สรุปผลการประชุมคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ครั้งที่ 7/2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 1, 2010 11:46 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ รับทราบ และอนุมัติตามที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) ประธานกรรมการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม เสนอ ทั้ง 7 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบแนวทางการดำเนินการตามหลักเกณฑ์มาตรการช่วยเหลือพิเศษให้แก่ผู้ประสบภัยที่ถูกเพลิงไหม้อันเนื่องมาจากการชุมนุมโดยตรงฯ (มาตรการเงินสดและมาตรการภาษี) และอนุมัติการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในลักษณะการฝากขายสินค้าซึ่งไม่มีพื้นที่ใช้ทำธุรกิจและได้รับความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ ทั้งมาตรการเงินสดและมาตรการภาษี เพิ่มเติม นอกเหนือจากการช่วยเหลือเป็นตารางเมตร ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 โดยในส่วนของมาตรการเงินสดให้ช่วยเหลือตามความเสียหายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้เดิม และให้สำนักงานปลัดกระทรวงการคลังเป็นหน่วยดำเนินการและกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินให้แก่ผู้ประกอบการ ในลักษณะการฝากขายสินค้าต่อไป ตามข้อ 1.1

2. รับทราบการรวบรวมหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามมาตรการให้ความช่วยเหลือกรณีค่าจ้างพนักงานแก่ผู้ประกอบการที่รักษาสภาพการจ้างงาน ตามข้อ 1.2 การดำเนินการเรื่องการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ตามข้อ 1.3 ความคืบหน้าการดำเนินการเรื่องขอขยายเวลาเช่าพื้นที่การรถไฟแห่งประเทศไทยของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว ตามข้อ 1.5

3. อนุมัติตามมติคณะกรรมการฯ เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีประกันภัยซึ่งได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ (มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองที่ยังไม่ได้รับการชดเชยจากบริษัทประกันภัย) ตามข้อ 1.4

4. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป จำนวน 106,292,280 บาท ให้สำนักงานประกันสังคม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการซึ่งรักษาสภาพการจ้างไว้ ตามข้อ 1.6 โดยใช้หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติในการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม กรณีค่าจ้างที่คณะรัฐมนตรีได้เคยให้ความเห็นชอบไว้แล้ว ทั้งนี้ หากมีกรณีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุม ทั้งกรณีปิดกิจการชั่วคราวและกรณีถูกเพลิงไหม้ ยังมิได้รับความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายพนักงานที่เกิดจากการสำรวจข้อมูลไม่ครอบคลุมหรือครบถ้วน ถ้าการขอรับความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นไปตามหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้ให้ผู้ประกอบการดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือกรณีค่าจ้างด้วย โดยให้กระทรวงแรงงาน (สำนักงานประกันสังคม) เป็นผู้พิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นรายกรณี โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณคงเหลือกรณีค่าใช้จ่ายพนักงานที่สำนักงบประมาณได้อนุมัติให้สำนักงานประกันสังคมไปแล้ว

5. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป จำนวน 6,325,203.87 บาท เพื่อชดเชยเงินเพิ่มให้แก่กรุงเทพมหานคร ซึ่งผ่อนผันการชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินให้แก่ผู้ประกอบการที่ถูกเพลิงไหม้ ตามข้อ 1.7

6. อนุมัติให้สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานดำเนินการเรื่องการเช่าพื้นที่ห้างสรรพสินค้าแฟชั่นมอลล์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการซึ่งถูกเพลิงไหม้จาก ห้างเซ็นเตอร์ วัน โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานขอรับการจัดสรรงบประมาณ กำหนด หลักเกณฑ์ และเบิกจ่ายงบประมาณให้แก่ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ตามพื้นที่ที่ใช้จริง ภายในกรอบวงเงินงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการไว้เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 ต่อไป

7. เห็นชอบการยุติภารกิจของคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ตามข้อ 1.9 โดยให้ส่วนราชการต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในแต่ละมาตรการเป็นผู้วินิจฉัยและแก้ไขปัญหา หากมีปัญหาที่เป็นเรื่องสำคัญหรือกรณีจำเป็นให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณา และแจ้งให้ส่วนราชการดำเนินการต่อไป

ข้อเท็จจริง

ด้วยคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ได้มีการประชุม ครั้งที่ 7/2553 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2553 และมีมติรับทราบเรื่องต่างๆ และเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม เพิ่มเติมจากที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติไว้ ดังนี้

1.1 แนวทางการดำเนินการตามหลักเกณฑ์มาตรการช่วยเหลือพิเศษให้แก่ผู้ประสบภัยที่ถูกเพลิงไหม้อันเนื่องมาจากการชุมนุมโดยตรง และผู้ประกอบการที่ไม่ได้ถูกเพลิงไหม้โดยตรง แต่ได้รับความเสียหายเกี่ยวเนื่องจากเพลิงไหม้ เช่น น้ำดับเพลิง สารเคมี และควันไฟ(มาตรการเงินสดและมาตรการภาษี)

มติคณะกรรมการฯ คณะกรรมการฯ ได้มีมติรับทราบและเห็นชอบแนวทางการดำเนินการตามหลักเกณฑ์มาตรการช่วยเหลือพิเศษให้แก่ผู้ประสบภัยที่ถูกเพลิงไหม้อันเนื่องมาจากการชุมนุมโดยตรง และผู้ประกอบการที่ไม่ได้ถูกเพลิงไหม้โดยตรง แต่ได้รับความเสียหายเกี่ยวเนื่องจากเพลิงไหม้ เช่น น้ำดับเพลิง สารเคมี และควันไฟ (มาตรการเงินสดและมาตรการภาษี) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และมีมติ เห็นชอบให้ขออนุมัติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในลักษณะการฝากขายสินค้า ซึ่งไม่มีพื้นที่ใช้ทำธุรกิจและได้รับความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ เพิ่มเติม นอกเหนือจากการช่วยเหลือเป็นตารางเมตรที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติไว้เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 โดยให้ผู้ประกอบการในลักษณะการฝากขายสินค้าได้รับความช่วยเหลือทั้งมาตรการเงินสดและมาตรการภาษี โดยในส่วนของมาตรการเงินสดให้ช่วยเหลือตามความเสียหายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้เดิม และให้สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง เป็นหน่วยดำเนินการและกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินให้แก่ผู้ประกอบการในลักษณะการฝากขายสินค้าต่อไป

1.2 หลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามมาตรการให้ความช่วยเหลือกรณีค่าจ้างพนักงานแก่ผู้ประกอบการที่รักษาสภาพการจ้างงาน

สมาคมผู้ประกอบการวิสาหกิจย่านราชประสงค์ ขอให้รวบรวมหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามมาตรการให้ความช่วยเหลือกรณีค่าจ้างพนักงานแก่ผู้ประกอบการที่รักษาสภาพการจ้างงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการประชาสัมพันธ์และชี้แจงผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้แก่สมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์

มติคณะกรรมการฯ ได้มีมติรับทราบและเห็นชอบหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามมาตรการให้ความช่วยเหลือกรณีค่าจ้างพนักงานแก่ผู้ประกอบการที่รักษาสภาพ การจ้างงานของสมาคมผู้ประกอบการวิสาหกิจย่านราชประสงค์ ตามที่เสนอ

1.3 มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม

คณะกรรมการฯ ได้มีมติรับทราบรายงานการประชุมร่วมกันระหว่างประธานผู้แทนการค้าไทย หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม สมาคม ธนาคารไทย ว่า ผู้ประกอบการต่างชาติมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาเท่ากับผู้ประกอบการไทย ยกเว้นเรื่องการได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ซึ่งกฎหมายไม่อนุญาตให้กระทำได้ อย่างไรก็ตาม สมาคมธนาคารไทยได้ขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ที่ให้กู้แก่ผู้ประกอบการต่างชาติที่ได้รับผลกระทบในการขยายระยะเวลาใช้คืนเงินกู้แล้ว ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศฯ ขอรับจากผู้ประกอบการต่างชาติ ไม่ปรากฏว่า ผู้ประกอบการรายใดติดใจที่จะเรียกร้องสิทธิเพิ่มเติมในความเสียหายที่ได้รับจากเหตุเพลิงไหม้ โดยข้อมูลที่ได้รับเป็นกรณีการสูญเสียรายได้จากการที่ลูกค้าลดลงในช่วงดังกล่าว ซึ่งไม่อยู่ในมาตรการที่ให้ความช่วยเหลือของคณะกรรมการฯ อย่างไรก็ตาม ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศฯ รับที่จะแจ้งให้ผู้ประกอบการต่างชาติทราบถึงสิทธิในการเจรจาขอขยายระยะเวลาการใช้คืนเงินกู้ตามที่ได้รับแจ้งจากสมาคมธนาคารไทยด้วยแล้ว

1.4 มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีประกันภัยซึ่งได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ (มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองที่ยังไม่ได้รับการชดเชยจากบริษัทประกันภัย)

ประธานผู้แทนการค้าไทยได้รายงานผลสรุปมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมที่ยังไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย โดยสินเชื่อดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการซึ่งถูกเพลิงไหม้และยังไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยและอยู่ระหว่างดำเนินการเรียกร้องสิทธิ เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงสถานประกอบการหรือสต๊อกสินค้าที่ได้รับความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ หรือความเสียหายที่เกี่ยวเนื่องจากเหตุเพลิงไหม้ และจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีจำนวนผู้เอาประกันภัย 871 ราย โดยในจำนวนนี้ยังไม่แจ้งรายละเอียดความเสียหาย 284 ราย ในการนี้ สำนักงาน คปภ. ได้จำแนกเป็น ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 411 ราย และผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายไม่เกิน 5 ล้านบาท จำนวน 515 ราย รวมเป็นวงเงินค่าเสียหายประมาณ 2,700 กว่าล้านบาท

มติคณะกรรมการฯ คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเห็นว่า ขณะนี้ รัฐบาลได้สนับสนุนสินเชื่อผ่าน ธพว. เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทั้งที่ถูกเพลิงไหม้และไม่ได้ถูกเพลิงไหม้ ทั้งในลักษณะ Clean Loan และ Soft Loan ไปแล้วรวม 10,000 ล้านบาท และขณะนี้ยังมีวงเงินสินเชื่อดังกล่าวเหลืออยู่บางส่วน ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดความสับสนในทางปฏิบัติ จึงเห็นควรให้นำวงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาทดังกล่าวมาใช้สนับสนุนมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมที่ยังไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยด้วย หากไม่เพียงพอจึงขออนุมัติเพิ่มเติม และมอบหมายให้กระทรวงการคลัง ประธานผู้แทนการค้าไทย และ ธพว. รับไปกำหนดเงื่อนไขการให้สินเชื่อ โดยรับข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ ไปพิจารณา ในเรื่องวงเงินสินเชื่อที่จะให้ผู้ประกอบการแต่ละราย เรื่องอัตราดอกเบี้ยซึ่งเห็นว่าน่าจะใช้อัตราคงที่ร้อยละ 3 เป็นเวลา 6 ปี เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยของ Soft Loan เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่น รวมทั้ง เรื่องหลักฐานทางคดีที่จะนำมาใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ และโดยที่การให้สินเชื่อตามมาตรการนี้ยึดโยงกับเรื่องการเรียกร้องสิทธิจากบริษัทประกันภัย ดังนั้น ในภายหลังเมื่อมีข้อยุติว่า บริษัทประกันภัยต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ผู้กู้ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยแล้ว เห็นควรให้มีการโอนสิทธิดังกล่าวจากผู้กู้เป็น Prepayment ด้วย ทั้งนี้ หากผลการประชุมของกระทรวงการคลัง ประธานผู้แทนการค้าไทย และ ธพว. เป็นประการใด ให้นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณา และให้กระทรวงการคลังเร่งนำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

1.5 การขอขยายเวลาเช่าพื้นที่การรถไฟแห่งประเทศไทยของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว

กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2553 สรุปได้ว่า การขอขยายเวลาเช่าพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นโครงการพัฒนาที่ดินที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท การดำเนินการจึงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยจะจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และสำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในวันที่ 18 สิงหาคม 2553

มติคณะกรรมการฯ คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแล้ว มีมติมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ติดตามผลการประชุมดังกล่าวเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีได้รับทราบเป็นความคืบหน้าซึ่งฝ่ายเลขานุการฯ ได้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการฯ แล้ว ปรากฏความคืบหน้าว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ปรากฏผลการประชุมโดยสรุปว่า การจะเลื่อนเวลาปิดปรับปรุงห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าวออกไป และขยายเวลาเช่าพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย จากเดิมออกไปอีก 1 ปี ถือเป็นเรื่องที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของโครงการ หรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ของรัฐ หรือเป็นกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาที่มีผลเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของโครงการ การรถไฟแห่งประเทศไทยจะรายงานคณะกรรมการประสานงานตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 พิจารณาเพื่อนำเสนอรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดและคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

1.6 มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ชุมนุม กรณีผู้ประกอบการที่ทรัพย์สินถูกเพลิงไหม้อันเนื่องมาจากการชุมนุมโดยตรงเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 และรักษาสภาพการจ้างงานไว้

ฝ่ายเลขานุการฯ ได้รายงานว่า เดิมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม เพิ่มเติมจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2553 โดยเป็นผู้ประกอบการที่ทรัพย์สินถูกเพลิงไหม้อันเนื่องมาจากการชุมนุมโดยตรงเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 และรักษาสภาพการจ้างงานไว้ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่สยามสแควร์และห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์ วัน รวมจำนวนพนักงาน 2,425 คน เป็นเงิน 25,607,369 บาท แล้วนั้น

บัดนี้ มีผู้ประกอบการที่ทรัพย์สินถูกเพลิงไหม้อันเนื่องมาจากการชุมนุมโดยตรงแจ้งขอรับการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่มเติมจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติไปแล้ว ฝ่ายเลขานุการ จึงได้รวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการที่ทรัพย์สินถูกเพลิงไหม้อันเนื่องมาจากการชุมนุมดังกล่าว เพื่อนำเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาให้ความช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายพนักงานจำนวนหนึ่งเดือนเพิ่มเติม รวมจำนวนผู้ประกอบการ 975 ราย จำนวนพนักงาน 9,541 คน เป็นเงิน 106,292,280 บาท

มติคณะกรรมการฯ คณะกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่า การขอรับความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นไปตามกรอบที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติไว้ คณะกรรมการฯ จึงมีมติให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป จำนวน 106,292,280 บาท ให้สำนักงานประกันสังคม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการซึ่งรักษาสภาพการจ้างไว้ โดยใช้หลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติในการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม กรณีค่าจ้างที่คณะรัฐมนตรีได้เคยให้ความเห็นชอบไว้แล้ว

1.7 มาตรการผ่อนผันขยายเวลาการยื่นแบบและชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน สำหรับปีภาษี 2552

มติคณะกรรมการฯ คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเห็นว่า ขณะนี้ ผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมได้คลี่คลายลงไปมากแล้ว ในส่วนของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบสามารถดำเนินธุรกิจได้แล้ว เห็นควรที่จะผ่อนชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินได้ตามปกติแล้ว จึงเห็นสมควรให้ความช่วยเหลือโดยผ่อนผันการชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับปีภาษี 2552 เฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการที่ถูกเพลิงไหม้จากการชุมนุมโดยตรงหรือได้รับความเสียหายเกี่ยวเนื่องจากเพลิงไหม้ เช่น น้ำดับเพลิง สารเคมี และควันไฟ และมอบหมายให้กรุงเทพมหานครรับไปสำรวจข้อมูลตัวเลขผู้ประกอบการที่ถูกเพลิงไหม้ ที่ประสงค์จะขอผ่อนผันการชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน และจำนวนงบประมาณที่จะขอรับการสนับสนุน เพื่อให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งต่อมากรุงเทพมหานครได้มีหนังสือแจ้งข้อมูลผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมกรณีเพลิงไหม้ จำนวน 4 ราย รวมเป็นเงินภาษี 63,252,038.65 บาท คิดเป็นเงินเพิ่มที่ขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นเงิน 6,325,203.87 บาท

1.8 การเช่าพื้นที่ห้างสรรพสินค้าแฟชั่นมอลล์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการซึ่งถูกเพลิงไหม้จากห้างเซ็นเตอร์ วัน

มติคณะกรรมการฯ คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องค่าเช่า ซึ่งเดิมคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานเป็นหน่วยดำเนินการเรื่องค่าใช้จ่ายค่าเช่าให้แก่ผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากการชุมนุม คณะกรรมการฯ จึงมีมติมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานดำเนินการเรื่องการเช่าพื้นที่ห้างสรรพสินค้าแฟชั่นมอลล์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการซึ่งถูกเพลิงไหม้จากห้างเซ็นเตอร์ วัน โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานขอรับการจัดสรรงบประมาณ กำหนดหลักเกณฑ์ และเบิกจ่ายงบประมาณให้แก่ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ตามพื้นที่ที่ใช้จริง ภายในกรอบวงเงินงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการไว้เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 ต่อไป

1.9 การยุติภารกิจของคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม

คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเห็นว่า ขณะนี้ การดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 จนลุล่วงและมีมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม จนต้องปิดกิจการชั่วคราว และผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ประสบเหตุเพลิงไหม้อันเนื่องมาจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 โดยสรุปมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเป็นเอกสารไว้แล้ว และการให้ความช่วยเหลือได้กำหนดเป็นนโยบายและมอบหมายให้ส่วนราชการรับไปปฏิบัติให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมแล้ว คณะกรรมการฯ จึงมีมติเห็นสมควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อยุติภารกิจนับแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นต้นไป ทั้งนี้ หลังจากยุติภารกิจของคณะกรรมการฯ แล้ว

1.9.1 หากมีปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติตามมาตรการช่วยเหลือ เห็นสมควรให้ส่วนราชการ ต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในแต่ละมาตรการเป็นผู้วินิจฉัยและแก้ไขปัญหา

1.9.2 หากมีปัญหาที่เป็นเรื่องสำคัญหรือกรณีจำเป็นนอกเหนือจากข้อ 1.9.1 เห็นสมควรให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณา และแจ้งให้ส่วนราชการได้ดำเนินการต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ