การให้สัตยาบันสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญาของภูมิภาคอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 13, 2010 15:42 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดเสนอดังนี้

1. ให้ส่งสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญาของภูมิภาคอาเซียน ให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ และให้ส่งสนธิสัญญาดังกล่าวให้คณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อน เสนอรัฐสภาพิจารณาต่อไป

2. ให้ส่งร่างพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ให้คณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณาก่อน แล้วนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบสนธิสัญญาฯ แล้วตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 20 ธันวาคม 2526

3. ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการให้สัตยาบันสนธิสัญญาฯ โดยให้ดำเนินการเมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบสนธิสัญญาฯ ตามข้อ 1 และร่างพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาฯ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ได้ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว

สาระสำคัญของสนธิสัญญาฯ

1.กำหนดขอบเขตความช่วยเหลือของสนธิสัญญาฯ การไม่บังคับใช้ของสนธิสัญญาฯ ข้อจำกัดความช่วยเหลือของภาคี และการแต่งตั้งผู้ประสานงานกลางของแต่ละภาคีเพื่อจัดทำและรับคำร้องขอความช่วยเหลือ (ข้อ 1 — ข้อ 4)

2. กำหนดแบบและเนื้อหาของคำร้องขอความช่วยเหลือในทางอาญา การดำเนินการตามคำร้องขอ และการรักษาความลับ (ข้อ 5 ข้อ 7 และข้อ 9)

3. กำหนดข้อจำกัดการใช้พยานหลักฐานที่ได้มาจากการช่วยเหลือ การได้มาซึ่งการให้ถ้อยคำโดยสมัครใจของผู้ให้ถ้อยคำ การได้มาซึ่งพยานหลักฐาน และสิทธิที่จะปฏิเสธการให้พยานหลักฐาน (ข้อ 8 และข้อ 10 — ข้อ 12 )

4 . กำหนดการจัดหาให้ซึ่งเอกสารและบันทึกอื่น ๆ ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ได้ การปรากฏตัวของบุคคลในภาคีผู้ร้องขอ และการปรากฏตัวของบุคคลที่ถูกคุมขังในภาคีผู้ร้องขอ (ข้อ 13 — ข้อ 15)

5. กำหนดหลักประกัน การเดินทางผ่านของบุคคลซึ่งถูกคุมขัง การค้นและยึด การส่งพยานหลักฐานคืน การค้าหาที่อยู่หรือการระบุตัวบุคคล การส่งเอกสารและความช่วยเหลือในการดำเนินการริบทรัพย์สิน (ข้อ 16 — ข้อ 22)

6. กำหนดความสอดคล้องกับข้อตกลงอื่น การรับรองและการยืนยันความถูกต้องแท้จริง ค่าใช้จ่าย การปรึกษาหารือ การแก้ไข การระงับข้อพิพาท และข้อสงวน (ข้อ 23 — ข้อ 29)

7. กำหนดเงื่อนไขในการลงนาม การให้สัตยาบัน การภาคยานุวัติ การเก็บรักษาและการลงทะเบียน การมีผลใช้บังคับ การใช้บังคับและการบอกเลิก และผู้เก็บรักษาสนธิสัญญา (ข้อ 30 — ข้อ 32)

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 ดังต่อไปนี้

1. กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายอื่นดำเนินการตามคำร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศได้ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 12 (ร่างมาตรา 3))

2. กำหนดให้ผู้ประสานงานกลางมีอำนาจส่งข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือทรัพย์สินใดไปให้ต่างประเทศเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวน การฟ้องคดี หรือการพิจารณาคดีในศาลแม้ประเทศนั้นยังมิได้ร้องขอ (เพิ่มเติมมาตรา 14/1 (ร่างมาตรา 4))

3. กำหนดให้ศาลส่งบันทึกคำเบิกความของพยานรวมทั้งพยานหลักฐานอื่นในสำนวนไปยังพนักงานอัยการผู้ยื่นคำร้องเพื่อส่งให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินการต่อไป (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 17 วรรคสาม (ร่างมาตรา 5))

4. เพิ่มเติมเรื่องการค้น อายัด หรือยึดทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐาน และเพื่อประโยชน์ชั้นที่สุดในการริบทรัพย์สินหรือในการบังคับบุคคลใดให้ชำระเงินแทนการริบทรัพย์สิน ในกรณีที่ศาลต่างประเทศยังไม่มีคำพิพากษา หรือคำสั่งให้อายัดหรือยึดทรัพย์สินนั้น แม้ว่าการกระทำความผิดอันเป็นเหตุให้มีการค้น อายัด หรือยึดจะมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร (แก้ไขเพิ่มเติมส่วนที่ 5 มาตรา 23 และมาตรา 24 และเพิ่มมาตรา 23/1 (ร่างมาตรา 6 — ร่างมาตรา 8))

5. เพิ่มเติมการโอนบุคคลซึ่งถูกคุมขังให้ครอบคลุมถึงการโอนบุคคลซึ่งถูกคุมขังเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินคดีทั้งชั้นเจ้าพนักงานและชั้นศาล (แก้ไขเพิ่มเติมส่วนที่ 6 มาตรา 26 มาตรา 27 และมาตรา 28 (ร่างมาตรา 9))

6. กำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการกรณีที่ได้รับคำร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ให้บุคคลซึ่งถูกควบคุมโดยประเทศผู้ร้องขอหรือประเทศที่สามเดินทางผ่านประเทศไทยเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินคดีชั้นเจ้าพนักงานหรือชั้นศาลในประเทศผู้ร้องขอ (เพิ่มเติมมาตรา 29/1 (ร่างมาตรา 10))

7. กำหนดหลักเกณฑ์การริบหรือยึดทรัพย์สินให้ครอบคลุมการอายัดทรัพย์สินและการบังคับชำระเงินแทนการริบทรัพย์สินตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลต่างประเทศ (แก้ไขเพิ่มเติมส่วนที่ 9 มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 35 และเพิ่มมาตรา 35/1 (ร่างมาตรา 11))

8. กำหนดให้บรรดาพยานหลักฐาน เอกสาร และข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตามกฎหมายนี้ เป็นพยานหลักฐานและเอกสารที่รับฟังได้ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 41 (ร่างมาตรา 12))

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มกราคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ