สถานการณ์ราคาและการผลิตสินค้าเกษตรเดือนเมษายน 2553 และแนวโน้มเดือนพฤษภาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 26, 2010 14:42 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบสถานการณ์ราคาและการผลิตสินค้าเกษตรเดือนเมษายน 2553 และแนวโน้มเดือนพฤษภาคม 2553 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า ด้วยสถานการณ์สินค้าเกษตรมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการจัดทำดัชนีราคาสินค้าเกษตรและดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรทุกเดือน พร้อมทั้งมีการติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อติดตาม และเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านราคาและการผลิตสินค้าเกษตร ทำให้ทราบถึงแนวโน้มของปัญหาที่จะเกิดขึ้นในภาคเกษตรจึงจำเป็นต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อทราบสถานการณ์และหากสินค้าใดมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาจะได้แก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที

สาระสำคัญ

1. ผลผลิตออกสู่ตลาดมากเดือนเมษายน ได้แก่ ข้าวนาปรัง ปาล์มน้ำมัน และทุเรียน ในเดือนพฤษภาคม ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมาก ได้แก่ ข้าวนาปรัง สับปะรดโรงงาน ทุเรียน มังคุด เงาะ และลิ้นจี่ โดยคาดว่าจะออกสู่ตลาด คิดเป็นร้อยละ 20.81 13.49 34.79 23.15 26.93 และ 61.74 ของผลผลิตทั้งหมดตามลำดับ

ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา เดือนเมษายน 2553 สินค้าหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น จากเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะ มันสำปะหลัง ยางพารา และสุกร สินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง ปาล์มน้ำมัน และไก่เนื้อ ในเดือนพฤษภาคมคาดว่าสินค้าส่วนใหญ่ราคาจะทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังคงมีสินค้าที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่ ข้าวนาปรัง และผลไม้

2. ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรของเดือนเมษายน 2553 เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้นร้อยละ 20.14 โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ และเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สูงขึ้นร้อยละ 2.75 โดยสินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา และสุกร ส่วนสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง ปาล์มน้ำมัน และไก่เนื้อ ในเดือนพฤษภาคม คาดว่าดัชนีราคาจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนเมษายน และภาพรวมด้านการผลิตสินค้าเกษตร เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 0.46 สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลงได้แก่ ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ไก่เนื้อ และไข่ไก่ และเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 9.64 สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลงได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง ยางพารา ไก่เนื้อและไข่ไก่ ในเดือนพฤษภาคม คาดว่าดัชนีผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากยางพารา ปาล์มน้ำมัน ปศุสัตว์และผลไม้ จะออกสู่ตลาดมากขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 พฤษภาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ