การให้การยอมรับ The Plant Protection Agreement for Asia and Pacific Region

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 25, 2009 17:29 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การให้การยอมรับ The Plant Protection Agreement for Asia and Pacific Region ฉบับแก้ไขปี 1983

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอทั้ง 3 ข้อดังนี้

1. เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้การยอมรับ The Plant Protection Agreement for Asia and Pacific Region ฉบับแก้ไขปี 1983

2. ให้กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (full power) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการให้การยอมรับ The Plant Protection Agreement for Asia and Pacific Region ฉบับแก้ไขปี 1983

3. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของประเทศ ตามเงื่อนไขที่จะมีการตกลงกันระหว่างประเทศภาคี ภายหลังเมื่อความตกลงฯ มีผลบังคับใช้แล้ว

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า

1. ในการประชุมองค์การอาหารและเกษตรแห่งประชาชาติ (Food and Agriculture Organization : FAO) ครั้งที่ 23 เมื่อปี 1955 ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบความตกลงด้านอารักขาพืชระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (The Plant Protection Agreement for Asia and Pacific Region) และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 1956 โดยความตกลงฯ นี้เป็นสนธิสัญญาระหว่างรัฐ บริหารจัดการโดยคณะกรรมาธิการอารักขาพืชเอเชียและแปซิฟิก (Asia and Pacific Plant Protection Commission : APPPC) ซึ่งมีประเทศภาคีสมาชิก 24 ประเทศ

2. ในปี 1983 (พ.ศ. 2526) APPPC มีมติที่ประชุมครั้งที่ 13 เห็นชอบให้มีการปรับปรุงเพิ่มข้อตกลงด้านการเงิน (ในมาตรา 2 มาตรา 3 และมาตรา 4) และเสนอความตกลงฯ ที่มีการปรับปรุงนี้ให้ที่ประชุมองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 84 ในเดือนกันยายนปี 1983 ให้ความเห็นชอบ

3. สำนักงานองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (FAO-Regional Office for Asia and Pacific) ได้ขอความร่วมมือมายังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้พิจารณาให้การยอมรับความตกลงด้านอารักขาพืชระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกฉบับแก้ไขปี 1983 โดยให้หัวหน้าส่วนราชการระดับรัฐมนตรีขึ้นไปเป็นผู้ลงนามใน INSTRUMENT OF ACCEPTANCE

4. การยอมรับการแก้ไขความตกลงฯ ตามมติที่ 1/84 ของ Food and Agriculture Organization Council (พฤศจิกายน 1983) เป็นการดำเนินการตามข้อ IX เดิม (หรือข้อ XI หลังจากแก้ไขแล้ว) ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศให้ความเห็นว่า น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ต้องขอความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีก่อนดำเนินการให้มีผลผูกพัน และหากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถปฏิบัติได้โดยไม่ต้องออกพระราชบัญญัติรองรับ ก็ไม่น่าเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนดำเนินการ

5. ในส่วนค่าใช้จ่ายของประเทศไทยจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่จะตกลงกันระหว่างประเทศภาคี ภายหลังเมื่อความตกลงฯ มีผลบังคับใช้แล้ว ตามกฎของสหประชาชาติ ซึ่งประเทศจะจ่ายในอัตราประมาณร้อยละ 3.05 คิดเป็นเงินประมาณ 5,891 ดอลลาร์สหรัฐต่อไป

6. ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการให้การยอมรับ The Plant Protection Agreement for Asia and Pacific Region ฉบับแก้ไข ปี 1983 ได้แก่ ความร่วมมือกับประเทศสมาชิกในภูมิภาคในการป้องกันการเข้ามาแพร่ระบาดของศัตรูพืชจากภูมิภาคอื่น และระหว่างประเทศภาคีสมาชิกด้วยกัน เช่น โรคใบไหม้ในยางพารา (South American Leaf Blight) ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความร่วมมือด้านวิชาการในการจัดฝึกอบรมร่วมกัน และสามารถลงคะแนนเสียงการประชุมในฐานะประเทศภาคีสมาชิก

7. ความตกลงฯ ฉบับแก้ไขนี้มุ่งที่จะกำหนดรายละเอียดและเงื่อนไขการสนับสนุนด้านการเงินของประเทศภาคีสมาชิกคณะกรรมาธิการอารักขาพืชระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือมีผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้าการลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ และกระทรวงการต่างประเทศได้ให้ความเห็นแล้วว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถปฏิบัติได้ โดยไม่ต้องออกพระราชบัญญัติมารองรับเพื่อให้เป็นไปตามหนังสือสัญญาการยอมรับความตกลงฯ ดังกล่าว จึงถือเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 แต่ไม่เข้าข่ายมาตรา 190 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ