ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ สิงหาคม 2556

ข่าวทั่วไป Wednesday September 4, 2013 16:23 —กรมการค้าภายใน

เงินเฟ้อของประเทศเดือนสิงหาคม 2556 สูงขึ้นในอัตราชะลอลง

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เดือนสิงหาคม 2556 เท่ากับ 105.41 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2556 ลดลงร้อยละ 0.01 และเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2555 สูงขึ้นในอัตราชะลอลง ร้อยละ 1.59 (เดือนกรกฎาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 2.00) และเทียบเฉลี่ยเดือนมกราคม - สิงหาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 2.47 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีปรับตัวลดลงเนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง บางชนิดโดยเฉลี่ยในประเทศลดลงตามภาวะราคาตลาดโลก ขณะที่ราคาอาหารสดประเภทเนื้อสุกร ไก่สด ไข่มีราคาสูงขึ้น แต่ผักสดหลายชนิดมีราคาลดลง เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต รุ่นใหม่ และสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สินค้าอุปโภค-บริโภคหลายรายการ มีการจัดกิจกรรมการส่งเสริมการจำหน่ายเพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชน ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมภาวะ การใช้จ่ายด้านการบริโภคยังอยู่ในเกณฑ์ดี มีเสถียรภาพ

การเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้บริโภค มีการปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ปัจจัยหลักมาจากการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ โดยดัชนีลดลงร้อยละ 0.10 สาเหตุจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงบางชนิดโดยเฉลี่ยของประเทศปรับตัวลดลง ส่งผลให้ดัชนีลดลง ร้อยละ 1.01 นอกจากนี้ สินค้าและบริการอื่นๆ ที่ปรับราคาลดลง ได้แก่ ผ้าเช็ดตัว ตู้เย็น เตารีด เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น เป็นต้น ขณะที่สินค้าประเภทค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลและสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ได้แก่ น้ำยาระงับกลิ่นกาย แชมพู ยาสีฟัน กระดาษชำระ น้ำยาถูพื้น น้ำยาปรับผ้านุ่ม มีการปรับราคาสูงขึ้นเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม แม้ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้จะปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่ก็ยังมีสินค้าบางหมวดที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นได้จากหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 0.16 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในหมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ หมวดไข่และผลิตภัณฑ์นม และหมวดอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ ตามต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น โดยดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 1.32, 0.96 และ 0.19 ตามลำดับ นอกจากนี้สินค้าประเภทอื่นๆ ที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ขณะที่สินค้าที่มีการปรับราคาลดลง ประกอบด้วย ผักสด ได้แก่ ขึ้นฉ่าย ผักชี ผักกาดหอม หัวผักกาดขาว ผักคะน้า กะหล่ำปลี และเครื่องประกอบอาหาร ได้แก่ น้ำมันพืช กะทิสำเร็จรูป มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) เป็นต้น

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนสิงหาคม 2556

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 450 รายการครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนสิงหาคม 2556

ปี 2554 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนสิงหาคม 2556 เท่ากับ 105.41 (เดือนกรกฎาคม 2556 เท่ากับ 105.42)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนสิงหาคม 2556 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนกรกฎาคม 2556 ลดลงร้อยละ 0.01

2.2 เดือนสิงหาคม 2555 สูงขึ้นร้อยละ 1.59

2.3 เทียบเฉลี่ย 8 เดือน (มกราคม - สิงหาคม) 2556 กับระยะเดียวกันของปี 2555 สูงขึ้นร้อยละ 2.47

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนสิงหาคม 2556 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2556 ลดลง ร้อยละ 0.01 (เดือนกรกฎาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.10) จากการลดลงของดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.10 ขณะที่ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.16

3.1 ดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.10 (เดือนกรกฎาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.28) จากการลดลงของหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ลดลงร้อยละ 0.31 ตามการลดลงของดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 1.01 (น้ำมันเบนซิน 95 แก๊สโซฮอล์ 91,95, E20 และ E85) สาเหตุจากการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยภายในประเทศ ตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลก

ขณะที่หมวดสินค้าและบริการอื่นๆ ที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้น ร้อยละ 0.01 จากการสูงขึ้นของกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องแต่งกายสตรี ร้อยละ 0.04 (ผ้าตัดเสื้อ ชุดนอนสตรี ชุดสูทสตรี กางเกงชั้นในสตรี) รองเท้าบุรุษ สูงขึ้นร้อยละ 0.07 (รองเท้าแตะฟองน้ำบุรุษ) หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.02 จากการสูงขึ้นของค่าเช่าที่พักอาศัย ร้อยละ 0.01 (ค่าเช่าบ้าน) ค่าวัสดุก่อสร้าง ร้อยละ 0.11 (อิฐ ปูนซิเมนต์ กระเบื้องซิเมนต์ใยหินมุงหลังคา แผ่นไม้อัด ) ค่าแรง ร้อยละ 0.12 (ค่าแรงช่างไฟฟ้า ค่าแรงช่างประปา ค่าแรงช่างทาสี) สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ร้อยละ 0.14 (ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น (น้ำยาถูพื้น) น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ซักผ้า (น้ำยาซักผ้า) ก้อนดับกลิ่น สารกำจัดแมลง/ไล่แมลง) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.10 จากการสูงขึ้นของค่าตรวจรักษาและค่ายา ร้อยละ 0.03 (ยาแก้ปวดลดไข้ ยาปฏิชีวนะ ยาฆ่าเชื้อรา ยาขับลม ยาคุมกำเนิด ยาหม่อง ยาวิตามิน/อาหารเสริม ยาบรรเทาปวดกล้ามเนื้อ ถุงยางอนามัย ค่าตรวจสุขภาพประจำปี ค่าห้องพักคนไข้-โรงพยาบาลรัฐบาลและโรงพยาบาลเอกชน) ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ร้อยละ 0.15 (น้ำยาระงับกลิ่นกาย แชมพู ยาสีฟัน กระดาษชำระ ผ้าอนามัย แป้งทาผิวกาย) และค่าบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 0.39 (ค่าทำเล็บ ค่าแต่งผมชาย) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษา และการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ 0.04 จากการสูงขึ้นของค่าอุปกรณ์กีฬาและเครื่องเล่น สูงขึ้นร้อยละ 0.03 (ของเล่นฝึกสมอง) ค่าใช้จ่ายในการเดินทางโอกาสพิเศษและท่องเที่ยว ร้อยละ 0.01 (ค่าห้องพักโรงแรม) และค่าอาหาร ของถวายพระ ไหว้เจ้าและอื่นๆ ร้อยละ 0.23 (เครื่องถวายพระ)

3.2 ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.16 (เดือนกรกฎาคม 2556 ลดลงร้อยละ 0.21) จากการสูงขึ้นของราคาหมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้น ร้อยละ 1.32 (เนื้อสุกร กระดูกซี่โครงหมู เนื้อโค เครื่องในหมู เครื่องในวัว หมูหยอง ไส้กรอก ลูกชิ้นหมู/ไก่ ไก่สด ไก่ย่าง ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล ปลาทับทิม ปลาทู ปลากะพง ปลาโอ กุ้งขาว กุ้งกุลาดำ หอยแครง หอยลาย หอยแมลงภู่ ปูม้า ปูทะเล) หมวดไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 0.96 (ไข่ไก่ ไข่เป็ด ไข่เค็ม) หมวดอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.19จากการสูงขึ้นของอาหารบริโภค-ในบ้าน ร้อยละ0.26 (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวผัด ปลากระป๋อง อาหารว่าง) อาหารบริโภค-นอกบ้าน ร้อยละ 0.05 (อาหารเช้า อาหารเย็น (อาหารตามสั่ง)) นอกจากนี้ หมวดอื่นๆ ที่มีราคาปรับสูงขึ้น ได้แก่ หมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.07 (โซดา น้ำอัดลม น้ำผลไม้ น้ำดื่มบริสุทธิ์กาแฟ (ร้อน/เย็น)) หมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 0.06 (ข้าวสารเหนียว แป้งข้าวเจ้า แป้งสาลี เต้าหู้ อาหารธัญพืช ขนมปังปอนด์) ขณะที่หมวดผักและผลไม้ ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 1.78 เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้นโดยเฉพาะหมวดผักสด ลดลงร้อยละ 8.77 (ขึ้นฉ่าย ผักกาดหอม หัวผักกาดขาว ผักชี ผักคะน้า กะหล่ำปลี ฟักเขียว พริกสด ถั่งฝักยาว) และหมวดเครื่องประกอบอาหาร ลดลงร้อยละ 0.07 (น้ำตาลทราย น้ำมันพืช กะทิสำเร็จรูป มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด))

4. พิจารณาเทียบกับดัชนีราคาเดือนสิงหาคม 2555 สูงขึ้นร้อยละ 1.59 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคา หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 2.65 โดยดัชนีหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 1.31 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 8.19 ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 5.27 ผักและผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 1.02 เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 0.52 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.51 และอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.28 สำหรับดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.06 จากการสูงขึ้นของหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.81 หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 1.12 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.68 หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร สูงขึ้น ร้อยละ 0.97 หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษา และการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ 0.43 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 5.38

5. พิจารณาดัชนีราคาเฉลี่ย 8 เดือนของปี 2556 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2555 สูงขึ้นร้อยละ 2.47 จากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 3.58 และดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.83 ตามการสูงขึ้นของหมวด ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 0.88 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 5.54 ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 3.75 ผักและผลไม้ ร้อยละ 9.46 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 0.54 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.44 อาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 1.69 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.83 หมวดเคหสถาน ร้อยละ 2.43 หมวดการตรวจรักษาและบริการ ส่วนบุคคล ร้อยละ 0.97 หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ร้อยละ 1.55 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา และการศาสนา ร้อยละ 0.50 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 7.18

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 312 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 138 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 27 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนสิงหาคม 2556 เท่ากับ 103.14 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนกรกฎาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.07

6.2 เดือนสิงหาคม 2555 สูงขึ้นร้อยละ 0.75

6.3 เทียบเฉลี่ย 8 เดือน (มกราคม - สิงหาคม) 2556 กับระยะเดียวกันของปี 2555 สูงขึ้นร้อยละ 1.13

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนสิงหาคม 2556 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.07 สินค้าและบริการที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (โซดา น้ำอัดลม น้ำผลไม้ น้ำดื่มบริสุทธิ์กาแฟ (ร้อน/เย็น)) หมวดอาหารสำเร็จรูป ได้แก่ อาหารบริโภค- ในบ้าน (กับข้าวสำเร็จรูปข้าวผัด ปลากระป๋อง อาหารว่าง) และอาหารบริโภค-นอกบ้าน(อาหารเช้า อาหารเย็น(อาหารตามสั่ง)) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า (ผ้าตัดเสื้อ ชุดนอนสตรี ชุดสูทสตรี กางเกงชั้นในสตรี รองเท้าแตะฟองน้ำบุรุษ) หมวดเคหสถาน (ค่าเช่าบ้าน อิฐ ปูนซิเมนต์ กระเบื้องซิเมนต์ใยหินมุงหลังคา แผ่นไม้อัด ค่าแรงช่างไฟฟ้า ค่าแรงช่างประปา ค่าแรงช่างทาสี ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น (น้ำยาถูพื้น) น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ซักผ้า (น้ำยาซักผ้า) ก้อนดับกลิ่น สารกำจัดแมลง/ไล่แมลง) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล (ยาแก้ปวด ลดไข้ ยาปฏิชีวนะ ยาฆ่าเชื้อรา ยาขับลม ยาคุมกำเนิด ยาหม่อง ยาวิตามิน/อาหารเสริม ยาบรรเทาปวดกล้ามเนื้อ ถุงยางอนามัย ค่าตรวจสุขภาพประจำปี ค่าห้องพักคนไข้-โรงพยาบาล น้ำยาระงับกลิ่นกาย แชมพู ยาสีฟัน กระดาษชำระ ผ้าอนามัย แป้งทาผิวกาย ค่าทำเล็บ ค่าแต่งผมชาย) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษา และการศาสนา (ของเล่นฝึกสมอง ค่าห้องพักโรงแรม เครื่องถวายพระ)

ขณะที่สินค้าและบริการที่มีราคาลดลง ได้แก่ หมวดเครื่องประกอบอาหาร (น้ำตาลทราย น้ำมันพืช กะทิสำเร็จรูป มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด)) หมวดสิ่งทอสำหรับใช้ในบ้าน (ผ้าเช็ดตัว) และเมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างร้อยละ 0.5 - 3.0 ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนสิงหาคม 2556 ยังอยู่ในช่วงเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย

--สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กรมการค้าภายใน--


แท็ก ดัชนีราคา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ