สรุปผลการเจรจาและการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในภารกิจของกระทรวงมหาดไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 30, 2010 15:08 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการเจรจาและการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในภารกิจของกระทรวงมหาดไทย ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ดังนี้

ตามที่รัฐบาลนำโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบที่มีมูลหนี้ไม่เกิน 200,000 บาท ไปลงทะเบียนกับธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ทุกสาขา ในระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2552 ถึงวันที่ 29 มกราคม 2553 และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบเจรจาหนี้ที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบธนาคารได้ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2553 อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 45,000,000 บาท ให้แก่กระทรวงมหาดไทยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ นั้น

กระทรวงมหาดไทยขอเรียนว่า ในการดำเนินการเจรจาหนี้นอกระบบดังกล่าวข้างต้น กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบกระทรวงมหาดไทยขึ้น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับกระทรวง ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ มีการแต่งตั้งคณะทำงานเจรจาหนี้นอกระบบ จำนวน 6,095 คณะ โดยมอบหมายให้บุคลากรจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จำนวนทั้งสิ้น 52,943 คน เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน และได้จัดสรรงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรดังกล่าวข้างต้น ให้แก่จังหวัด และอำเภอ เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเรียบร้อยแล้ว สำหรับผลการดำเนินงานปรากฏว่าสามารถเชิญลูกหนี้นอกระบบที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบธนาคารได้ จำนวน 756,073 ราย เข้าสู่กระบวนการเจราจาได้ครบถ้วนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2553 โดยมีรายละเอียดดังนี้

ข้อมูลการลงทะเบียนหนี้นอกระบบ ผู้ลงทะเบียนปัญหาหนี้นอกระบบ จำนวนทั้งสิ้น 1,181,133 ราย มูลหนี้ 122,406,236,981.22 บาท คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 266/2552 ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2553 มีมติเห็นชอบให้แบ่งกลุ่มลูกหนี้นอกระบบออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

1. ลูกหนี้ที่มีมูลหนี้ไม่เกิน 50,000 บาท จำนวน 425,060 ราย มูลหนี้ 30,693,300,375 บาท ธนาคารสามารถอนุมัติสินเชื่อได้ จึงมอบหมายให้ธนาคารที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบเจรจาหนี้และโอนหนี้เข้าสู่ระบบได้

2. ลูกหนี้ที่มีมูลหนี้ตั้งแต่ 50,001 — 200,000 บาท จำนวนทั้งสิ้น 756,073 ราย มูลหนี้ 91,713,236,606 บาท มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบในการเจรจาหนี้ และจัดส่งให้ธนาคารโอนหนี้เข้าสู่ระบบต่อไป

ขั้นตอนการดำเนินการเจรจาหนี้นอกระบบของกระทรวงมหาดไทย

กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งองค์กรในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยจัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ กระทรวงมหาดไทย 3 ระดับ ได้แก่

ระดับกระทรวงมหาดไทย มีนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ โดยมีรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการและเลขานุการ ทำหน้าที่อำนวยการ กำกับดูแล และติดตามประเมินผลการดำเนินงานระดับจังหวัด

ระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ โดยมีปลัดจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการศูนย์ฯ ทำหน้าที่สนับสนุนการเจรจาหนี้นอกระบบของอำเภอ และรวบรวมรายงานผลการปฏิบัติงาน ตลอดจนปัญหาอุปสรรค

ระดับอำเภอ มีนายอำเภอเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการทำหน้าที่เจรจาหนี้นอกระบบให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2553

โดยจัดสัมมนาปลัดจังหวัดและนายอำเภอ เพื่อซักซ้อมแนวทางการเจรจาหนี้และมาตรการบังคับใช้กฎหมาย โดยยึดหลัก 4 ประการ ได้แก่

1) หนี้นอกระบบมิใช่สิ่งเลวร้ายทั้งหมด บางกรณีสามารถเกื้อกูลกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับลูกหนี้

2) การดำเนินการต้องยึดหลักความถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย

3) การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นการช่วยเหลือทุกฝ่าย และ

4) การแก้ไขปัญหานี้นอกระบบผู้ปฏิบัติต้องไม่จ้องจับผิดเจ้าหนี้ว่าเป็นผู้กระทำความผิด ทั้งนี้ได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบตรวจติดตามผลการดำเนินการเป็นรายจังหวัด ในส่วนระดับอำเภอได้มอบหมายให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดทุกคนรับผิดชอบตรวจติดตามผลการดำเนินงานเป็นรายอำเภอ โดยกำหนดเป้าหมายให้เจรจาแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2553

ผลการดำเนินการ

กระทรวงมหาดไทยเริ่มเจรจาหนี้นอกระบบเมื่อได้รับข้อมูลลูกหนี้จากกระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 โดยแต่งตั้งคณะทำงานเจรจาหนี้นอกระบบ เพื่อทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยประนีประนอมหนี้ จำนวน 6,095 คณะ มีบุคลากรจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ เจ้าหน้าที่สรรพากร เจ้าหน้าที่ธนาคาร เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ มีจำนวนทั้งสิ้น 52,943 คน

ปัญหา อุปสรรค ที่พบในการเจรจาหนี้นอกระบบ

1. ลูกหนี้ขาดพยานหลักฐานหรือสัญญาการกู้ยืมเงิน หรือเอกสารการชำระเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ จึงต้องสอบสวนและแสวงหาข้อมูลก่อนการเจรจาหนี้เพิ่มเติม

2. คณะทำงานเจรจาหนี้ ขาดอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายเรียกเจ้าหน้าหนี้เข้าสู่กระบวนการเจรจาหนี้นอกระบบ

3. ลูกหนี้ขาดหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกันการกู้เงินจากธนาคาร

4. ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ ทั้ง 6 ธนาคาร ใช้หลักเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อไม่เหมือนกัน

5. ลูกหนี้ขาดการพัฒนาศักยภาพในการชำระหนี้และการฝึกอาชีพที่เหมาะสม

แนวทางการดำเนินการต่อไป

กระทรวงมหาดไทยดำเนินการเจรจาหนี้นอกระบบเสร็จแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จ ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบสำเร็จจนทำให้ประชาชนได้รับสินเชื่อจากธนาคารทุกราย กระทรวงมหาดไทยจึงกำหนดแนวทางการดำเนินงานต่อไป ดังนี้

1. มอบหมายผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ กำกับ ติดตาม ผลการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของธนาคารสาขาในพื้นที่ หากพบปัญหาอุปสรรคให้เร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วน

2. รวบรวมข้อมูลลูกหนี้ที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบธนาคาร ได้ทุกพื้นที่ เพื่อร่วมกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือต่อไป

3. บังคับใช้กฎหมายกรณีพบการกระทำความผิด

4. จัดสัมมนาปลัดจังหวัดและนายอำเภอ เพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหานี้นอกระบบอย่างยั่งยืนต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ