ปฏิญญาโตเกียวในการประชุมระดับรัฐมนตรีของเวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกและ ลาตินอเมริกา (FEALAC)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 13, 2010 15:31 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอดังนี้

1. เห็นชอบร่างปฏิญญาโตเกียว (Tokyo Declaration) และอนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานประสานงานและรับผิดชอบกำกับดูแลการดำเนินการตามปฏิญญาดังกล่าว

2. อนุมัติในหลักการว่า หากมีการแก้ไขร่างปฏิญญาฯ ในประเด็นที่ไม่ใช่สาระหรือหลักการสำคัญขอให้อยู่ในดุลยพินิจของกระทรวงการต่างประเทศ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า

1. รัฐบาลญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับรัฐมนตรีของเวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา (Forum for East Asia — Latin America Cooperation :FEALAC) ครั้งที่ 4 ที่กรุงโตเกียว ระหว่างวันที่ 16 — 17 มกราคม 2553 และจะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณารับรองร่างปฏิญญาฯ ด้วย

2. เนื้อหาสาระของร่างปฏิญญาดังกล่าวสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างลาตินอเมริกาและเอเชียตะวันออกที่ได้พัฒนาขึ้นมากในช่วง 10 ปี นับแต่การก่อตั้ง FEALAC เมื่อปี 2542 และบทบาทสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และ best practices รวมทั้งการร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่ประชาคมโลกกำลังเผชิญ เช่น วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก ความยากจน การก่อการร้าย การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ และเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติทุกรูปแบบ ตลอดจนการตระหนักถึงผลกระทบต่อปัญหาทางสิ่งแวดล้อม (รวมถึงภาวะโลกร้อน) ต่อมวลมนุษยชาติ โดย FEALAC จะเป็นเวทีสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มุมมอง ความรู้ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกต่อปัญหาท้าทายดังกล่าว เช่น การส่งเสริมการใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้เทคโนโลยีด้านพลังงานที่มีประสิทธิภาพและพลังงานทดแทน เป็นต้น

3. ประเด็นการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่างปฏิญญาฯ ยืนยันเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวผ่าน UN Framework Convention on Climate Change โดยคำนึงถึงหลักการ “common but differentiated responsibilities and respective capabilities” เน้นหาลู่ทางปกป้องสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น การสร้างตลาดใหม่สำหรับสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อม การใช้ผลิตภัณฑ์พลังงานประสิทธิภาพ การขนส่งด้วยพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก และการส่งเสริมธุรกิจพลังงานสะอาด และส่งเสริมการบรรจุนโยบายการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมลงในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลประเทศสมาชิก โดยไม่แฝงเจตนารมณ์การปกป้องการค้าภายใต้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าว

4. ประเด็นด้านเศรษฐกิจ ร่างปฏิญญาฯ ระบุว่า สภาวะทางเศรษฐกิจโลกกำลังผ่านพ้นจากจุดที่เลวร้ายที่สุดของวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว และกำลังผ่านเข้าสู่กระบวนการฟื้นตัวโดยประสบการณ์จากวิกฤตในอดีต และนโยบายทางการเงินที่ตอบปัญหาวิกฤตได้ตรงจุด เป็นส่วนสำคัญทำให้ประเทศสมาชิก FEALAC สามารถเผชิญวิกฤตและลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตดังกล่าว นอกจากนี้ ยังเกิดจากการบริหารจัดการทางการเงินการคลังอย่างฉลาด การต่อสู้การปกป้องทางเศรษฐกิจในทุกรูปแบบ การส่งเสริมการค้าและการลงทุน รวมทั้งมาตรการอื่น ๆ เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและสมดุล

5. ร่างปฏิญญาฯ เน้นย้ำถึงความร่วมมือในการพัฒนาที่ยังยืนเพื่อบรรลุ The Millennium Development Goals และส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะในด้านการบรรเทาความยากจน ความมั่นคงด้านอาหาร และเพื่อสังคมที่เท่าเทียมและมั่งคั่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา ความจำเป็นของการปฏิรูปสหประชาชาติและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)ในอนาคตอันใกล้ เพื่อเพิ่ม representation ความโปร่งใสและประสิทธิภาพ รวมทั้งเพื่อให้การนำข้อมติไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การขอให้โลกปลอดภัยจากอาวุธนิวเคลียร์ และขอให้เกาหลีเหนือปฏิบัติตามมติสหประชาชาติและหันกลับสู่การเจรจาหกฝ่าย การร่วมมือเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (H1N1) และขอให้คงสาขาความร่วมมือด้านการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติเป็นหนึ่งในสาขาความร่วมมือหลัก ตลอดจนการตระหนักถึงความช่วยเหลือด้านการเงินและวิชาการจากสถาบันต่าง ๆ เช่น ADB,IDB,ECLAC และ ESCAP ในการเพิ่มบทบาทการดำเนินการของ FEALAC

6. เนื้อหาของร่างปฏิญญาฯ เป็นการแสดงจุดยืนร่วมกันของ FEALAC ต่อปัญหาต่าง ๆ ที่ประชาคมโลกกำลังประสบ เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ จึงเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันทางการเมือง (political commitment) โดยมิได้มีเจตนาให้ก่อเกิดสิทธิหรือพันธกรณีใด ๆ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ร่างปฏิญญาดังกล่าวควรได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในเชิงนโยบายก่อนมีการลงมติรับรองโดยที่ประชุมระดับรัฐมนตรีของ FEALAC

7. โดยที่ร่างปฏิญญาฯ จะได้รับการรับรองจากที่ประชุมระดับรัฐมนตรีของ FEALAC โดยไม่มีการลงนามจึงไม่เป็นสนธิสัญญาและไม่น่าจะเข้าข่ายมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มกราคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ