ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการจัดระเบียบสังคม พ.ศ. 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 30, 2010 15:19 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการจัดระเบียบสังคม พ.ศ.2553 ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ ดังนี้

ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2545 ให้สำนักงานสถิติแห่งชาติจัดเก็บข้อมูลและสถิติตัวเลข รวมทั้งสำรวจและสอบถามประชาชนเกี่ยวกับนโยบายหลักๆ ของรัฐบาลแล้วรายงานคณะรัฐมนตรีทราบ ในการนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการจัดระเบียบสังคม พ.ศ. 2553 โดยสอบถามประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ทุกจังหวัดทั่วประเทศ มีประชาชนถูกเลือกเป็นตัวอย่างทั้งสิ้น จำนวน 10,800 คน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 1 — 20 มีนาคม 2553 เพื่อเป็นแนวทางในการติดตาม ปรับปรุง และวางแผนการดำเนินมาตรการเกี่ยวกับการจัดระเบียบสังคม ทำให้สังคมสงบสุข และน่าอยู่ โดยมีสาระสำคัญจากความคิดเห็นของประชาชนประมวลและสรุปได้ ดังนี้

1. ประชาชนร้อยละ 20.4 ระบุว่ามีสมาชิกในครัวเรือนเล่นเกมออนไลน์ และร้อยละ 79.6 ระบุว่าไม่มีสมาชิกในครัวเรือนเล่นเกมออนไลน์ โดยสมาชิกในครัวเรือนที่เล่นเกมออนไลน์นั้น ร้อยละ 7.1 เป็นผู้ตอบสัมภาษณ์เล่นร้อยละ 13.2 เป็นสมาชิกในครัวเรือนเล่น และร้อยละ 0.1 เป็นผู้ตอบสัมภาษณ์และสมาชิกในครัวเรือนเล่น โดยครัวเรือนที่มีสมาชิกเล่นเกมออนไลน์ร้อยละ 59.3 ระบุว่าเล่นที่ร้านเกม-อินเทอร์เน็ต และร้อยละ 38.5 ระบุว่าเล่นที่บ้าน ส่วนร้อยละ 1.2 ระบุว่าเล่นที่โรงเรียน/สถานศึกษา และร้อยละ 1.0 ระบุว่าเล่นที่ทำงาน

2. ประชาชนร้อยละ 74.2 ระบุว่าการเล่นเกมออนไลน์มีผลกระทบที่ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม และร้อยละ 3.9 ระบุว่าไม่มีผลกระทบ ส่วนร้อยละ 21.9 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ โดยผู้ที่ระบุว่ามีผลกระทบเห็นว่าผลกระทบที่มีอยู่ในระดับมากที่สุดร้อยละ 11.7 มากร้อยละ 28.1 ปานกลางร้อยละ 24.4 น้อยร้อยละ 8.2 และน้อยที่สุดร้อยละ 1.8

3. ประชาชนร้อยละ 37.7 ได้ให้ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาเกมออนไลน์ ดังนี้ การจัดระเบียบร้านเกม-อินเทอร์เน็ต (ร้อยละ 36.6) การแบ่งระดับของเกมออนไลน์ตามอายุของผู้เล่น (ร้อยละ 24.4) การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับเกมออนไลน์อย่างเข้มงวด (ร้อยละ 18.8) การควบคุม เกมออนไลน์ในร้านเกม—อินเทอร์เน็ต (ร้อยละ 12.2) การควบคุมเกมออนไลน์ที่ล่อแหลม หลอกลวง (ร้อยละ 11.9) และไม่ควรให้เล่นเกมออนไลน์ในร้านเกม-อินเทอร์เน็ต (ร้อยละ 10.6) เป็นต้น

4. ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน/หมู่บ้านที่มีสถานบันเทิง/สถานบริการ ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ดังนี้

4.1 ประชาชนร้อยละ 32.8 ระบุว่ามีสถานบันเทิง/สถานบริการเปิด—ปิด เกินเวลา ร้อยละ 35.1 ระบุว่าไม่มีสถานบันเทิง/สถานบริการเปิด—ปิด เกินเวลา และร้อยละ 32.1 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ ในขณะที่มีประชาชนร้อยละ 28.9 ระบุว่ามีสถานบันเทิง/สถานบริการส่งเสียงดังรบกวน ร้อยละ 51.3 ระบุว่าไม่มีสถานบันเทิง/สถานบริการส่งเสียงดังฯ และร้อยละ 19.8 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ นอกจากนั้นประชาชนร้อยละ 38.6 ระบุว่ามีการปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าไปในสถานบันเทิง/สถานบริการ ร้อยละ 23.1 ระบุว่าไม่มีการปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าไปในสถานบันเทิงฯ และร้อยละ 38.4 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

4.2 ประชาชนร้อยละ 21.8 ระบุว่ามีการตรวจบัตรประชาชนผู้ที่เข้ามาใช้บริการในสถานบันเทิง/สถานบริการ ร้อยละ 34.0 ระบุว่าไม่มีการตรวจบัตรประชาชนฯ และร้อยละ 44.2 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

5. ร้านค้าแอบแฝง : ร้านค้าที่ลักลอบจำหน่ายสินค้าหรือบริการที่ผิดกฎหมาย ประชาชนร้อยละ 9.6 ระบุว่ามีร้านค้าแอบแฝงฯ ในชุมชน/หมู่บ้าน และร้อยละ 90.4 ระบุว่าไม่มีร้านค้าแอบแฝงฯ ส่วนประชาชนร้อยละ 33.5 ระบุว่ามีร้านค้าที่จำหน่ายสุราและบุหรี่ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในชุมชน/หมู่บ้าน ร้อยละ 42.8 ระบุว่าไม่มีร้านค้าดังกล่าว และร้อยละ 23.7 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ ในขณะที่ประชาชนร้อยละ 33.9 ระบุว่ามีร้านขายเครื่องดื่มแอลกฮอล์ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับสถานศึกษา/ศาสนสถาน ร้อยละ 54.3 ระบุว่าไม่มีร้านขายเครื่องดื่มแอลกฮอล์ดังกล่าว และร้อยละ 11.8 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

6. ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน/หมู่บ้านที่มีหอพัก บ้านเช่า อพาร์ทเมนต์ และคอนโดมิเนียม ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ดังนี้

6.1 ประชาชนร้อยละ 16.1 ระบุว่ามีการมั่วสุมเสพยาเสพติดในหอพัก บ้านเช่า อพาร์ทเมนต์ และคอนโดมิเนียม ร้อยละ 41.9 ระบุว่าไม่มีการมั่วสุมเสพยาเสพติดฯ และร้อยละ 42.0 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ ส่วนประชาชนร้อยละ 8.9 ระบุว่ามีการซื้อขายยาเสพติดในหอพัก บ้านเช่า อพาร์ทเมนต์ และคอนโดมิเนียม ร้อยละ 42.6 ระบุว่าไม่มีการซื้อขายยาเสพติดฯ และร้อยละ 48.5 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ ในขณะที่ประชาชนร้อยละ 39.5 ระบุว่ามีการมั่วสุมดื่มสุราในหอพัก บ้านเช่า อพาร์ทเมนต์ และคอนโดมิเนียม ร้อยละ 30.3 ระบุว่าไม่มีการมั่วสุมดื่มสุราฯ และร้อยละ 30.2 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

6.2 ประชาชนร้อยละ 19.0 ระบุว่ามีการตรวจค้น จับกุม ปราบปรามแหล่งมั่วสุมของเยาวชนในหอพัก บ้านเช่า อพาร์ทเมนต์ และคอนโดมิเนียม และร้อยละ 41.7 ระบุว่าไม่มีการตรวจค้นฯ ส่วนร้อยละ 39.3 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

7. ประชาชนร้อยละ 5.9 ระบุว่ามีการซื้อขายยาเสพติดในร้านเกม—อินเทอร์เน็ต ร้อยละ 46.8 ระบุว่าไม่มีการซื้อขายยาเสพติดฯ และร้อยละ 47.3 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ ในขณะที่ประชาชนร้อยละ 9.0 ระบุว่ามีการมั่วสุมเสพยาเสพติดในร้านเกม—อินเทอร์เน็ต ร้อยละ 45.4 ระบุว่าไม่มีการมั่วสุมเสพยาเสพติดฯ และร้อยละ 45.6 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ แต่ก็มีประชาชนร้อยละ 19.3 ระบุว่ามีการตรวจค้น จับกุม ปราบปรามแหล่งมั่วสุมของเยาวชนในร้านเกม—อินเทอร์เน็ต ร้อยละ 41.2 ระบุว่าไม่มีมีการตรวจค้นฯ และร้อยละ 39.5 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

8. ประชาชนเห็นว่าในชุมชน/หมู่บ้านมีเหตุการณ์ต่อไปนี้ คือ การเที่ยวเตร็ดเตร่ของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในช่วงเวลาหลัง 22.00 น. (ร้อยละ 38.2) การมั่วสุมรวมกลุ่มกันของเด็กและเยาวชน (ร้อยละ 27.4) การมั่วสุมของเด็กนักเรียน/เยาวชน/เด็กเร่ร่อนในมุมอับ/ที่ลับตาคน/สวนสาธารณะ (ร้อยละ 20.0) และการขายบริการทางเพศในสวนสาธารณะ (ร้อยละ 3.4)

9. มาตรการการจัดระเบียบสังคมที่ประชาชนเห็นว่ามีในชุมชน/หมู่บ้านมากที่สุด คือ การดำเนินการกวดขัน สอดส่อง ควบคุม สถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดยาเสพติดของคนในชุมชน/หมู่บ้าน (ร้อยละ 64.2) ตามด้วย การจัดลานกีฬา/ลานดนตรี (ร้อยละ 61.3) การจัดสถานที่ออกกำลังกาย/สวนสาธารณะ (ร้อยละ 60.8) การร่วมกันของเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินการกวดขัน สอดส่อง ควบคุม สถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดยาเสพติด (ร้อยละ 59.5) การจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ (ร้อยละ 58.7) การกวดขัน สอดส่อง ควบคุมการมั่วสุมรวมกลุ่มของแกงค์รถซิ่ง (ร้อยละ 29.2) การตรวจค้นจับกุม ปราบปรามแหล่งมั่วสุมของเด็ก/นักเรียน/เยาวชน/เด็กเร่รอนในสวนสาธารณะ/มุมอับ/ที่ลับตาคน (ร้อยละ 27.1) และการตรวจค้น จับกุม ปราบปรามการขายบริการทางเพศในสวนสาธารณะ (ร้อยละ 17.4)

10. ประชาชนเห็นว่าปัญหาสังคมที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไข 5 อันดับแรก คือ ยาเสพติด (ร้อยละ 82.4) การทุจริตคอรัปชัน (ร้อยละ 50.6) อาชญากรรม (ร้อยละ 32.6) อบายมุข เช่น การพนัน หวยใต้ดิน ฯลฯ (ร้อยละ 23.4) และการประพฤติผิดทางเพศ/การมั่วสุมทางเพศ (ร้อยละ 21.8)

11. แหล่ง/สถานที่ที่ประชาชนต้องการให้หน่วยงานภาครัฐเข้าไปดูแลแก้ไข 5 อันดับแรก คือ สถานบันเทิง/สถานบริการ (ร้อยละ 63.9) ร้านเกม-อินเทอร์เน็ต (ร้อยละ 55.9) แหล่งอบายมุข เช่น สถานที่รับซื้อหวยใต้ดิน รับพนันบอล ฯลฯ (ร้อยละ 44.1) ชุมชนแออัด (ร้อยละ 26.1) และหอพัก บ้านเช่า อพาร์ทเมนต์ คอนโดมิเนียม (ร้อยละ 23.4)

12. ประชาชนร้อยละ 32.2 ระบุว่ารัฐบาลควรดำเนินมาตรการการจัดระเบียบสังคมให้เข้มงวดมากกว่านี้ ร้อยละ 67.7 ระบุว่าการดำเนินมาตรการฯ ดีแล้ว และร้อยละ 0.1 ระบุว่าการดำเนินมาตรการฯ เข้มงวดเกินไป โดยเรื่องที่ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลควรเข้มงวดมากที่สุด คือ การมั่วสุมของเด็ก/เยาวชนในการเสพยาเสพติด

13. ประชาชนร้อยละ 35.1 ได้ให้ข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินมาตรการการจัดระเบียบสังคมให้ประสบผลสำเร็จ ดังนี้ การกวดขัน ควบคุม ดูแลอย่างต่อเนื่องและจริงจังของเจ้าหน้าที่รัฐมากที่สุด (ร้อยละ 44.2) ตามด้วย การออกกฎหมาย/มีบทลงโทษที่รุนแรงเพื่อควบคุมปัญหาต่างๆ (ร้อยละ 27.1) การเพิ่มเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอสำหรับการตรวจตราสถานที่ต่างๆ (ร้อยละ 21.9) และการให้คนในชุมชน/ครอบครัวช่วยกันสอดส่อง ดูแล (ร้อยละ 11.1) เป็นต้น

14. ประชาชนร้อยละ 14.9 ระบุว่าประสบปัญหาความเดือดร้อนจากการซื้อ/ใช้สินค้า และร้อยละ 85.1 ระบุว่าไม่ประสบปัญหา โดยเรื่องที่ประสบปัญหา คือ เรื่องอาหาร/เครื่องดื่ม/เสื้อผ้า (ร้อยละ 72.5) เครื่องใช้ไฟฟ้า/มือถือ (ร้อยละ 36.2) ยา/เครื่องสำอาง (ร้อยละ 26.8) รถยนต์/รถจักรยานยนต์ (ร้อยละ 10.7) และบ้าน/อสังหาริมทรัพย์ (ร้อยละ 6.7)

15. ประชาชนร้อยละ 14.2 ระบุว่าประสบปัญหาความเดือดร้อนจากการใช้บริการ และร้อยละ 85.8 ระบุว่าไม่ประสบปัญหา โดยเรื่องที่ประสบปัญหา คือ การบริการรักษาพยาบาล (ร้อยละ 58.5) การบริการเครือข่ายโทรศัพท์ เคลื่อนที่/จานดาวเทียม (ร้อยละ 39.4) การบริการขนส่งสาธารณะ (ร้อยละ 34.5) บัตรเครดิต/การประกัน (ร้อยละ 12.7) และการรับบริการประปา ไฟฟ้า ที่ดิน ไปรษณีย์ ธนาคาร (ร้อยละ 1.4)

16. ประชาชนที่เคยร้องเรียนกับหน่วยงาน/บุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งมีร้อยละ 38.4 ระบุว่าเรื่องที่ร้องเรียนได้รับการแก้ไข ร้อยละ 12.5 ระบุว่าเรื่องที่ร้องเรียนอยู่ระหว่างดำเนินการ และร้อยละ 29.9 ระบุว่าไม่ได้รับการแก้ไข ส่วนร้อยละ 19.2 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

17. ประชาชนร้อยละ 28.1 ได้แสดงความคิดเห็นและให้ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิ/ประโยชน์ของผู้บริโภค ดังนี้ การมีบทลงโทษที่เด็ดขาดกับผู้ประกอบการธุรกิจที่กระทำความผิด (ร้อยละ 31.0) การตรวจสอบคุณภาพ/มาตรฐานของสินค้าก่อนออกสู่ท้องตลาด (ร้อยละ 21.7) การควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (ร้อยละ 21.7) และการควบคุมให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจตราอย่างจริงจัง ไม่คอรัปชั่น (ร้อยละ 18.9) เป็นต้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ