งานศึกษาค้นคว้า: กรณีศึกษา-วัวลายหมู่บ้านวัฒนธรรมละเครื่องเงินเชียงใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 21, 2013 17:16 —กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเครื่องเงินในประเทศไทยมีความเจริญเติบโตเป็นอย่างมาก ซึ่งในการผลิตต้องอาศัยความรู้อย่างดีในด้านศิลปะ และความชำนาญในกระบวนการผลิต ตั้งแต่การออกแบบ การผลิตต้นแบบและแม่พิมพ์ การขึ้นรูปโลหะการหล่อ เพื่อได้งานที่มีความประณีต สวยงามเป็นที่สนใจของตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

ซึ่งชุมชนย่านถนนวัวลาย จังหวัดเชียงใหม่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินที่สร้างชื่อเสียงให้กับเมืองเชียงใหม่มาจนถึงปัจจุบัน ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สร้างงาน และสร้างอาชีพให้กับชุมชนในวันนี้กำลังจะสูญหายไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เสียงตอกขันเงินที่เคยได้ยินมาตลอดนับแต่โบราณ เริ่มแผ่วเบาลงทุกขณะ ด้วยเหตุนี้คนในชุมชนถนนวัวลาย จึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อรักษาเอกลักษณ์ของล้านนาเอาไว้

ด้วยเพราะเหตุนี้คนในชุมชนบ้านวัวลายส่วนใหญ่จึงยึดอาชีพทำเครื่องเงินเป็นทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว โดยผู้ชายจะเป็นฝ่ายตี ในขณะที่ผู้หญิงจะเป็นฝ่ายตกแต่งให้มีความประณีต สวยงาม ผู้เฒ่าและเด็กๆ รับหน้าที่ขัดเงาให้เครื่องเงินมีความงดงามน่าใช้ การทำเครื่องเงินจึงกลายเป็นทุนทางสังคมของคนย่านถนนวันลายมาจนถึงปัจจุบัน

เครื่องเงินบ้านวัวลายจังหวัดเชียงใหม่ ได้สร้างเอกลักษณ์อันโดเด่นของเครื่องเงินภาคเหนืออยู่ที่วิธีการแกะลายสองด้าน

เครื่องเงินที่ผลิตโดยชาวบ้านวัวลาย ก็เช่นกันจะตอกลายจากด้านในให้นูนตามโครงร่างรอบนอกของลายก่อนแล้วตีกลับจากด้านนอก เป็นลายละเอียดอีกที ลักษณะลายและรูปทรงเครื่องเงินภาคเหนือก็มีแบบเฉพาะของตนเอง บางคนที่นึกถึงเครื่องเงินเชียงใหม่ก็จะถึงขันทรงบาตรที่มีลายนูนลึก นั่นเป็นสลุงแบบพม่า ส่วนสลุงพื้นเมืองเชียงใหม่นั้น ปากกว้างกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางตอนก้นและตอนปากไม่ต่างกันมากนัก เกือบจะตรงเป็นทรงกระบอกเลย ซึ่งก็แตกต่างจากขันภาคกลางที่เป็นทรงปากกว้างแต่ก้นแคบแบบที่เรียกว่าทรงมะนาวตัด ลวดลายก็เช่นเดียวกัน สลุงพม่านิยมทำ ลายลึก รูปชาดก รูปสิบสองนักษัตรของเชียงใหม่ลายไม่ลึกมากเท่าพม่า แต่ก็ลึกกว่าของภาคกลาง โบราณใช้สลุงเรียบ ระยะต่อมามีลายชาดก ลายสิบสองนักษัตร ลายดอกกระถิน ลายดอกทานตะวัน ลายสับปะรด ลายนกยูง ลายดอกหมาก ซึ่งบางคนก็เรียก ลายแส้บ้าง ลายฝักข้าวโพดบ้าง

นอกจากลายเชียงใหม่แล้ว ยังมีลายแม่ย่อยที่ทำขันกันมาแต่โบราณ ขันแม่ย่อยดั้งเดิมเป็นขันคล้ายบาตรแบบพม่า แต่มีฝา มีลายประกอบตัวสัตว์ประจำราศี เป็นของแม่ย่อยโดยเฉพาะ ลายแม่ย่อยนี้มีลักษณะขดๆ คล้ายกนกแต่ไม่ใช่กนก มีกิ่งก้านเล็กๆ ประกอบตัวขดแต่ก็ไม่เป็นดอกไม้ ใบไม้แต่อย่างใด ดูคล้ายลูกน้ำตัวโตๆ ที่มีขนรุงรังเบียดกันแน่นไปทั้งตามขอบและพื้นขัน กรอบลายขันแม่ย่อยที่แท้เป็นรูปปลิง มีลายริมปากขันเป็น “ดอกแก้ว” หรือดอกพิกุลลายนกยูง ลายดอกหมาก มีลักษณะเป็นทางยาวตามแนวตั้งซ้อนๆ กันเช่นเดียวกับลายประเภทต่อดอกภาคกลางลวดลายต่างๆ ที่พบเห็นโดยทั่วไปบนขันเงินมีดังนี้

1. รูปธรรมชาติและรูปเหมือนจริงต่างๆ เช่น ทิวทัศน์ทั่วไป พระนเรศวรชนช้าง ชาวนาทำนาไถนา

2. รูปเทพเจ้าหรือลายเทพพนมมาจากความเชื่อโบราณแบบฮินดู เช่น พระวิษณุกรรม พระสุรัสวดี เทพบุตรเทพธิดาทั่วไป

3. รูปสัตว์หินพานต์ใช้ประกอบในงานก่อสร้างทางพุทธศาสนา เช่น ประตูหน้าต่างโบสถ์ สำหรับภาชนะก็จะนำไปสลักบนหีบบุหรี่ ขันเงิน ขันพานรอง

4. รูปตัวละครในวรรณคดีที่นิยมกันมากคือ รามเกียรติ์ มีรูปพระราม นางสีดา ยักษ์ ลิง ทั้งเต็มตัว ครึ่งตัวในอิริยาบถต่างๆ หรือเป็นภาพเหตุการณ์ตอนใดตอนหนึ่งทั้งตอน รูปสัตว์ 12 ราศี มีที่มาจากความเชื่อแบบจีน

ส่วนลวดลายที่ใช้บนขันเงินจะมีลายเด่นๆ ดังนี้

1. ลายกนก เป็นศิลปะประจำชาติของไทย ซึ่งสืบเนื่องมาจากโบราณ

2. ลายพุ่ม เช่น พุ่มข้าวบิณฑ์เทพพนม

3. ลายช่อ เช่น ช่อกนกสามตัวช่อเปลว

4. ลายก้านขด เป็นการนำลายหลายอย่างมาต่อกันโดยมีลายเชื่อมต่อร้อยกันไปเรื่อยๆ

5. ลายเปลว ลายเครือเถา เป็นลายที่เลื้อยไปอย่างอิสระ

6. ลายขอบและลายเชิง เช่น ลายหน้ากระดาษ ลายเกลียวลายก้านต่อดอก ลายกรวยเชิง ลายเฟือง

7. ลายบัวมีหลายแบบทำตามส่วนโค้งของภาชนะ เช่น เชิงพาน

8. ฐานประกอบลายใช้เป็นลายฐานต่างๆ เช่นเดียวกับลายบัว

9. ลายก้านขด เป็นเถาขดกลมจะเป็นวงเดียวหรือสองวงหรือไขว้กันซึ่งบางตอนอาจต้องประดิษฐ์ตัวกนกให้มีขนาดและรูปร่างตามเนื้อที่พบตัวกนกและกาบจะต้องออกสลับกันไป เพื่อให้ได้ช่องไฟที่ดี ลายก้านขดมีความงามอยู่ตรงวงขดกลมที่ได้จังหวะกันดี

10.ลายเปลว ลายชนิดนี้เป็นลายที่เกิดทีหลังลายก้านขด เถาของลายเปลวมีลักษณะคล้ายคลึงกับเถาไม้หรือเปลวไฟที่แลบเลียไหวระรึกเมื่อต้องลม เถาลายเปลวมีการขดกลมเหมือนลายก้านขด ลายเปลวส่วนมากนิยมทำภาพประกอบในเถากลม เช่น ตัวสัตว์ต่างๆ

ขั้นตอนการขึ้นรูปภาชนะเครื่องเงิน(สลุง) ในรูปแบบปัจจุบัน

1. เตรียมโลหะเงินบริสุทธิ์ 100% ชั่งน้ำหนักตามต้องการบรรจุลงในเบ้าหลอม ซึ่งทำด้วยดินเผาที่มีใช้มาแต่โบราณมีลักษณะคล้ายถ้วยหรือเบ้าหลอม

2. หลอมเงิน โดยก่อไฟใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิง โดยถ่านที่ใช้ต้องเป็นถ่านที่เผาจากไม้สดเพราะจะเป็นถ่านที่ให้ความร้อนสูง

3. นำเบ้าหลอมไปวางบนเตาเผา ความร้อนสูงโดยใช้ลมสูบเข้าไปเรียกว่า เตาเส่า

4. เมื่อโลหะเงินในเบ้าหลอมละลายเป็นน้ำ อาจใส่เกลือแกงดินประสิว และผงบอแร็กซ์ เพื่อทำให้เนื้อเงินใส เนียนและอ่อนยิ่งขึ้น เกลือแกงจะช่วยผสานให้เนื้อเงินเป็นเนื้อเดียวกัน และจะไล่เศษผงถ่าน และอโลหะต่างๆ ที่ไม่ต้องการออกจากเนื้อเงิน และเนื้อเงินไม่ติดรางเทและเบ้าหลอม

5. นำรางเท (เบิ้ง) รูปทรงกลม ใส่น้ำมันก๊าด ประมาณ 3 ใน 4 ของรางเท แล้วจุดไฟเผาน้ำมันก่อนเทเนื้อเงินลงไป วัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้เนื้อเงินจับตัวกัน และไล่ฟองอากาศออกไป เมื่อเนื้อเงินแทรกตัวอยู่ภายใน

6. เมื่อโลหะเงินละลายเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมดให้ใช้คีมยาวคีบเบ้าหลอมออกจากเตา แล้วเทเนื้อเงินลงไปในรางเท

7. รอให้เนื้อเงินแข็งตัว จึงคีบออกมา และนำเนื้อเงินไปเผาไฟอีกครั้งเพื่อให้น้ำมันที่เกาะติดอยู่ออกไปจนหมด ก่อนจะนำไปล้างน้ำ

8. นำก้อนโลหะเงินรูปทรงกลมไปขึ้นรูป หรือการม้าง(ทุบ หรือ ตี) ด้วยทั่งเหล็กและค้อนขึ้นรูป ให้เป็นแผ่นโลหะที่มีลักษณะความหนาเท่ากันทั้งแผ่น จะได้โลหะที่มีลักษณะเป็นแผ่นกลมและแบน ตีแต่งให้มีเส้นสันขอบโลหะประมาณ 0.25 นิ้ว

9. ตีโลหะให้แผ่ขยายเป็นแผ่นและเป็นรูปทรงกลม ด้วยค้อนม้าง (ค้อนม้าง ใช้สำหรับตีแผ่ขยาย) ตีขยับไล่เนื้อโลหะไปทีละรอบ ไม่ควรตีซ้ำในรอยเดิม เมื่อวนครบรอบจากจุดศูนย์กลางมาถึงริมขอบแล้ว นำไปเข้าไฟ (เผาไฟ) ให้โลหะอ่อนตัวแล้วเริ่มตีไล่เนื้อรอบต่อไปเพื่อให้โลหะบางลงและแผ่ขยายกว้างขึ้น

10. ตีแผ่โลหะโดยตีกลับไปมาทั้งสองด้านจนกว่าโลหะจะมีความกว้างเท่ากับ 7 นิ้ว วิธีการตีจะต้องตีให้เป็นระบบ คือ ตีให้เป็นวงกลมไปเป็นรอบๆ และจะต้องหมุนชิ้นงานไปเรื่อยๆ จนครบรอบแล้วเริ่มตีรอบใหม่ไม่ตีซ้ำรอบเดิมเพราะเนื้อโลหะจะแข็งตัว ทำให้แตกหรือขยายตัวไม่เท่ากัน

11. ตีทำขอบ โดยใช้ค้อนม้างตีรอบๆ ขอบให้บางลงจะทำให้ขอบนั้นสูงตั้งขึ้น และจะเห็นสันขอบได้ชัดเจนมากขึ้นและเน้นด้วยค้อนเบ๊าะ

12. ตีขอบเส้นขอบของขัน โดยใช้ทั่งสำหรับตีขอบ ซึ่งหน้าทั่งจะมีหลุมสำหรับนำขอบโลหะลงไปได้พอดี นำแผ่นเงินคว่ำขอบที่นูนลงไป และตีจากด้านหลังแผ่นโลหะจนครบรอบวง จะได้สันขอบโลหะที่นูน และชัดเจนขึ้นกว่าเดิม แล้วใช้ค้อนม้างไล่ตีแผ่นโลหะให้เป็นแผ่นเรียบ

13.ใช้วงเวียนวัดเพื่อหาจุดศูนย์กลางของโลหะ ใช้เหล็กตอกลงไปให้เป็นรูเพื่อทำสัญลักษณ์ของจุดศูนย์กลาง ขีดด้วยวงเวียนให้เป็นวงกลม เป็นชั้นๆ เพื่อตีไล่ไปทีละชั้น

14. ตีแผ่ขึ้นรูปจากด้านใน โดยตีจากริมขอบหนึ่งรอบ จะทำให้รอบนอกบางลง และทำให้โลหะแข็งตัวเพื่อรักษารูปทรง จาก นั้นตีไล่จากส่วนที่ใกล้กับจุดศูนย์กลาง แล้วตีขยับเป็นรอบๆ ออกมาจะทำให้โลหะบางลง และรูปทรงจะหุ้มขึ้น

15. ตีแผ่นโลหะไล่ไปทีละชั้น แต่ละชั้นประมาณ 1 หน้าค้อนให้แผ่ขยายออก เรียกว่า การตีเพื่อให้ส่วนที่หนากว่านั้นดันเนื้อโลหะ ในส่วนที่บางออกมา จึงทำให้โลหะนั้นมีความกว้างเพิ่มขึ้น

16. ได้โลหะที่บางลงจำนวน 2 ชั้นแล้วให้ไล่โลหะทั้ง 2 ชั้นให้เป็นเนื้อเดียวกัน จะทำให้ได้ความหนาเท่ากัน หลังจากตีขยายครบรอบต้องสลับกับการเผาไฟทุกครั้งก่อนตีในรอบใหม่

17. ทำขั้นตอนซ้ำเหมือนเดิมคือ ใช้วงเวียนขีดให้เป็นรอยเพื่อแบ่งเป็นชั้น ตีตามรอยขีดให้เนื้อโลหะในชั้นรอบนอกตั้งขึ้นเป็น ขอบ เนื้อโลหะจะตั้งสูงขึ้น

18. ตีไล่เนื้อจากตรงกลางวนออกมาทีละรอบของ 1 หน้าค้อน เนื้อโลหะนั้นจะค่อยๆ ดันออกทางด้านข้างให้แผ่ขยายกว้างและหุ้มขึ้น

19. เผาไฟแล้วใช้วงเวียนขีดให้เป็นชั้น ตีไล่เนื้อทีละชั้นจากจุดศูนย์กลาง และตีจากจุดก้นขันเพื่อให้โลหะยกขึ้นเป็น 2 ชั้น ตีขึ้น รูปลักษณะนี้สลับกับการเผาไฟ

20. วัดความสูงให้ได้ตามที่กำหนด แล้วตีแผ่จากก้นขันให้ขยายเนื้อตรงกลางออกมาเพื่อให้บางและกว้างขึ้น

21. ตีแผ่ก้นขันให้กว้างขึ้นให้ได้รูปทรง และตีไล่ตั้งแต่ขอบของขันไล่ลงไป ปรับรอยที่เป็นชั้นๆ ให้เป็นแผ่นเรียบ

22. ตกแต่งปากขอบให้เสมอกันทั้งใบ ใช้มือช่วยในการบีบดัดแต่งทรง

23. ใช้วงเวียนขีดจากจุดศูนย์กลางของขัน ขีดความกว้างรอบก้นของขันให้เป็นวงกลม แล้วตีให้เนื้อขยายขึ้นภายในขอบเขตที่ ขีดเป็นวงกลมไว้ และตีแผ่ไล่ออกเป็นชั้นๆ ก้นขันจะมีรูปทรงที่คมและชัดขึ้น

24. แต่งทรงของขอบขันให้ได้ความกว้างเท่ากับที่กำหนดโดยเริ่มจากส่วนที่อยู่ใกล้กับปากขันก่อน ทั้งนี้เพื่อจะได้ไล่ตีลงไป โดยใช้เป็นแนวในการตีขยายขนาด

25. ตีแต่งทรงตรงก้นขันโดยจะใช้วงเวียนวัดหาจุดศูนย์กลางขีดเป็นวงกลม ตีแผ่ให้ก้นขันขยายออก ส่วนโค้งของขันให้ใช้วงเวียน วัดแบ่งช่วงระหว่างก้นขัน กับขอบ แล้วตีเฉพาะส่วนนั้นให้ได้ก้นขันที่โค้ง

26. ตีไล่เนื้อจากตรงกลาง ให้เนื้อโลหะนั้นแผ่ขยายออกโลหะมีความหนาเท่ากัน และตีแผ่ตามเส้นวงเวียน เพื่อลบขอบก้นขันให้โค้งตามรูปทรง

27. ตีปรับขอบก้นขันทั้งด้านในและด้านนอกตามเส้นวงเวียนที่กำหนดรูปทรง

28. เมื่อตีลบขอบก้นเสร็จจะได้ขันตามรูปแบบ จากนั้นนำขันไปล้างทำความสะอาดขัดด้วยแปรงทองเหลือง ใช้มะขามเปียกจะช่วยทำให้ผิวโลหะนั้นใส เงางาม

29. สำหรับขันที่ไม่ต้องทำลวดลายก็จะนำไปเคาะไล่เนื้อเพื่อให้เนื้อแน่นคงรูปทรงและผิวมันเงางาม

30. เริ่มเคาะไล่ผิวตั้งแต่ปากขันไปที่ละรอบตามจังหวะของหน้าค้อน หน้าทั่งและค้อนที่ใช้เคาะต้องขัดมันให้เงางาม เพื่อที่จะทำให้ผิวโลหะที่โดนตีนั้นเกิดความเรียบเป็นเนื้อเดียวกัน และจะทำให้เกิดความเงางาม

31. เคาะปรับผิวด้านข้างจนรอบแล้วใช้วงเวียนวัดหาจุดศูนย์กลาง เพื่อเป็นหลักแนวในการเคาะก้นขันโดยเริ่มเคาะจากจุดศูนย์กลางออกมา

ขั้นตอนในการสลักลวดลายบนขันเงิน

1. นำภาชนะเครื่องเงิน (ขัน) ที่จะสลักลวดลาย วาดลวดลายด้านใน ในกรณีที่ตอกจากด้านในให้นูนออกมา

2. ตอกลวดลายจากด้านในตามรูปแบบที่เขียนไว้ อาจใส่แผ่นชันด้านนอกเพื่อยึดให้ตอกลวดลายได้ง่าย หรือไม่ใส่ก็ได้ดูตามความเหมาะสมของงาน

3. หลังจากตอกโครงสร้างด้านในแล้ว นำขันมาใส่ชันให้เต็มเพื่อตอกลวดลายลายละเอียดจากด้านนอก

4. วาดลายละเอียดจากด้านนอกอีกครั้ง เพื่อสะดวกในการตอกลาย

5. ตอกสลักลวดลายและรูปภาพด้านนอกให้สวยงาม ด้วยเครื่องมือชนิดต่างๆ ที่เหมาะสมกับลายนั้น

6. เมื่อเสร็จแล้วละลายชันออกโดยความร้อนจากหัวไฟแก๊สหรือถ่านไฟ ให้ชันละลายออกจนหมด

7. นำขันเงินที่เสร็จแล้วนั้นไปต้มด้วยกรดกำมะถันเจือจางต้มนานประมาณ 30 นาที ที่อุณหภูมิประมาณ 90 องศา

8. ขัดขันเงินในน้ำสะอาดด้วยแปรงทองเหลือง จะใช้ผงซักฟอกกับน้ำมะขามเปียก และหินขัดขัดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเพิ่มความแวววาว เสร็จแล้วตากให้แห้ง

  • ในสมัยโบราณการทำลวดลายนูนสูงช่าง หรือที่เรียกว่า สล่า จะทำเป็นลายนูนสูงชั้นเดียว โดยดุนลายด้านในเพียงชั้นเดียว ต่อมาช่างก็คิดลายสองชั้น โดยการดุนลายด้านในสองชั้น จนถึงสามชั้น ช่างจะทำลายนูนสูง โดยสังเกตจากธรรมชาติ สิ่งที่อยู่รอบตัวทุกอย่าง โดยช่างพยายามที่จะให้เหมือนจริงทุกอย่าง การทำลายนูนสูงที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นการทำงานของช่างจึงต้องใช้ทั้งสมาธิ ความใจเย็น ความอดทน และใช้เวลานานมากกว่าจะได้ชิ้นงานหนึ่ง

Cluster Info

คลัสเตอร์เครื่องเงินวัวลาย จังหวัดเชียงใหม่

โทร. 0-5327-8189, 089-955-5116

ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1

โทร. 0-5324-5361-2

โทรสาร 0-5324-8315

--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ