ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือน เมษายน 2552

ข่าวทั่วไป Monday May 4, 2009 15:36 —กรมการค้าภายใน

กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนเมษยน 2552 โดยสรุป จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 417 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนเมษายน 2552

ในปี 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนเมษายน 2552 เท่ากับ 104.6 (เดือน มีนาคม 2552 คือ 103.6)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนเมษายน 2552 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนมีนาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 1.0

2.2 เดือนเมษายน 2551 ลดลงร้อยละ 0.9

2.3 เฉลี่ยช่วงระยะเดียวกัน ( มกราคม - เมษายน ) ปี 2551 ลดลงร้อยละ 0.4

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนเมษายน 2552 เทียบกับเดือนมีนาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 1.0 ( เดือนมีนาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.5 ) สาเหตุสำคัญเนื่องจากราคาอาหารสดมีการปรับตัวสูงขึ้นเกือบทุกประเภท ได้แก่ ผักและผลไม้ เนื้อสุกร ไข่ ปลาและสัตว์น้ำ ข้าวสารเจ้า และเครื่องประกอบอาหาร ประกอบกับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศโดยเฉลี่ยยังมีราคาสูง รวมทั้งรัฐบาลได้ลดการสนับสนุนมาตรการเกี่ยวกับการให้เงินอุดหนุนค่าสาธารณูปโภคในส่วนของค่าน้ำประปาลงในพื้นที่บางจังหวัด ส่งผลให้ประชาชนต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ ไก่สด เครื่องปรุงอาหาร เครื่องรับอุปกรณ์สื่อสารและวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น

3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.2 เป็นอัตราที่สูงขึ้นมากกว่าเดือนก่อนหน้า ( เดือนมีนาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.7 ) ปัจจัยสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาผักและผลไม้ ร้อยละ 6.6 ได้แก่ ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักบุ้ง ผักชี ต้นหอม มะนาว ส้มเขียวหวาน กล้วยน้ำว้า ส้มโอและสับปะรด เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและเป็นช่วงปลายฤดูกาลของผลไม้บางชนิด ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมีจำนวนลดลง เนื้อสุกร ร้อยละ 4.8 เป็นผลจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรชะลอการเลี้ยงลงจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดสุกรมีชีวิตเจริญเติบโตช้า ทำให้สุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มมีราคาสูงขึ้น ไข่ ร้อยละ 8.0 ปลาและสัตว์น้ำ ร้อยละ 0.4 ข้าวสารเจ้า ร้อยละ 0.3 และเครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 0.3 ( แยมผลไม้ ขนมหวานและไอศกรีม ) สำหรับสินค้าที่มีราคาลดลง คือ ไก่สด เครื่องปรุงอาหาร ( ซีอิ๊ว ซอสหอยนางรมและซอสพริก ) เครื่องดื่มรสชอกโกแลต กาแฟผงสำเร็จรูปและน้ำอัดลม เป็นต้น

3.2 ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.7 ( เดือนมีนาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ0.4 ) ปัจจัยสำคัญยังคงเป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยภายในประเทศ ร้อยละ 7.8 รวมทั้งการสูงขึ้นของค่าน้ำประปา ร้อยละ 6.3 เนื่องจากรัฐบาลได้ลดการสนับสนุนมาตรการเกี่ยวกับการให้เงินอุดหนุนค่าสาธารณูปโภคในส่วนของค่าน้ำประปาลงในพื้นที่บางจังหวัด ทำให้ประชาชนต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้เป็นการสูงขึ้นของสินค้าที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและของใช้ส่วนบุคคล ( ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม สารกำจัดแมลง ยาสีฟัน แชมพูสระผม กระดาษชำระ ครีมนวดผมและน้ำยาระงับกลิ่นกาย ) ในขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง ( ปูนซีเมนต์ กระเบื้องซีเมนต์ใยหินมุงหลังคาและแผ่นไม้อัด ) และเครื่องรับโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

4. ถ้าพิจารณาดัชนีเทียบกับเดือนเมษายน 2551 ลดลงร้อยละ 0.9 เป็นอัตราที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 12.9 ( น้ำมันเชื้อเพลิงและค่าโดยสารสาธารณะ ) และหมวดเคหสถาน ร้อยละ 4.9 ( ค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ) สำหรับดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น ร้อยละ 7.0 ( ข้าว เนื้อสุกร ปลาและสัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ เครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูปและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 1.5 ( ค่ายาและเวชภัณฑ์และค่าของใช้ส่วนบุคคล )หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา ร้อยละ 0.8 หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.5 และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.3

5. ถ้าพิจารณาดัชนีเฉลี่ยเทียบกับช่วงระยะเดียวกัน (มกราคม - เมษายน ) ปี 2551 ลดลงร้อยละ 0.4 สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 24.9 ค่ากระแสไฟฟ้า ร้อยละ 26.4 และค่าน้ำประปา ร้อยละ 40.5 เป็นสำคัญ โดยดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 9.3 และดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 6.8

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 300 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 117 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนเมษายน 2552 เท่ากับ 102.9 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนมีนาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.1

6.2 เดือนเมษายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 1.0

6.3 เฉลี่ยช่วงระยะเดียวกัน ( มกราคม- เมษายน ) ปี 2551 สูงขึ้นร้อยละ 1.4

โดยดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือนเมษายน 2552 เมื่อเทียบกับเดือน มีนาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.1 โดยสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ค่าน้ำประปา เครื่องประกอบอาหารและเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ เครื่องปรุงอาหาร และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น

--สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กรมการค้าภายใน--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ