ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือน กรกฎาคม ปี 2553

ข่าวทั่วไป Wednesday August 4, 2010 16:48 —กรมการค้าภายใน

ดัชนีราคาผู้บริโภคแสดงถึงภาวะเศรษฐกิจที่มีการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ มั่นคงและแข็งแรง

กระทรวงพาณิชย์รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกรกฎาคม 2553 เท่ากับ 108.32 เป็นการรายงานโดยใช้ตัวเลขหลังจุดทศนิยม 2 ตำแหน่งเป็นเดือนที่ 7 ตั้งแต่จัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคมานานกว่า 60 ปี โดยยังคงเป็นบวกอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 เพิ่มสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.4 และยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยเฉลี่ย 7 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 3.5 ซึ่งอยู่ในช่วงที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นปี(โดยคาดว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้นระหว่าง ร้อยละ 3.0 - 3.5 )

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกทำให้อัตราการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภคเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาปรับสูงขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2552 และปรับตัวเข้าสู่เสถียรภาพตั้งแต่ต้นปีนี้ คือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ในเดือน ม.ค. ร้อยละ3.7 ในเดือน ก.พ. ร้อยละ 3.4 ในเดือนมี.ค. และร้อยละ 3.0 ในเดือนเม.ย. จนอยู่ในระดับร้อยละ 3.5 ในเดือนพ.ค. ร้อยละ3.3 เดือนมิ.ย. และร้อยละ 3.4 ในเดือนก.ค. แสดงให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจของไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนกรกฎาคม 2553 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมามีปัจจัยหลักมาจากราคาอาหารสด โดยผักสดเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.3 ผลไม้สดเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.0 ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 9.6 เนื้อสัตว์ต่างๆ ร้อยละ 4.0 ไข่ไก่ ร้อยละ 8.9 น้ำตาลทราย ร้อยละ 5.7 นอกจากนี้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง ร้อยละ 23.3 สินค้าในหมวดยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ 8.7

มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาลได้แก่ ค่าไฟฟ้า รถเมล์ฟรี การตรึงราคาแก๊สหุงต้ม และการช่วยเหลือค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน และการดูแลราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์อย่างใกล้ชิด ยังคงมีส่วนช่วยทำให้ค่าครองชีพของประชาชนให้อยู่ในภาวะที่แสดงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกรกฎาคมและช่วงระยะ 7 เดือนของ ปี 2553 โดยสรุปเป็นดังนี้

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 417 รายการครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่ม มีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกรกฎาคม 2553

ในปี 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนกรกฎาคม 2553 เท่ากับ 108.32 ( เดือน มิถุนายน 2553 คือ 108.15 )

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกรกฎาคม 2553 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนมิถุนายน 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.16

2.2 เดือนกรกฎาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 3.4

2.3 เฉลี่ยช่วงระยะ7 เดือน ( มกราคม - กรกฎาคม ) ปี 2552 สูงขึ้นร้อยละ 3.5

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกรกฎาคม 2553 เทียบกับ เดือนมิถุนายน 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.16 (เดือนมิถุนายน 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.26 ) เป็นภาวะที่ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าอาหารสดและสินค้าอุปโภคหลายประเภทราคาเริ่มปรับตัวลดลง สำหรับปัจจัยสำคัญที่ยังส่งผลให้ภาวะราคาสินค้าอยู่ในระดับสูง ได้แก่ ผลไม้สด ไข่และผลิตภัณฑ์นม ข้าวสารเหนียว ปลาและสัตว์น้ำ เครื่องประกอบอาหาร เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำมันเชื้อเพลิง สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ค่าของใช้ส่วนบุคคลและวารสารรายปักษ์ ในขณะที่สินค้าราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ผักสด เนื้อสุกร ไก่สด ข้าวสารเจ้า ไก่ย่าง ค่าโดยสารรถไฟใต้ดินและแบตเตอรี่รถยนต์

3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.36 (เดือนมิถุนายน 2553 สูงขึ้นร้อยละ 1.01) เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า สาเหตุสำคัญเป็นผลจากราคาสินค้าอาหารสดบางรายการยังมีระดับราคาสูง ประกอบด้วย ผลไม้สด ร้อยละ 10.32 ได้แก่ ส้มเขียวหวาน กล้วยน้ำว้า เงาะ ทุเรียน มะม่วง มะละกอสุก ฝรั่ง มังคุด ลองกองและชมพู่ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งและเป็นช่วงนอกฤดูกาลของผลไม้บางชนิด ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมีปริมาณลดน้อยลง ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ1.05 (ไข่ไก่ ไข่เป็ด นมสด นมผง นมเปรี้ยว) จากมาตรการที่รัฐบาลได้นำใช้แก้ไขปัญหาการขาดแคลนพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่และการกำหนดราคาขายหน้าฟาร์มใหม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่ราคาขายปลีกไข่ไก่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ายังมีราคาสูง เนื่องจากต้นทุนอาหารสัตว์มีราคาสูงขึ้น ข้าวสารเหนียว ร้อยละ 6.57 ปลาและสัตว์น้ำ ร้อยละ 0.72 ( ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล ปลาทับทิม ) เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 0.33 ( น้ำตาลทราย ขนมหวาน น้ำปลา ซอสหอยนางรม ) และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.06 ( เครื่องดื่มรสชอกโกแลต น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ) สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวสารเจ้า 0.39 ผลกระทบจากภาวะการส่งออกข้าวของไทยในตลาดต่างประเทศลดลงตามภาวะตลาดที่ซบเซา ผักสด ร้อยละ 11.98 ได้แก่ กะหล่ำปลี แตงกวา ผักกาดขาว เห็ด ผักชี ถั่วฝักยาวและมะนาว ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้นเนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เนื้อสุกร ร้อยละ 0.19 ไก่สด ร้อยละ 0.91 และไก่ย่าง ร้อยละ 2.26 ผู้ประกอบการปรับลดราคาขายปลีกลงทั่วประเทศ

3.2 ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.03 เป็นอัตราที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ( เดือนมิถุนายน 2553 ลดลงร้อยละ 0.19) สาเหตุสำคัญเป็นผลกระทบจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศโดยเฉลี่ยปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน ก่อนหน้า ร้อยละ 0.05 ( น้ำมันดีเซล ปรับสูงขึ้น น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ปรับลดลง) สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ร้อยละ 0.54 ( ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน ) ค่าของใช้ส่วนบุคคล ร้อยละ 0.13 ( แชมพูสระผม ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว กระดาษชำระ )และวารสารรายปักษ์ ร้อยละ 3.65 ( วารสารรายปักษ์ หญิงไทย) สำหรับสินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ ค่าโดยสารรถไฟใต้ดิน ร้อยละ 3.51 บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพฯ ได้กำหนดอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นใหม่จากเดิมอยู่ที่ 16-41 บาท เป็น 15 -40 บาท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 2553 - 2 ก.ค. 2555 และแบตเตอรี่รถยนต์ ร้อยละ 0.38

4. ถ้าพิจารณาดัชนีเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 3.4 เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 สาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น ร้อยละ 6.9 ได้รับผลกระทบมาจาก ดัชนีหมวด ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 10.9 เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ 3.1 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 3.9 ผักและผลไม้ ร้อยละ 37.7 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 3.0 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.0 และอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 1.0 รวมทั้งผลกระทบจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ หมวดพาหนะการขนส่ง และการสื่อสาร ร้อยละ 1.9 (ยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง) หมวดเคหสถาน ร้อยละ 2.0 (ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำประปา ) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 0.9 (ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าของใช้ส่วนบุคคล ) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.1 ( ผ้าและเสื้อผ้า) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ร้อยละ 0.1 ( การบันเทิง การอ่านและการศึกษา )และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.1 ( ผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์)

5. ถ้าพิจารณาดัชนีเฉลี่ยเทียบกับช่วงระยะ 7 เดือน (มกราคม - กรกฎาคม ) ปี 2552 สูงขึ้นร้อยละ 3.5 สาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 23.3 ค่าน้ำประปา ร้อยละ 46.5 ค่ากระแสไฟฟ้า ร้อยละ 1.8 ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ร้อยละ 12.9 เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 5.3 และค่าเช่าบ้าน ร้อยละ 0.2 และจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 2.7 ในขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 4.8 เป็นผลจากการสูงขึ้นของ ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 9.6 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 3.2 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 3.3 ผักและผลไม้ ร้อยละ 21.5 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 2.2 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.3 และอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 0.9 เป็นสำคัญ

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ ( คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 300 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 117 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกรกฎาคม 2553 เท่ากับ 103.67 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนมิถุนายน 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.04

6.2 เดือนกรกฎาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 1.2

6.3 เฉลี่ยช่วงระยะ 7 เดือน ( มกราคม - กรกฎาคม ) ปี 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.8

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือนกรกฎาคม 2553 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2553 สูงขึ้น ร้อยละ 0.04 ( เดือนมิถุนายน 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.12) โดยมีผลกระทบมาจากราคาสินค้าหลายชนิดปรับตัวทั้งสูงขึ้นและลดลง สินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ค่าของใช้ส่วนบุคคลและวารสารรายปักษ์ ขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง คือ ค่าโดยสารรถไฟใต้ดินและแบตเตอรี่รถยนต์

--สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กรมการค้าภายใน--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ