ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ) ภาค ๓ หมวด ๑

ข่าวทั่วไป Wednesday April 29, 2015 14:53 —สภาร่างรัฐธรรมนูญ

ภาค ๓
หลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
หมวด ๑
ศาลและกระบวนการยุติธรรม
ส่วนที่ ๑
บททั่วไป
          มาตรา ๒๑๗  หลักนิติธรรมอันเป็นรากฐานของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย อย่างน้อย มีหลักการพื้นฐานสำคัญ ดังต่อไปนี้
          (๑) ความสูงสุดของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเหนืออำเภอใจของบุคคล และการเคารพรัฐธรรมนูญและกฎหมายทั้งโดยรัฐและประชาชน
          (๒) การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค (๓) การแบ่งแยกการใช้อำนาจ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม
          (๔) นิติกระบวน ซึ่งอย่างน้อยต้องไม่บังคับใช้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายย้อนหลังเป็นโทษทางอาญา แก่บุคคล ให้บุคคลมีสิทธิในการปกป้องตนเองเมื่อสิทธิหรือเสรีภาพถูกกระทบ ไม่บังคับให้บุคคลต้องให้ถ้อยคำซึ่งทำให้ต้องรับผิดทางอาญา ไม่ทำให้บุคคลต้องถูกดำเนินคดีอาญาในการกระทำความผิดเดียวกันมากกว่าหนึ่งครั้ง  และมีข้อกำหนดให้สันนิษฐานว่าบุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะมีคำพิพากษาว่ากระทำผิด
          (๕) ความเป็นอิสระของศาล และความสุจริตเที่ยงธรรมของกระบวนการยุติธรรม
          มาตรา ๒๑๘  กระบวนการยุติธรรมต้องเป็นไปโดยถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย มีความ เป็นธรรม มีมาตรฐานที่ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาที่เหมาะสมกับ ประเภทคดี มีประสิทธิภาพไม่ล่าช้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร และเสียค่าใช้จ่ายน้อย
          การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลต้องมีการกำหนดระยะเวลาการดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ  ทั้งของคู่ความและของศาลไว้อย่างชัดเจน เพื่อเป็นหลักประกันในการพิจารณาพิพากษาคดี  และต้องเปิดเผย ให้ทราบเป็นการทั่วไป
          คู่ความ คู่กรณี และทนายความ มีหน้าที่ร่วมมือกับศาลเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปโดย ไม่ล่าช้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร  ถ้ามีการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตย่อมต้องรับผิดตามที่กฎหมายบัญญัติ
          คำพิพากษา คำวินิจฉัย และคำสั่ง ต้องแสดงเหตุผลประกอบการวินิจฉัยหรือการมีคำสั่ง ต้องอ่านโดยเปิดเผย รวมทั้งต้องให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย  และถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะต้องให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ด้วย
          มาตรา ๒๑๙  การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามหลักนิติธรรม ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
          ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีโดยปราศจากอคติทั้งปวง และต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่เหมาะสมกับประเภทคดีที่ต้องพิจารณาพิพากษา
          ผู้พิพากษาและตุลาการจะเป็นข้าราชการการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มิได้ เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้พิพากษาและตุลาการ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ จะนำระบบบัญชีเงินเดือนหรือเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนมาใช้บังคับมิได้ เมื่อมีการเพิ่มเงินเดือนหรือเงินประจำตำแหน่งข้าราชการพลเรือนให้ปรับเพิ่มเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของผู้พิพากษาหรือตุลาการขึ้นเป็นไปตามสัดส่วน
          การแต่งตั้ง การโยกย้าย การเลื่อนเงินเดือน และการเลื่อนตำแหน่ง ผู้พิพากษาและตุลาการ ต้องมีหลักประกันความเป็นอิสระ  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          วินัยและการลงโทษทางวินัยผู้พิพากษาและตุลาการโดยองค์กรบริหารงานบุคคลของศาลต้องมีหลักประกันในการใช้สิทธิอุทธรณ์โดยตรงไปยังศาลชั้นสูงสุดที่ผู้พิพากษาหรือตุลาการนั้นสังกัดอยู่  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          มาตรา ๒๒๐  การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม ต้องเป็นไปโดยเที่ยงธรรม ปราศจากอคติทั้งปวง ตามหลักนิติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมาย
          ในกรณีที่ศาลหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเห็นว่ากฎหมายหรือกฎใดก่อให้เกิด ความไม่เป็นธรรมต่อประชาชนหรือไม่เป็นไปตามมาตรา ๘๗  ให้ศาลหรือหน่วยงานของรัฐดังกล่าวส่งความเห็นเช่นว่านั้นไปยังคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป
          มาตรา ๒๒๑  บรรดาศาลทั้งหลายจะตั้งขึ้นได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ  โดยให้จัดตั้งศาลอย่างทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และเสียค่าใช้จ่ายน้อย
          การตั้งศาลขึ้นใหม่เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งหรือคดีที่มีข้อหาฐานใดฐานหนึ่งโดยเฉพาะแทนศาลที่มีอยู่ตามกฎหมายสำหรับพิจารณาพิพากษาคดีนั้น จะกระทำมิได้
          การบัญญัติกฎหมายให้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลหรือ วิธีพิจารณาเพื่อใช้แก่คดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะ จะกระทำมิได้
          มาตรา ๒๒๒  ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่น ให้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดโดยคณะกรรมการคณะหนึ่งซึ่งประกอบด้วยประธานศาลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ต้องวินิจฉัยชี้ขาด และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นทางนิติศาสตร์อย่างน้อยสามคนแต่ไม่เกินห้าคนเป็นกรรมการ     โดยให้หน่วยธุรการของคณะกรรมการมาจากหน่วยธุรการของศาลยุติธรรมและศาลปกครองสลับกันทำหน้าที่คราวละหนึ่งปี  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งเลือกผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่งเป็นประธานกรรมการเป็นรายคดี ที่มีปัญหาต้องพิจารณาวินิจฉัย
          หลักเกณฑ์การเสนอปัญหาและการวินิจฉัยปัญหาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
          มาตรา ๒๒๓  พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้พิพากษาและตุลาการ และทรงให้พ้นจากตำแหน่งหนึ่ง เพื่อไปดำรงตำแหน่งอื่น  เว้นแต่เป็นกรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่นตามกฎหมายหรือเพราะความตาย  ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ
          มาตรา ๒๒๔  ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้พิพากษาและตุลาการต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
          "ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยปราศจากอคติทั้งปวง เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน และความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมาย ทุกประการ"
          พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ถวายสัตย์ปฏิญาณตามวรรคหนึ่งต่อพระรัชทายาทหรือผู้แทนพระองค์ก็ได้
          มาตรา ๒๒๕  คณะกรรมการซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลใด ต้องประกอบด้วยประธานของศาลนั้นเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนซึ่งได้รับเลือกตั้งจากผู้พิพากษาหรือ ตุลาการของศาลนั้นในแต่ละชั้นศาลในสัดส่วนที่เหมาะสม และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการและไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการซึ่งเป็นผู้พิพากษา หรือตุลาการของศาลนั้น เป็นกรรมการ  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว  เว้นแต่เป็นกรณีที่ไม่มีผู้พิพากษาหรือตุลาการในชั้นศาลนั้นซึ่งไม่เคยได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาก่อน ให้ผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งนั้นดำรงตำแหน่งได้อีกไม่เกินหนึ่งวาระ
          ในกรณีที่ไม่มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง หรือมีแต่ไม่ครบจำนวน  ถ้าคณะกรรมการจำนวน ไม่น้อยกว่าหกคนเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องให้ความเห็นชอบ ให้คณะกรรมการดังกล่าวเป็นองค์ประกอบและองค์ประชุมพิจารณาเรื่องเร่งด่วนนั้นได้
          บุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรบริหารงานบุคคลของศาลหนึ่ง จะไปดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรบริหารงานบุคคลของศาลอื่นหรือกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารศาลใด ในเวลาเดียวกันมิได้
          มาตรา ๒๒๖  ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานศาลอื่นนอกจากศาลรัฐธรรมนูญและศาลทหาร มีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว  ในกรณีที่ผู้ซึ่งพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวยังไม่พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุที่เกษียณอายุราชการ ให้แต่งตั้งผู้นั้นให้ดำรงตำแหน่งอื่นตามที่องค์กรบริหารงานบุคคลของศาลนั้นกำหนด
          ผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลอื่นนอกจากศาลทหาร ซึ่งมีอายุ ครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์แล้ว เป็นอันพ้นจากราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์   แต่ผู้พิพากษาหรือตุลาการที่พ้นจากราชการเพราะเหตุดังกล่าว อาจรับราชการเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการอาวุโสต่อไปได้จนมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          มาตรา ๒๒๗  ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลอื่นนอกจากศาลทหาร มี หน่วยธุรการของศาลที่เป็นอิสระ โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลนั้น
          การแต่งตั้ง การพ้นจากตำแหน่ง การประเมินประสิทธิภาพ และการดำเนินการทางวินัย เลขาธิการสำนักงานศาล ต้องได้รับความเห็นชอบจากองค์กรบริหารงานบุคคลของศาลนั้นตามที่กฎหมายบัญญัติ
          สำนักงานศาลมีอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          มาตรา ๒๒๘ องค์กรอัยการมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามหลักนิติธรรม  ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
          พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรอัยการ และพนักงานอัยการ และกฎหมายอื่น
          ในการสอบสวนคดีอาญาที่สำคัญ ให้พนักงานอัยการมีอำนาจสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวน   ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          คำสั่งชี้ขาดคดีเกี่ยวกับคำสั่งฟ้อง ไม่ฟ้อง ถอนฟ้อง อุทธรณ์ฎีกา ไม่อุทธรณ์ฎีกา หรือถอนอุทธรณ์ฎีกา ของอัยการสูงสุดตามกฎหมาย ต้องแสดงเหตุผลประกอบการมีคำสั่ง รวมทั้งต้องให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย  และถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะต้องให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ด้วย  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          การแต่งตั้ง การโยกย้าย การเลื่อนเงินเดือน และการเลื่อนตำแหน่ง วินัยและการลงโทษทางวินัย  ของข้าราชการอัยการ ต้องมีหลักประกันความเป็นอิสระ  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ  และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๑๙ วรรคสี่ และมาตรา ๒๒๖ วรรคสอง มาใช้บังคับกับข้าราชการอัยการด้วยโดยอนุโลม
          องค์กรบริหารงานบุคคลของข้าราชการอัยการต้องเป็นอิสระ ประกอบด้วยประธานกรรมการซึ่งมาจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการอัยการและไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อัยการสูงสุด ผู้แทนของข้าราชการอัยการซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากข้าราชการอัยการแต่ละชั้นในสัดส่วนที่เหมาะสม และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการอัยการและไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่น้อยกว่า หนึ่งในสามของจำนวนกรรมการซึ่งเป็นข้าราชการอัยการทั้งหมด เป็นกรรมการ  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          กรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหก ให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว ข้าราชการอัยการต้องไม่ดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ใดในรัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐ ในทำนองเดียวกัน หรือในห้างหุ้นส่วนบริษัท ไม่เป็นที่ปรึกษาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งใด ในลักษณะเดียวกัน ทั้งต้องไม่ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพหรือกระทำกิจการใดอันเป็นการกระทบกระเทือน ถึงการปฏิบัติหน้าที่หรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งตำแหน่งหน้าที่ของข้าราชการอัยการ
          สำนักงานอัยการสูงสุดมีอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

ส่วนที่ ๒
ศาลรัฐธรรมนูญ

มาตรา ๒๒๙ ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนเก้าคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลดังต่อไปนี้

(๑) ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาและได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวนสองคน

(๒) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จำนวนสองคน

(๓) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ จำนวนสามคน โดยต้องเป็นผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชนอย่างน้อยหนึ่งคน

(๔) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารภาครัฐหรือผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรที่มิใช่ภาครัฐ จำนวนสองคน

หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ

ให้ผู้ได้รับเลือกตามวรรคหนึ่ง ประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ

ให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

มาตรา ๒๓๐ ให้มีคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๒๙ (๓) และ (๔) คณะหนึ่ง ประกอบด้วยกรรมการประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้

(๑) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสี่คน ซึ่งเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาสองคน และเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดสองคน

(๒) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสองคน ซึ่งเลือกโดยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองฝ่ายรัฐบาล หนึ่งคน และเลือกโดยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองฝ่ายค้าน หนึ่งคน

(๓) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสองคน ซึ่งเลือกโดยคณบดีคณะนิติศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษา (๔) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสองคน ซึ่งเลือกโดยคณบดีคณะรัฐศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษา (๕) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหนึ่งคน ซึ่งเลือกโดยสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่งต้องไม่เป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการหรือคณบดี

กรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง จะเข้ารับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มิได้ และให้กรรมการดังกล่าวประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการสรรหา

ในกรณีที่ไม่อาจสรรหากรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ครบตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งได้ ไม่ว่าด้วยเหตุใด หากกรรมการสรรหาที่สรรหามาได้นั้นมีจำนวนไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมด และมีกรรมการที่มาจากประเภทต่างๆ ไม่น้อยกว่าสี่ประเภท ให้คณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่ แต่หากสรรหากรรมการสรรหาได้น้อยกว่านั้น ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสามคน และให้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสามคน เป็นกรรมการสรรหา และให้กรรมการสรรหาดังกล่าวเลือกผู้ทรงคุณวุฒิหนึ่งคนเพื่อเป็นประธานกรรมการสรรหา และให้บุคคลดังกล่าวเป็นคณะกรรมการสรรหาแทน

มาตรา ๒๓๑ ให้คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการสรรหาผู้ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๒๙ (๓) และ (๔) ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุให้ต้องมีการสรรหาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว แล้วให้เสนอรายชื่อผู้ได้รับเลือกนั้นพร้อมความยินยอมของผู้นั้นต่อประธานวุฒิสภา มติในการคัดเลือกดังกล่าวต้องลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

ในกรณีที่กรรมการในตำแหน่งใดไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ถ้ากรรมการที่เหลืออยู่นั้นมีจำนวน ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ให้คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยกรรมการที่เหลืออยู่

ให้ประธานวุฒิสภาเรียกประชุมวุฒิสภาเพื่อมีมติให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการคัดเลือกตามวรรคหนึ่งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายชื่อ การลงมติให้ใช้วิธีลงคะแนนลับ ในกรณีที่วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป ในกรณีที่วุฒิสภาไม่เห็นชอบในชื่อใด ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ส่งชื่อนั้นกลับไปยังคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการสรรหาใหม่ ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุให้ต้องดำเนินการดังกล่าว

มาตรา ๒๓๒ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่งเก้าปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญมาครบสามปีแล้ว พ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ แต่ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไป แล้วให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเลือก ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญแทน

ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่จะเข้า รับหน้าที่

ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมตามกฎหมาย

มาตรา ๒๓๓ คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ การกระทำอันเป็นการต้องห้ามในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ โดยอย่างน้อยต้องมีข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ มาแล้ว เข้ารับการสรรหา และการพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์

มาตรา ๒๓๔ ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา ๖ และยังไม่มีคำวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคำโต้แย้งของคู่ความตามวรรคหนึ่งไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้

มาตรา ๒๓๕ บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อ ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้

การใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติ ไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ

มาตรา ๒๓๖ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หรือคณะกรรมการสรรหาองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร หรือองค์กรนั้น เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย

มาตรา ๒๓๗ องค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการนั่งพิจารณาและในการทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่าห้าคน

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ถือเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีบัญญัติเป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้ โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนจะต้องทำความเห็นในการวินิจฉัยในส่วนของตนพร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ

วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐทุกองค์กร และให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและความเห็นในการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคน ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ส่วนที่ ๓
ศาลยุติธรรม
          มาตรา ๒๓๘  ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือ กฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น
          มาตรา ๒๓๙  ศาลยุติธรรมมีสามชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลชั้นอุทธรณ์ และศาลฎีกา เว้นแต่ที่มีบัญญัติ ไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญหรือตามกฎหมายอื่น
          มาตรา ๒๔๐  ให้มีแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา โดยองค์คณะผู้พิพากษาประกอบด้วยผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนเก้าคน ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับ และให้เลือกเป็นรายคดี
          อำนาจหน้าที่ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การอุทธรณ์คำพิพากษา  และวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้และในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
          มาตรา ๒๔๑  ให้ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ มีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีดังต่อไปนี้
          (๑) คดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาให้อยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์  และคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในเขตท้องที่ของศาลใดให้อยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคนั้น แล้วแต่กรณี
          (๒) คดีเกี่ยวกับการจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ หรือจงใจ ยื่นบัญชีดังกล่าวด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจพิจารณาพิพากษา  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          (๓) คดีชำนัญพิเศษให้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ วิธีพิจารณาและการพิพากษาคดีตาม (๑) และ (๒) ให้เป็นไปตามระเบียบที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนด โดยต้องใช้ระบบไต่สวน และเป็นไปโดยรวดเร็ว

ส่วนที่ ๔
ศาลปกครอง

มาตรา ๒๔๒ ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจ ทางปกครองตามกฎหมายหรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครอง รวมทั้งคดีอันเนื่องมาจากการบริหารและการบริหารงานบุคคลขององค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ตลอดจนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของ ศาลปกครอง

อำนาจศาลปกครองตามวรรคหนึ่งไม่รวมถึงการใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญขององค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

ให้มีศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองชั้นต้น และจะมีศาลปกครองชั้นอุทธรณ์ด้วยก็ได้

มาตรา ๒๔๓ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์และผู้ทรงคุณวุฒิในการบริหารราชการแผ่นดิน อาจได้รับแต่งตั้งให้เป็นตุลาการในศาลปกครองสูงสุดได้ การแต่งตั้งให้บุคคลดังกล่าวเป็นตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ให้แต่งตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนตุลาการในศาลปกครองสูงสุดทั้งหมด และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองตามที่กฎหมายบัญญัติและได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาก่อน แล้วจึง นำความกราบบังคมทูล

การคัดเลือกตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองบัญญัติ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองและได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาก่อน แล้วจึงนำความกราบบังคมทูล ในการนี้ ให้แต่งตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนตุลาการในศาลปกครองสูงสุดทั้งหมด

มาตรา ๒๔๔ ให้มีแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณในศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด องค์คณะ อำนาจหน้าที่ การฟ้องคดีและวิธีพิจารณาของศาลแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

ส่วนที่ ๕
ศาลทหาร
          มาตรา ๒๔๕  ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งผู้กระทำผิดเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารและคดีอื่น  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          การแต่งตั้งและการให้ตุลาการศาลทหารพ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ