เปรียบเทียบร่างรัฐธรรมนูญเดิมกับรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตราที่ 172-176

ข่าวการเมือง Monday July 2, 2007 11:58 —สภาร่างรัฐธรรมนูญ

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เดิม)
- มาตรา ๑๗๒ คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
และชี้แจงการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามมาตรา ๗๔ โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ
ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่ และเมื่อเข้ารับหน้าที่แล้วต้องจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน
เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติราชการแต่ละปีตามมาตรา ๗๕ ก่อนแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามวรรคหนึ่ง หากมี
กรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีที่
เข้ารับหน้าที่จะดำเนินการไปพลางก่อนเพียงเท่าที่จำเป็นก็ได้
- มาตรา ๑๗๓ รัฐมนตรีย่อมมีสิทธิเข้าประชุมและแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในที่
ประชุมสภา และในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภามีมติให้เข้าประชุมในเรื่องใด รัฐมนตรีต้องเข้าร่วมประชุม
และให้นำเอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถ้ารัฐมนตรี
ผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะเดียวกันด้วย ห้ามมิให้รัฐมนตรีผู้นั้นออกเสียงลงคะแนนในเรื่องที่เกี่ยวกับ
การดำรงตำแหน่ง การปฏิบัติหน้าที่หรือการมีส่วนได้เสียในเรื่องนั้น
- มาตรา ๑๗๔ ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้ตามมาตรา ๑๗๒ และต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตน
รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี
- มาตรา ๑๗๕ ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควร
จะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้
การเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้
- มาตรา ๑๗๖ รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (๑) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี
สิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๗๘ (๒) อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
(๓) คณะรัฐมนตรีลาออก ในกรณีที่ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๗๘ (๑) (๒) (๓)
(๔) (๕) (๗) หรือ (๘) ให้ดำเนินการตามมาตรา ๑๖๘ และมาตรา ๑๖๙ โดยอนุโลม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
- มาตรา ๒๑๑ คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยไม่มี
การลงมติความไว้วางใจ ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่ก่อนแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามวรรคหนึ่ง
หากมีกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน คณะรัฐมนตรี
ที่เข้ารับหน้าที่จะดำเนินการไปพลางก่อนเพียงเท่าที่จำเป็นก็ได้
- มาตรา ๒๑๐ รัฐมนตรีย่อมมีสิทธิเข้าประชุมและแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในที่
ประชุมสภา แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภามีมติให้เข้าประชุมในเรื่องใด
รัฐมนตรีต้องเข้าร่วมประชุมเอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๗ และมาตรา ๑๕๘ ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลม
- มาตรา ๒๑๒ ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้ตามมาตรา ๒๑๑ และต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตน
รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี
- มาตรา ๒๑๓ ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควร
จะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้
มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้
- มาตรา ๒๑๕ รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (๑) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี
สิ้นสุดลงตามมาตรา ๒๑๖ (๒) อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร (๓) คณะรัฐมนตรี
ลาออกคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้า
รับหน้าที่ แต่ในกรณีพ้นจากตำแหน่งตาม (๒) จะใช้อำนาจแต่งตั้งหรือย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือน
ประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง มิได้ เว้นแต่จะ
ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๑๘ (๗) และวรรคสอง และมาตรา
๒๐๔ มาใช้บังคับกับคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งและอยู่ในระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคสอง ในกรณีที่ความ
เป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา ๒๑๖ (๑) (๒) (๓) (๔) (๖) หรือ (๘) ให้ดำเนินการ
ตามมาตรา ๒๐๒ และมาตรา ๒๐๓ โดยอนุโลม
เหตุผลที่แก้ไข
แก้ไขมาตราที่ 172
กำหนดให้ในการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา จะต้องชี้แจงการดำเนินการตามนโยบาย
พื้นฐานแห่งรัฐตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ด้วย รวมทั้งเมื่อเข้ารับหน้าที่แล้วต้องจัดทำแผนการบริหารราชการ
แผ่นดิน ที่จะกำหนดแนวทางในการปฏิบัติราชการแต่ละปี เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงานของหน่วยงาน
ของรัฐต่าง ๆ และประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ในการปรับปรุงบทบัญญัตินี้เป็นการกำหนดมาตรการเพื่อ
ให้บทบัญญัติในเรื่องแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐได้มีการนำไปปฏิบัติให้เกิดผลขึ้นอย่างแท้จริง
แก้ไขมาตราที่ 173
กำหนดขึ้นเพื่อป้องกันกรณีที่รัฐมนตรีผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะเดียวกันซึ่งมีส่วนได้เสีย
ในเรื่องใดหรือมีเรื่องใดที่เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว มิให้ใช้สิทธิลงคะแนนในการประชุมสภาผู้แทน
ราษฎร อันอาจทำให้เกิดกรณีการใช้อำนาจขัดกันในการดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่งในขณะเดียวกัน
แก้ไขมาตราที่ 176
แก้ไขอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีซึ่งพ้นจากตำแหน่งแต่ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรี
ชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่ เพื่อมิให้ใช้อำนาจหรือปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าที่จำเป็นหรือกระทำการใด ๆ อันทำให้เกิด
ความเสียหายต่อการบริหารราชการแผ่นดิน การงบประมาณ การบริหารงานบุคคลภาครัฐ หรือกระทำการใด ๆ
อันมีผลต่อการเลือกตั้งโดยได้แยกไปบัญญัติเป็นร่างมาตรา ๑๗๗ และกำหนดกรณีต่าง ๆ ที่ห้ามมิให้ดำเนินการให้
ชัดเจน ซึ่งโดยหลักการนี้จะมีผลทำให้คณะรัฐมนตรีชุดเดิมยังคงรักษาการอยู่ชั่วคราว เพื่อปฏิบัติหน้าที่งานประจำ
ที่มิใช่นโยบาย และมีผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง แต่จะถูกจำกัดการกระทำใด ๆ
ที่จะมีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป หรือใช้อำนาจในฐานะฝ่ายบริหารกระทำการเพื่อประโยชน์ในการหาเสียง
เลือกตั้งจะกระทำมิได้
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ