุนในภาพรวมของประเทศไทย ซึ่งจะต้องนำส่งให้คณะกรรมการของ CTF พิจารณาภายในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 ทั้งนี้ การพิจารณากู้เงินจาก CTF ต้องประเมินและศึกษาความพร้อมเป็นรายโครงการตามขั้นตอนปกติ และต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2549 ซึ่งจะดำเนินการภายหลังจากที่แผนการลงทุนฯ ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการของ CTF แล้ว

2. แนวทางการกู้เงินจาก CTF สามารถดำเนินการได้ ดังนี้

(1) การกู้สำหรับภาครัฐ โดยเป็นการกู้จากการ Co-Finance ระหว่าง CTF และธนาคารโลก ADB หรือสถาบันการเงินอื่น

  • สำหรับหน่วยงานของรัฐ กระทรวงการคลังจะเป็นผู้กู้ให้หน่วยงานของรัฐ
  • สำหรับรัฐวิสาหกิจ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หน่วยงานดำเนินโครงการ จะเป็นผู้กู้ โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน
  • สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กรุงเทพมหานคร) กระทรวงการคลังจะเป็นผู้กู้และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกู้ต่อ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกู้เอง

(2) การกู้สำหรับภาคเอกชน โดยเป็นการกู้จากการ Co-Finance ระหว่าง CTF และ IFC

  • สำหรับธนาคารพาณิชย์ ธนาคารฯ จะเป็นผู้กู้จาก IFC และให้ภาคเอกชนกู้ต่อ ซึ่งจะช่วยลดภาระหนี้สาธารณะของรัฐบาล

3. กระทรวงการคลังเห็นว่าการขอรับการสนับสนุนจาก CTF ซึ่งช่วยสนับสนุนการดำเนินโครงการที่ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสามารถสร้างรายได้และเพิ่มการจ้างงานก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ