เปรียบเทียบร่างรัฐธรรมนูญเดิมกับรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตราที่ 133-136

ข่าวการเมือง Thursday June 28, 2007 13:59 —สภาร่างรัฐธรรมนูญ

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เดิม)
ส่วนที่ ๖การตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
- มาตรา ๑๓๓ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ก็แต่โดย
คำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้ (๑) พระราชบัญญัติ
ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (๒)
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (๓) พระราชบัญญัติประกอบ
รัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง(๔) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
(๕) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ (๖) พระราชบัญญัติประกอบ
รัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (๗) พระราชบัญญัติประกอบ
รัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา (๘) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน
และปราบปรามการทุจริต (๙) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
- มาตรา ๑๓๔ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจะเสนอได้ก็แต่โดย (๑) สมาชิกสภา
ผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิก
สภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ
ทั้งสองสภา หรือ (๒) ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา หรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผู้รักษา
การตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น
- มาตรา ๑๓๕ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญของสภาผู้แทนราษฎร
และวุฒิสภาให้กระทำเป็นสามวาระ ดังต่อไปนี้(๑) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ
และในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเสียงข้างมากของแต่ละสภา (๒) การออกเสียง
ลงคะแนนในวาระที่สาม ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นพระราชบัญญัติประกอบ
รัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภาให้นำบทบัญญัติในหมวด ๖ ส่วนที่ ๗
การตราพระราชบัญญัติ มาใช้บังคับกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญด้วยโดยอนุโลม
- มาตรา ๑๓๖ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแล้ว
ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วย
รัฐธรรมนูญซึ่งต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ที่วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ให้ข้อความที่ขัดหรือ
แย้งนั้นเป็นอันตกไป ในกรณีที่วินิจฉัยว่าข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐ
ธรรมนูญตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็น
อันตกไป
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
**ไม่มีข้อมูลระบุไว้**
เหตุผลที่แก้ไข
แก้ไขมาตรา 133
กำหนดขึ้นใหม่โดยแยกออกจากการตราพระราชบัญญัติปกติ เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบ
รัฐธรรมนูญถือเป็นส่วนขยายรายละเอียดของรัฐธรรมนูญ ซึ่งโดยหลัก กฎหมายจะอยู่ในฐานะเหนือกว่า
พระราชบัญญัติปกติ จึงต้อง กำหนด วิธีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญไว้เป็นพิเศษที่ทำให้การ
แก้ไขกระทำได้ยากรองจากรัฐธรรมนูญ เพื่อรักษาเจตนารมณ์ของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไว้ และต้องมี
การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญก่อนการใช้บังคับด้วยกำหนดรายชื่อของพระราชบัญญัติประกอบ
รัฐธรรมนูญที่จะตราขึ้นเพื่อใช้บังคับตามรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้ชัดเจนว่าพระราชบัญญัติใดเป็นพระราชบัญญัติ
ประกอบรัฐธรรมนูญ
แก้ไขมาตรา 134
กำหนดองค์กรที่จะสามารถเสนอให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ได้แก่ สมาชิกสภา
ผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาตามจำนวนที่กำหนด และศาล
หรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผู้รักษาการตามรัฐธรรมนูญนั้น โดยมิได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีเสนอ
เพราะพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
แก้ไขมาตรา 135
กำหนดกระบวนการการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้มีกระบวนการที่สำคัญและแก้ไข
ได้ยากกว่ากระบวนการตราพระราชบัญญัติปกติ ในขั้นตอนการพิจารณาและลงมติ อย่างไรก็ตาม สำหรับวิธี
การในรายละเอียดของกระบวนการพิจารณายังคงให้เป็นไปตามบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการตราพระราชบัญญัติซึ่ง
ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นกรณีกฎหมายการเงิน การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
วุฒิสภา การตั้งกรรมาธิการร่วมกัน การนำขึ้นทูลเกล้าฯ
แก้ไขมาตรา 136
เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่ขยายรายละเอียดของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
จึงกำหนดให้มีกระบวนการที่จะตรวจสอบว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นเมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ
แล้ว ก่อนนำทูลเกล้าฯ ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบกฎหมายไม่ให้มีบทบัญญัติใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญก่อน
และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการขัดหรือแย้งในข้อความใดให้ข้อความนั้นตกไป หากเป็นสาระสำคัญของ
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นตกไปทั้งฉบับ
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ