ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือน กุมภาพันธ์ 2553

ข่าวทั่วไป Wednesday March 3, 2010 15:35 —กรมการค้าภายใน

เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ 2553 เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ คือ เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 3.7 เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5

กระทรวงพาณิชย์รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ 2553 เท่ากับ 106.88 เป็นการรายงานโดยใช้ตัวเลขหลังจุดทศนิยม 2 ตำแหน่งเป็นเดือนที่ 2 ตั้งแต่จัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคมานานกว่า 60 ปี โดยยังคงเป็นบวกอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 เพิ่มสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.7 การปรับตัวของดัชนีราคาผู้บริโภคมาจากการที่ราคาสินค้าเกษตรและอาหารยังมีทิศทางการปรับตัวสูงขึ้น ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 35.8 ในขณะที่สินค้าในหมวดของใช้ทั่วไปค่อนข้างทรงตัว

การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคแสดงให้เห็นทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ซึ่งมาจากทั้งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม

ภาคเกษตรกรรม

รายได้เกษตรกรที่แท้จริงเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ย. 2552 ถึงปัจจุบัน เป็นผลมาจากนโยบายการประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาล และการดูแลตลาดและสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิดของกระทรวงพาณิชย์ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็นข้าว มันสำปะหลัง และยางพารา

ภาคอุตสาหกรรม

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ทำให้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก

การฟื้นตัวทั้ง 2 ภาคทำให้รายได้และกำลังซื้อของประชาชนมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้การบริโภคในประเทศปรับเพิ่มสูงขึ้นทั้งในส่วนของปริมาณและราคาสินค้า

รายละอียดของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2553 โดยสรุปเป็นดังนี้

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 417 รายการครอบคลุม หมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2553

ในปี 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนกุมภาพันธ์ 2553 เท่ากับ 106.88 (เดือน มกราคม 2553 คือ 106.29 )

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2553 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนมกราคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.56

2.2 เดือนกุมภาพันธ์ 2552 สูงขึ้นร้อยละ 3.7

2.3 เฉลี่ยช่วงระยะเดียวกัน ( มกราคม - กุมภาพันธ์ ) ปี 2552 สูงขึ้นร้อยละ 3.9

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2553 เทียบกับ เดือนมกราคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.56 (เดือนมกราคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.6) เป็นภาวะที่ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยมีผลกระทบมาจากปัจจัยที่สำคัญ คือ สินค้าในหมวดอาหารสดและสินค้าอุปโภคหลายชนิดราคาปรับตัวสูงขึ้นรวมทั้งราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยภายในประเทศที่ปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สินค้าสำคัญๆ ที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ เนื้อสุกร ผักและผลไม้ ไก่สด ข้าวสาร ไข่และผลิตภัณฑ์นม ปลาและสัตว์น้ำ เครื่องประกอบอาหาร เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ยานพาหนะ ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ในขณะที่สินค้าที่มีราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง เครื่องรับอุปกรณ์สื่อสารและอาหารสดบางชนิด

3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.39 (เดือนมกราคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.7 ) สาเหตุสำคัญเนื่องจากราคาอาหารส่วนใหญ่มีการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ได้แก่ เนื้อสุกร ร้อยละ 3.25 ซึ่งเป็นผลจากสภาพอากาศที่ร้อนทำให้สุกรมีชีวิตเติบโตช้ารวมทั้งวัตถุดิบสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์มีราคาสูงขึ้น ทำให้สุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มมีราคาสูงขึ้น ผักและผลไม้ ร้อยละ 7.05 ได้แก่ ผักกาดขาว แตงกวา กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักชี มะเขือเจ้าพระยา ต้นหอม มะนาว ส้มเขียวหวาน ทุเรียน เงาะ ฝรั่งและส้มโอ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนทำให้ผลผลิตในพื้นที่เพาะปลูกบางชนิดได้รับความเสียหาย ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ไก่สด ร้อยละ 2.09 ข้าว ร้อยละ 1.20 ( ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว) ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 1.49 (ไข่ไก่ ไข่เป็ด นมสด ครีมเทียม ) เป็นผลจากการแก้ไขปัญหาผลผลิตไข่ไก่ล้นตลาดของรัฐบาล ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 ทั้งด้านการผลิตและการตลาดและเกษตรกรให้ความร่วมมือในการปลดแม่ไก่ที่หมดอายุก่อนกำหนดทำให้ปริมาณผลผลิตไข่ไก่ส่วนเกินลดลง ปลาและสัตว์น้ำ ร้อยละ 0.66 ( ปลานิล ปลาทับทิม กุ้งขาว ) เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 0.21 (ขนมหวาน ไอศกรีม น้ำมันพืช น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสพริก น้ำพริกแกง) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.15 ( เครื่องดื่มรสชอกโกแลต กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม น้ำผลไม้ กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม) สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ อาหารสดประเภท ผักบุ้ง เห็ด ถั่วฝักยาว พริกสด หัวหอมแดง มะม่วง ชมพู่ และผลิตภัณฑ์นม เช่น นมข้นหวาน นมผง นมเปรี้ยวและนมถั่วเหลือง เป็นต้น

3.2 ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.07 เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว (เดือนมกราคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.5 ) สาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นและลดลงโดยเฉลี่ยของราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน, ดีเซลหมุนเร็วและแก๊สโซฮอล์ ที่จำหน่ายภายในประเทศ ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยในเดือนนี้เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 0.52 ยานพาหนะ ร้อยละ 0.09 ( รถยนต์ รถจักรยานยนต์) เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.10 ( เบียร์) และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ( ยาสีฟัน ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ครีมนวดผม กระดาษชำระ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยารีดผ้า ) สำหรับสินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง ร้อยละ 0.13 ( ปูนซีเมนต์ กระเบื้องซีเมนต์ใยหินมุงหลังคา) เครื่องรับอุปกรณ์สื่อสาร ร้อยละ 0.34 ( เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ ) และเครื่องถวายพระ ร้อยละ 0.18

4. ถ้าพิจารณาดัชนีเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 สูงขึ้นร้อยละ 3.7 เป็นอัตราที่สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 5.1 ได้รับผลกระทบมาจาก ดัชนีหมวด ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 8.8 เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ 4.5 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 4.6 ผักและผลไม้ ร้อยละ 22.3 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.4 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 1.5 และอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 0.8 รวมทั้งผลกระทบจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ร้อยละ 7.7 (ยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง) หมวดเคหสถาน ร้อยละ 1.2 ( ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำประปา วัสดุก่อสร้าง ) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 1.0 (ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าของใช้ส่วนบุคคล ) และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 13.6 ( ผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์) อย่างไรก็ตามยังมีดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ที่ปรับลดลง คือ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 3.3 ( ผ้าและเสื้อผ้า) และหมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ร้อยละ 10.4 ( การบันเทิงและการอ่าน การศึกษา )

5. ถ้าพิจารณาดัชนีเฉลี่ยเทียบกับช่วงระยะเดียวกัน (มกราคม - กุมภาพันธ์) ปี 2552 สูงขึ้นร้อยละ 3.9 สาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 43.1 ค่าน้ำประปา ร้อยละ 64.2 ค่ากระแสไฟฟ้า ร้อยละ 6.1 ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ร้อยละ 20.8 เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 8.1 และค่าเช่าบ้าน ร้อยละ 0.1 ส่งผลให้ดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 3.8 ในขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 4.2 เป็นผลจากการสูงขึ้นของ ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 8.4 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 4.2 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 3.9 ผักและผลไม้ ร้อยละ 15.8 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 1.4 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.4 และอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 0.8 เป็นสำคัญ

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 300 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 117 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2553 เท่ากับ 103.05 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนมกราคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.02

6.2 เดือนกุมภาพันธ์ 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.3

6.3 เฉลี่ยช่วงระยะเดียวกัน ( มกราคม - กุมภาพันธ์) ปี 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.5

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือนกุมภาพันธ์ 2553 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.02 ( เดือนมกราคม 2553 สูงขึ้น ร้อยละ 0.2)โดยมีผลกระทบมาจากราคาสินค้าหลายชนิดปรับตัวทั้งสูงขึ้นและลดลง สินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ยานพาหนะ เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์และค่าของใช้ส่วนบุคคลและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง คือ วัสดุก่อสร้าง เครื่องถวายพระและเครื่องรับอุปกรณ์สื่อสาร

7. ผลกระทบของการที่ภาวะเงินเฟ้อเริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมี ดังนี้
7.1 ประชาชน
ค่าครองชีพของประชาชนในปัจจุบัน ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ถึงแม้ว่าราคาสินค้ากลุ่มอาหารโดยเฉลี่ยจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมากจากปีที่ผ่านมา ประกอบกับมาตรการช่วยค่าครองชีพของรัฐบาล (6 มาตรการ และค่าเล่าเรียน) ทำให้ค่าครองชีพของประชาชนลดลง
ด้านการจับจ่ายใช้สอย จากการที่ภาวะเงินเฟ้อเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติจะทำให้ภาวะการจ้างงานเริ่มจะดีขึ้น มีผลให้ประชาชนเริ่มมีความรู้สึกมั่นใจในรายได้ของตนเองมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนกล้าที่จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
7.2 ผู้ผลิต
เมื่อดัชนีราคาผู้บริโภคเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติจะทำให้ผู้ผลิตมีแรงจูงใจที่ผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงานหรือเพิ่มชั่วโมงการทำงานมากขึ้น
7.3 รัฐบาล
การที่ดัชนีราคาผู้บริโภคและเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ชี้ให้เห็นการเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รัฐบาลควรถือโอกาสนี้ใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลควรดูแลให้การเบิกจ่ายงบประมาณตามนโยบายไทยเข้มแข็งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างลื่นไหล ส่งผลให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่สะดุดลงไป
7.4 ธนาคารแห่งประเทศไทย
ในช่วงจังหวะนี้ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับการเกื้อหนุนให้ภาวะเศรษฐกิจมีการเติบโต คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะยังคงรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับนี้ไว้
เมื่อภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างมั่นคงแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงจะมีการปรับตัวอัตราดอกเบี้ยขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจต่อไป และคาดว่าในช่วงไตรมาสแรกของ ปี 2553 อัตราดอกเบี้ยน่าจะคงที่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ