อุซเบกิสถานขอรับสิทธิการตรวจลงตราเข้าไทย ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 25, 2009 17:27 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ประเทศอุซเบกิสถานมีสิทธิในการรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองของไทย (Visa-on-Arrival-VOA) เพื่อพำนักอยู่ในไทยได้ไม่เกิน 15 วัน ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า

1. สถานกงสุลใหญ่อุซเบกิสถานประจำประเทศไทยได้มีหนังสือขอให้ไทยพิจารณาทบทวนการให้สิทธิในการขอรับการตรวจลงตราเข้าไทย ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองไทย (Visa — on — Arrival - VOA) ตามที่เคยได้รับสิทธิมาก่อน

2. ไทยและอุซเบกิสถานได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2535 และได้ให้สิทธิ VOA แก่อุซเบกิสถานในปี 2541 อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตสูงในช่วงปี 2544 ทำให้มีชาวอุซเบกิสถานลักลอบเข้ามาทำงานผิดกฎหมายและอยู่พักเกินกำหนด ดังนั้นที่ประชุมหน่วยราชการด้านความมั่นคงได้พิจารณาทบทวนการให้สิทธิ VOA แก่ชนชาติต่าง ๆ อาทิ จีน รัสเซีย และอินเดีย รวมทั้งอุซเบกิสถาน และต่อมาได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้เพิกถอนสิทธิ VOA แก่อุซเบกิสถานในเดือนธันวาคม 2544 (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2544)

3. สถานกงสุลใหญ่อุซเบกิสถานประจำประเทศไทยได้สอบถามถึงการทบทวนสิทธิ VOA มาโดยตลอด โดยให้เหตุผลด้านการท่องเที่ยวและความไม่สะดวกที่จะต้องเดินทางไปขอรับการตรวจลงตราที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก นอกจากนี้โดยที่คาซัคสถานเป็นประเทศเดียวในเอเชียกลางที่สามารถขอรับ VOA โดยพำนักในไทยได้ไม่เกิน 15 วัน จึงทำให้อุซเบกิสถานซึ่งแข่งขันกับคาซัคสถานช่วงชิงความเป็นผู้นำของภูมิภาคเอเชียกลางมาโดยตลอดมองว่าไทยเลือกประติบัติ โดยให้ความสำคัญแก่คาซัคสถานมากกว่าอุซเบกิสถาน

4. เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2551 กระทรวงการต่างประเทศได้จัดประชุมหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กรมการกงสุล กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เกี่ยวกับการพิจารณาอำนวยความสะดวกในการเข้าเมืองสำหรับคนชาติเอเชียกลาง ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเกี่ยวกับการขอรับสิทธิ VOA ของอุซเบกิสถานว่า ไทยพร้อมจะให้สิทธิขอรับการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง โดยยึดหลักประติบัติต่างตอบแทน

5. กระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือแจ้งเงื่อนไขการประติบัติต่างตอบแทนข้างต้นให้ฝ่ายอุซเบกิสถานทราบแล้ว ต่อมาฝ่ายอุซเบกิสถานแจ้งกลับมาว่า อุซเบกิสถานไม่มีระบบให้ VOA และขอให้ไทยพิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไขดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศจึงได้มีหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมประชุมด้วยแล้ว ซึ่งหน่วยงานทุกแห่งไม่มีข้อขัดข้องในหลักการ เนื่องจากเป็นการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวให้ชาวอุซเบกิสถานเดินทางมาไทยมากขึ้น

6. กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาแล้วเห็นควรให้มอบสิทธิการขอรับ VOA แก่อุซเบกิสถานตามมติที่ประชุมหน่วยงานความมั่นคงในข้อ 4 ด้วยเหตุผลด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ดังนี้

6.1 ด้านการเมืองและความมั่นคง ปัจจุบันอุซเบกิสถานไม่ได้เป็นประเทศเป้าหมายที่เป็นภัยคุกคามทางความมั่นคงต่อไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแจ้งว่า จำนวนชาวอุซเบกิสถานที่ลักลอบเข้ามาทำงานผิดกฎหมายมีจำนวนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับชาติอื่น ๆ อีกทั้งไทยจะได้ประโยชน์ทางการเมืองจากการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่สมดุลกับอุซเบกิสถานและคาซัคสถานด้วย นอกจากนี้ไทยจะสามารถใช้ประโยชน์จากการคืนสิทธิ VOA เพื่อขอรับการสนับสนุนจากอุซเบกิสถานต่อท่าทีของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวทีที่ประชุมองค์การการประชุมอิสลาม (OIC) ซึ่งจะจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีขึ้นที่ประเทศทาจิกิสถานในช่วงกลางปี 2553

6.2 ด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว อุซเบกิสถานมีจำนวนประชากรกว่า 27 ล้านคน ซึ่งมากที่สุดในเอเชียกลาง และเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและเป็นตลาดการค้าสำคัญในภูมิภาคเอเชียกลาง โดยมีการขยายตัวทางการค้าอย่างต่อเนื่องจากเดิมมีมูลค่า 5.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2548 เป็น 44.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2551 สำหรับด้านการท่องเที่ยวไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมากเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวอุซเบกิสถานที่เดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มจำนวนขึ้นทั้ง ๆ ที่ไม่ได้รับสิทธิ VOA โดยในปี 2551 มีนักท่องเที่ยวจำนวนประมาณ 3,800 คน ปัจจุบันสายการบินอุซเบกิสถานแอร์เวย์มีเที่ยวบินโดยตรงระหว่างกรุงเทพ — ทาชเคนต์ สัปดาห์ละ 2 — 3 เที่ยวบิน

7. กรมสนธิสัญญาและกฎหมายพิจารณาแล้วเห็นว่า การกำหนดรายชื่อประเทศที่คนชาติจะขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีซึ่งจะต้องจัดทำเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศที่คนชาติจะขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง โดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 6 วรรคสองแห่งกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการตรวจ การยกเว้น และการเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตรา พ.ศ. 2545 ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 5 มาตรา 12 (1) วรรคสอง และมาตรา 34 (15) อันเป็นการดำเนินการภายใต้กฎหมายและข้อบังคับภายในของประเทศไทย ดังนั้น จึงไม่เข้าข่ายเป็นการจัดทำหนังสือสัญญา ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ