สรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนมีนาคม พ.ศ. 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 30, 2010 15:47 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลสรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนมีนาคม พ.ศ. 2553 ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ดังนี้

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เป็นประจำทุกเดือน โดยสอบถามประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่าง ทุกจังหวัดทั่วประเทศมีครัวเรือนตกเป็นตัวอย่าง 26,520 ครัวเรือนต่อเดือน สำหรับในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2553 ในภาพรวมสถานการณ์แรงงาน จำนวนผู้ว่างงานลดลง 3.43 แสนคน (จาก 7.11 แสนคน เป็น 3.68 แสนคน) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 หากเปรียบเทียบกับช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 จำนวนผู้ว่างงานลดลง 1.5 หมื่นคน (จาก 3.83 แสนคน เป็น 3.68 แสนคน) สำหรับสาระสำคัญการสำรวจ สรุปได้ ดังนี้

1. ผู้อยู่ในกำลังแรงงาน

ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 38.29 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 37.60 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.68 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 3.17 แสนคน ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 จำนวน 7.1 แสนคน (จาก 37.58 ล้านคน เป็น 38.29 ล้านคน)

2. ผู้มีงานทำ

2.1 ผู้มีงานทำ 37.60 ล้านคน เพิ่มจากช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 จำนวน 1.03 ล้านคน (จาก 36.57 ล้านคน เป็น 37.60 ล้านคน) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 ซึ่งมีผู้ทำงานเพิ่มขึ้นและลดลงในสาขาต่างๆ ดังนี้

(1) ผู้ทำงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผู้ทำงานในสาขาการโรงแรมและภัตตาคารมากที่สุด เพิ่มขึ้น 2.6 แสนคน (จาก 2.55 ล้านคน เป็น 2.81 ล้านคน) สาขาการขายส่ง ขายปลีกฯ เพิ่มขึ้น 2.2 แสนคน (จาก 6.21 ล้านคน เป็น 6.43 ล้านคน) สาขาการศึกษา เพิ่มขึ้น 1.6 แสนคน (จาก 1.10 ล้านคน เป็น 1.26 ล้านคน) สาขาอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้น 7.0 หมื่นคน (จาก 7.70 แสนคน เป็น 8.40 ล้านคน) และสาขาเกษตรกรรม 5.5 แสนคน (จาก 12.51 ล้านคน เป็น 13.06 ล้านคน) ตามลำดับ

(2) ผู้ทำงานลดลง ได้แก่ สาขาการขนส่งฯ ลดลง 9 หมื่นคน (จาก 1.29 ล้านคน เป็น 1.20 ล้านคน) สาขาการก่อสร้างลดลง 9 หมื่นคน (จาก 2.74 ล้านคน เป็น 2.65 ล้านคน) และสาขาการผลิตลดลง 2 หมื่นคน (จาก 5.65 ล้านคน เป็น 5.63 ล้านคน) เมื่อพิจารณาในสาขาการผลิตย่อยมีผู้ทำงานลดลงในสาขาการผลิตเครื่องแต่งกาย 6.4 หมื่นคน (จาก 7.50 แสนคน เป็น 6.86 แสนคน) การผลิตสิ่งทอ 3.7 หมื่นคน (จาก 3.82 แสนคน เป็น 3.45 แสนคน) การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะประดิษฐ์ 3.2 หมื่นคน (จาก 3.69 แสนคน เป็น 3.37 แสนคน) การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 3 หมื่นคน (จาก 2.90 แสนคน เป็น 2.60 แสนคน) การผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม 2.4 หมื่นคน (จาก 11.48 แสนคน เป็น 11.25 แสนคน) การผลิตโลหะขั้นมูลฐาน 1.6 หมื่นคน (จาก 1.03 แสนคน เป็น 8.67 หมื่นคน) ตามลำดับ ส่วนสาขาการผลิตย่อยที่เพิ่มขึ้น เป็นการผลิตเฟอร์นิเจอร์ 6.1 หมื่นคน การผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ 4.6 หมื่นคน การผลิตเครื่องจักรและเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า 2.6 หมื่นคน การพิมพ์โฆษณา 2 หมื่นคน ที่เหลืออยู่ในสาขาการผลิตอื่น ๆ

2.2 ผู้ทำงานได้ไม่เต็มเวลา (ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) มีจำนวน 6.48 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 17.2 ของผู้ทำงานทั้งหมด หากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 (จากร้อยละ 16.8 เป็นร้อยละ 17.2) สำหรับผู้ทำงานได้เต็มเวลา (ทำงานตั้งแต่ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) มีจำนวน 31.12 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 82.8 ของผู้ทำงานทั้งหมด

3. ผู้ว่างงาน

3.1 ผู้ว่างงานทั่วประเทศมีจำนวน 3.68 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม (ลดลง 3.43 แสนคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552) ประกอบด้วย ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 1.13 แสนคน อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 2.55 แสนคน โดยเป็นผู้ว่างงานที่มาจากภาคการผลิต 1.1 แสนคน ภาคการบริการและการค้า 8.94 หมื่นคน และภาคเกษตรกรรม 5.51 หมื่นคน

3.2 ผู้ว่างงานเป็นผู้มีการศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษามากที่สุดจำนวน 1.16 แสนคนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 8.1 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 6.8 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา 6.7 หมื่นคน และไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 3.6 หมื่นคน ตามลำดับ

3.3 ผู้ว่างงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด 1.3 แสนคน ภาคกลาง 9.8 หมื่นคน ภาคใต้ 6.6 หมื่นคน ภาคเหนือ 4.7 หมื่นคน และกรุงเทพมหานคร 2.7 หมื่นคน ตามลำดับ หากคิดเป็นอัตราการว่างงานภาคใต้เป็นภาคที่มีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 1.3 ส่วนภาคที่มีอัตราการว่างงานต่ำสุดเป็นภาคเหนือและกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 0.7

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ