บทความ: เครื่องจักรกลการเกษตรในการผลิตข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 19, 2012 15:37 —กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

ตามที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัดการประชุมวิชาการนานาชาติเรื่อง “เครื่องจักรกลการเกษตรในการผลิตข้าว” เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ประเทศคู่เจรจา (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) FAO และผู้แทนภาคเอกชน ระหว่างวันที่ ๒๖-๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ณ จังหวัดเชียงใหม่ นั้น มีสาระสำคัญ ดังนี้

๑. “ข้าว” (Rice/Oryza) เป็นอาหารหลักที่มีความสำคัญต่อประชากรกว่าครึ่งโลก และนับวันจะมีความสำคัญมากขึ้น สำหรับประชากรในโลกตะวันออก และโดยเฉพาะประชากรโลกในพื้นที่แห้งแล้งและห่างไกลซึ่งยังอยู่ในภาวะทุพโภชนาการอีกราว ๖๐๐ ล้านคน เพราะข้าวเป็นธัญพืชที่มีเปลือก สามารถเก็บรักษาได้ง่ายกว่าข้าวสาลีหรือข้าวโพดซึ่งเป็นอาหารหลักของประชากรในโลกตะวันตก แม้กระนั้นประเทศในโลกตะวันตกเองก็ยังหันมาปลูกข้าวมากขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งนำข้าวไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น เบียร์ ขนมแท่ง Modified Starch (ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและยา) เป็นต้น

๒. ประชากรโลกผลิตและบริโภคข้าวปีละประมาณ ๗๐๐ ล้านตันข้าวเปลือกหรือประมาณ ๔๕๐ ล้านตันข้าวสาร ในจำนวนนี้เป็นข้าวที่มีการซื้อขายในตลาดโลกเพียงประมาณ ๓๕ ล้านตันข้าวสารหรือประมาณร้อยละ ๗ เท่านั้น การผลิตข้าวส่วนใหญ่หรือมากกว่าร้อยละ ๙๐ จึงเป็นการผลิตเพื่อบริโภคภายในแต่ละประเทศ แต่อาจมีการซื้อในตลาดโลกมากหรือน้อยตามสภาพการเพาะปลูกซึ่งแห้งแล้งหรือเพาะปลูกได้ดี สภาวะการค้าข้าวในตลาดโลกจึงค่อนข้างจะคาดการณ์ได้ยาก

๓. แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวลำดับต้น ๆ แต่ไทยก็ไม่ใช้ผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก เมื่อเทียบกับ จีน อินเดีย หรืออินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรมาก ยกเว้นเวียดนาม ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตข้าวและ ผู้ส่งออกข้าวลำดับต้น ๆ (ข้อมูล FAO)

          ๔.    ในกรณีอินเดียซึ่งได้รับการจัดลำดับเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เมื่อเร็ว ๆ นี้ นั้น ที่ประชุมยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ส่วนหนึ่งเห็นว่าเป็นเพราะอินเดียได้มีการพัฒนาระบบการผลิตข้าวอย่างจริงจัง และจะเป็นผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญในอนาคต อีกส่วนหนึ่งแย้งว่า เป็นเพราะอินเดียประสบสภาวะแห้งแล้งเมื่อหลายปีก่อน การส่งออกในช่วง ๑-๒ ปีนี้ จึงเป็นเพียงการระบายสต๊อกข้าวที่มีเกินความจำเป็น      ในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องติดตามวิเคราะห์หาข้อสรุปที่ชัดเจนต่อไป

๕. กล่าวโดยสรุปประเทศผู้ผลิตข้าวในอาเซียนอาจแบ่งออกได้เป็น ๔ กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มผู้ผลิตที่มีศักยภาพในการส่งออกในปัจจุบัน คือ ไทย เวียดนามและเมียนม่า กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่มีอาจมีศักยภาพในการส่งออกในอนาคต คือลาวและกัมพูชา กลุ่มที่สามคือกลุ่มที่พยายามเพิ่มศักยภาพการผลิตให้เพียงพอบริโภคในประเทศ คือ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ และกลุ่มที่สี่คือกลุ่มที่ผลิตได้เพียงพอบริโภคในประเทศแล้ว หันไปเน้นการปลูกพืชอื่น คือมาเลเซีย ซึ่งเน้นการปลูกปาล์มน้ำมัน

          ๖.    ไทยมีผลผลิตข้าวเฉลี่ย ๔๕๐ กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศผู้ผลิตข้าวในอาเซียนด้วยกันแล้วอยู่ในอันดับ ๗ จาก ๘ ประเทศที่ปลูกข้าวมาก โดยอันดับ ๑ ได้แก่ เวียดนาม ที่มีผลผลิตต่อไร่สูงถึง ๘๗๔ กิโลกรัม รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว พม่า ตามลำดับ ขณะที่อันดับ ๘ กัมพูชา มีผลผลิตอยู่ที่ประมาณ ๔๑๕ กิโลกรัมต่อไร่ หากเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นสหรัฐฯ ๑,๒๗๐ กิโลกรัม รองลงมาคือเกาหลีใต้ ๑,๒๐๐ กิโลกรัม นับว่าสูงกว่ามาก ปัญหา       ที่สำคัญของไทยน่าจะเป็นเพราะมีการปลูกอย่างต่อเนื่องไม่มีการพักนา ทำให้ดินเสื่อมโทรม
          ๗.    ผู้แทนเวียดนามนำเสนอว่า เวียดนามสามารถปลูกข้าวได้ดี เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ (ของไทยคือพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล) ประการสำคัญคนเวียดนามมีวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับข้าว จึงมีความพิถีพิถันตั้งแต่การจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ เพาะกล้า จนตลอดสายการผลิต  ขณะนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะการจัดตั้งไซโลจัดเก็บข้าวทั้งในระดับชุมชนและการส่งออก อนึ่งผู้แทนเวียดนามสนับสนุนไทยที่พยายามยกระดับราคาข้าว      ในตลาดโลกให้สูงขึ้น

๘. ผู้แทนอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์กล่าวในทำนองเดียวกันว่า รัฐบาลมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะผลิตข้าวให้เพียงพอกับการบริโภคในประเทศ แต่จากเนื่องภูมิประเทศมีสภาพเป็นเกาะหลายพันเกาะและมักประสบภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง ทั้งสองประเทศจึงยังจำเป็นต้องนำเข้าข้าวอยู่ และได้แสดงความเป็นห่วงความร่วมมือของประเทศผู้ส่งออกข้าว เช่นไทยและเวียดนาม ที่จะทำให้ประชากรในทั้งสองประเทศจะต้องบริโภคข้าวในราคาที่สูงขึ้น ทั้ง ๆ ที่เป็นประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียนด้วยกันเอง

๙. มาเลเซียเป็นประเทศที่มีนโยบายด้านเกษตรกรรมค่อนข้างชัดเจน กล่าวคือ ผลิตข้าวพอเพียงบริโภค ในประเทศแต่เน้นการผลิตปาล์มน้ำมันเพื่อการส่งออกและเป็นพลังงานทดแทน มาเลเซียส่งเสริมธุรกิจบริการ (Service Provider) อย่างจริงจัง จึงมีบริการด้านเกษตรค่อนข้างครบวงจร ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่เพาะปลูก การปักดำ การฉีดปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช ตลอดจนการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง

          ๑๐.   ในส่วนของผู้แทนจากประเทศพัฒนา คือ อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ได้นำเสนอเทคโนโลยีเครื่องจักรกลและแปรรูปการเกษตรครบวงจร ตั้งแต่การใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติในการปรับหน้าดิน การใช้หุ่นยนต์   ปักดำและหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวซึ่งสามารถปรับระดับสูงต่ำด้วยระบบเลเซอร์ แต่ยังสามารถควบคุมได้จากระยะไกล เครื่องสีข้าวระบบหินขัดหลายชั้น เครื่องคัดแยกเมล็ดข้าวที่ไม่สมบูรณ์หรือมีสีสัน          ไม่สวยงามด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปั้นข้าวเต็มเมล็ดจากปลายข้าว (Recomposed Rice) ส่วนจีนเน้นเทคโนโลยีการเพาะปลูกขนาดใหญ่ เช่นใช้เครื่องปักดำ ๘ แถว เครื่องฉีดยาและปุ๋ยยาว ๘๐๐ เมตร เป็นต้น

๑๑. จากการศึกษาดูงานเพิ่มเติมสรุปข้อมูลในเบื้องต้นได้ว่า การปลูกข้าว ๑ ไร่มีต้นทุนประมาณ ๓,๔๐๐ บาท ประกอบด้วยค่าไถเตรียมพื้นที่ ๕๕๐ บาท ค่าหว่าน ๖๐ บาท ค่าสูบน้ำ ๖๐๐ บาท ค่าปุ๋ย ๑,๔๐๐ บาท ค่ายาฆ่าแมลง ๒๐๐ บาท ค่าเกี่ยว ๕๕๐ บาท ค่ารถขนข้าวไปโรงสี ๑๐๐ บาท หากมีผลผลิต ๕๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ที่ความชื้นร้อยละ ๒๕ ราคาตันละ ๑๐,๐๐๐ บาท ชาวนาจะมีรายได้ไร่ละ ๓,๗๕๐ บาท หรือมีกำไรเพียงไร่ละ ๓๕๐ บาท หากมีที่น่า ๒๕ ไร่ ทำนาปีละ ๒ ครั้งจะมีรายได้ปีละ ๑๗,๕๐๐ บาทหรือเพียงเดือนละ ๑,๔๕๘ บาทต่อครอบครัวเท่านั้น

๑๒. ชาวนาบางรายอาจโชคดีอยู่ในเขตชลประทาน สามารถลดรายจ่ายค่าสูบน้ำเหลือเดือนละ ๒๐๐ บาททำให้มีกำไรเพิ่มขึ้นเป็นไร่ละ ๗๕๐ บาท (แต่ไทยมีพื้นที่เขตชลประทานเพียงประมาณร้อยละ ๒๐ ของพื้นที่เกษตรกรรมทั่วประเทศประมาณ ๑๓๐ ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวประมาณครึ่งหนึ่ง เฉลี่ยมีกำไรไร่ละ ๔๓๐ บาท) หากจะมีการพักนาโดยปลูกเพียงปีละ ๑ ครั้งอาจมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น ๘๐๐ กิโลกรัมต่อไร่แต่ก็จะมีกำไรลดลงเหลือไร่ละ ๖๐๐ บาท หากทำนาอินทรีย์อาจลดค่าปุ๋ยและยาฆ่าแมลงลงได้ครึ่งหนึ่งแต่ได้ผลผลิตเพียงร้อยละ ๗๐ เหลือกำไรไร่ละ ๙๘๐ บาท หากลงทุนเพาะกล้าดำนาด้วยคนหรือเครื่องจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไร่ละ ๕๐๐ บาท แต่จะลดค่าปุ๋ยและยาได้ไร่ละ ๕๐๐ บาทเท่ากัน สรุปว่าการทำนาในลักษณะนี้จะมีกำไรปีละ ๒๔,๕๐๐ บาทหรือเดือนละ ๒,๐๐๐ บาทต่อครอบครัวสูงกว่ากรณีแรกร้อยละ ๒๗ แต่ก็มีต่ำมากเมื่อเทียบกับอัตราค่าจ้างขึ้นต่ำวันละ ๓๐๐ บาทหรือเดือนละประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาทต่อคน แต่การทำนาส่วนใหญ่ทำกันเป็นครอบครัว

๑๓. ในส่วนของการให้ธุรกิจบริการ (Service Provider) ที่เกี่ยวข้องกับการทำนานั้น พบว่ายังมีการให้บริการไม่ครบวงจร ตั้งแต่การเตรียมดิน หว่าน/ดำ ใส่ปุ๋ย/ฉีดยา เกี่ยว/นวด และขนส่งไปยังโรงสี ส่วนใหญ่จะใช้บริการรถเกี่ยวนวดข้าวเป็นหลัก ปัจจุบันคิดค่าบริการประมาณไร่ละ ๖๐๐ บาท ยังแพงกว่าเปรียบเทียบกับค่าแรงคนเกี่ยว ๑ คนต่อ ๑ ไร่ แต่แรงงานปัจจุบันค่อนข้างหายาก และข้าวมักสุกพร้อมเกี่ยวพร้อม ๆ กัน บริการเกี่ยว/นวดจึงค่อนข้างได้รับความนิยมมากกว่า และมีแนวโน้ม ที่จะมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นมากขึ้น

ธุรกิจบริการรถเกี่ยวนวดข้าวกรณีตัวอย่าง ใช้วงเงินลงทุนจัดซื้อรถขนาด ๗๐ แรงม้า ๑ คัน ราคาคันละประมาณ ๑ ล้านบาท เกี่ยวข้าวได้วันละประมาณ ๒๕ ไร่ รายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายวันละ ๑๕,๐๐๐ บาท ค่าจ้างคนคุมรถ ๒ คน ๆ ละ ๖๐๐/๔๐๐ บาทรวม ๑,๐๐๐ บาท ค่าน้ำมัน ๑๐ ลิตร ๓๐๐ บาท ค่าบำรุงรักษาเฉลี่ยวันละ ๑,๗๐๐ บาท ค่าเสื่อมราคา ๕ ปีคิดวันทำงานปีละ ๑๐๐ วัน ๕ ปี ตกวันละ ๒,๐๐๐ บาท ค่าจ้างรถบรรทุกรถเกี่ยวข้าวในรัศมี ๑๐๐ กิโลเมตรวันละ ๔,๐๐๐ บาท รวมค่าใช้จ่ายวันละ ๙,๐๐๐ บาท คิดเป็นกำไรวันละ ๖,๐๐๐ บาท หรือไม่เกิน ๒ ปีได้คืนทุนค่าจัดซื้อรถ แต่หากโชคไม่ดีเกิดความเสียหายระหว่างการทำงาน โดยเฉพาะเวลานำรถขึ้นลงจากรถบรรทุก ระยะเวลาคืนทุนอาจยืดออกไปยาวกว่านี้ แต่ก็นับว่าเป็นการลงทุนที่น่าสนใจกว่าการทำนาด้วยตนเอง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ธุรกิจอุตสาหกรรม (BOC) โทร. 02 202 4426,4550

--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ