รู้ลึกลุ่มน้ำโขง: แผนแม่บทการพัฒนากรุงฮานอยกับการยกระดับเมืองหลวงครั้งสำคัญของเวียดนาม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 29, 2011 13:56 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมากรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม ประสบปัญหาการขยายตัวของเมืองไม่ทันกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ประชากรในถิ่นทุรกันดารอพยพเข้ามาอยู่ในชุมชนเมือง จนเป็นเหตุให้ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ ในกรุงฮานอยไม่เพียงพอรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนักและปัญหาการแย่งงานกันทำ

จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ทางการกรุงฮานอยกำหนดเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมในระยะยาว โดยจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกรุงฮานอย (Socio-Economic Master Plan for Hanoi) ในช่วงปี 2554-2563 และกำหนดเป้าหมายต่อไปจนถึงปี 2573 ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมเมืองหลวงอย่างยั่งยืน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการรักษาคุณค่าทางวัฒนธรรมของเมืองหลวงสืบไป ขณะเดียวกันยังมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรในเมืองหลวงอีกด้วย

การจัดทำแผนแม่บทการพัฒนากรุงฮานอยผ่านการเตรียมการและการทำประชาพิจารณ์มานานถึง 3 ปี โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2554 นาย Nguyen Tan Dung นายกรัฐมนตรีของเวียดนาม ได้อนุมัติแผนแม่บทการพัฒนากรุงฮานอยภายใต้ Decision 1081/QD-TTg มีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้

1. การกำหนดเป้าหมายเศรษฐกิจและสังคมภายใต้แผนแม่บทการพัฒนากรุงฮานอย

ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนากรุงฮานอยได้วางเป้าหมายเศรษฐกิจของกรุงฮานอย ดังนี้

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกรุงฮานอย

             ปี           เป้าหมาย (% ต่อปี)
          2554-2558            12-13
          2559-2563            11-12
          2564-2573           9.5-10

หมายเหตุ : ปี 2549-2553 เศรษฐกิจกรุงฮานอยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 10.72 ต่อปี ขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 9.3 +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เป้าหมาย GDP per Capita ของกรุงฮานอย

ปี เป้าหมาย (ดอลลาร์สหรัฐต่อคน)

          2558           4,100-4,300
          2563           7,100-7,500

หมายเหตุ : GDP per Capita ของกรุงฮานอยปี 2553 อยู่ที่ 1,900 ดอลลาร์สหรัฐ +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เป้าหมายเพิ่มการจ้างงานในกรุงฮานอย

            ปี               เป้าหมาย (อัตราต่อปี)
          2554-2558          135,000-140,000
          2559-2563          155,000-160,000
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เป้าหมายจำนวนประชากรและแรงงานมีฝีมือในกรุงฮานอย

              ปี                                เป้าหมาย

จำนวนประชากร*

          -          2558                    7.2-7.3 ล้านคน
          -          2563                    7.9-8 ล้านคน
          -          2573                    9.2 ล้านคน

จำนวนแรงงานมีฝีมือ

          -          2558                    55% ของแรงงานทั้งหมดในกรุงฮานอย
          -          2563**                  70-75% ของแรงงานทั้งหมดในกรุงฮานอย
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

หมายเหตุ : * จำนวนประชากรของกรุงฮานอยปี 2553 อยู่ที่ 6.5 ล้านคน

** หากสำเร็จจะส่งผลให้กรุงฮานอยกลายเป็นศูนย์กลางแรงงานมีฝีมือทั้งของเวียดนาม

และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

2. มูลค่าการลงทุนภายใต้แผนแม่บทการพัฒนากรุงฮานอย

ในการบรรลุเป้าหมายข้างต้น รัฐบาลเวียดนามต้องใช้เงินลงทุนสำหรับโครงการลงทุนต่างๆ ในกรุงฮานอยเป็นมูลค่าสูงถึง 190 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในระยะเวลา 10 ปี แบ่งเป็นเงินลงทุนสำหรับโครงการลงทุนในช่วงปี 2554-2558 มูลค่า 69-70 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วงระหว่างปี 2559-2563 มูลค่า 110-120 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเงินลงทุนดังกล่าวจะมาจากหลายช่องทาง อาทิ งบประมาณของรัฐบาลเวียดนาม เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และเงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (Official Development Assistance : ODA) เป็นต้น

3. การพัฒนาภาคเศรษฐกิจสำคัญภายใต้แผนแม่บทการพัฒนากรุงฮานอย

ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนากรุงฮานอย รัฐบาลเวียดนามเน้นให้ความสำคัญกับการลงทุนใน 3 ภาคเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ธุรกิจบริการ การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวต้องพึ่งพาทรัพยากรที่มีอยู่ภายในกรุงฮานอยเป็นหลักเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นการกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวในภาคธุรกิจดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญในระยะ 10 ปีข้างหน้า

? ธุรกิจบริการ ธุรกิจบริการเป็นภาคเศรษฐกิจที่รัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก โดยรัฐบาลเวียดนามมีแผนจะมุ่งเน้นการพัฒนาในภาคการเงินการธนาคาร ธุรกิจประกันภัย ตลาดหลักทรัพย์ การสื่อสารโทรคมนาคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณสุข การศึกษาและการฝึกวิชาชีพ และระบบขนส่งสาธารณะ โดยเป้าหมายแรกรัฐบาลเวียดนามจะยกระดับให้กรุงฮานอยเป็นศูนย์กลางการเงินการธนาคารที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเวียดนาม อีกทั้งจะเร่งผลักดันให้กรุงฮานอยเป็นศูนย์กลางการศึกษาชั้นนำของประเทศ ขณะเดียวกันจะยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของกรุงฮานอยที่มีมายาวนานกว่า 1,000 ปี ทั้งนี้ เป็นที่คาดว่าภายในปี 2558 ธุรกิจบริการจะเป็นภาคเศรษฐกิจหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกรุงฮานอย โดยมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 55 ของ GDP กรุงฮานอย ขณะที่สัดส่วนภาคเกษตรกรรมต่อ GDP จะมีแนวโน้มลดลงเป็นลำดับ

? การท่องเที่ยว รัฐบาลเวียดนามจะเร่งพัฒนาการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องในกรุงฮานอย โดยตั้งเป้าให้กรุงฮานอยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของเวียดนามตอนเหนือ

? อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากการพัฒนาธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวแล้ว รัฐบาลเวียดนามจะมุ่งเน้นการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ เวชภัณฑ์ และเครื่องสำอาง นอกจากนี้ จะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมที่สนับสนุนอุตสาหกรรมหลัก อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรกล เป็นต้น

ทั้งนี้ ในการรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมภายใต้แผนแม่บทการพัฒนากรุงฮานอย รัฐบาลเวียดนามมีแผนก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในกรุงฮานอยเพิ่มขึ้นอีก 9 แห่งภายในปี 2558 และเพิ่มอีก 15 แห่งภายในปี 2563 ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ดังกล่าวจะรองรับเฉพาะอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

4. การพัฒนากรุงฮานอยให้มีลักษณะเป็นกลุ่มเมืองเพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น

ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนากรุงฮานอย รัฐบาลเวียดนามมีแผนขยายพื้นที่กรุงฮานอยเพิ่มขึ้นเป็น 3,344 ตารางกิโลเมตรภายในปี 2573 จากปัจจุบันที่มีพื้นที่ราว 2,000 ตารางกิโลเมตร ขณะเดียวกันจะพัฒนากรุงฮานอยให้มีลักษณะเป็นกลุ่มเมือง (Urban Cluster) มากขึ้น เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มเมืองดังกล่าวเกิดจากการแบ่งเขตพื้นที่ภายในกรุงฮานอยอย่างชัดเจน ประกอบด้วยพื้นที่ใจกลางเมือง (Urban Centre) พื้นที่เมืองบริวาร (Satellite Urban Areas) และพื้นที่ชนบท (Rural Areas) มีรายละเอียดดังนี้

? พื้นที่ใจกลางเมือง พื้นที่ใจกลางเมืองของกรุงฮานอยยังคงเป็นเขต Ba Dinh ซึ่งเป็นเขตเมืองเก่า และเป็นศูนย์กลางทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของเวียดนาม อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการสำคัญ ศูนย์บัญชาการทหาร สำนักงานใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และรัฐสภา

การขยายพื้นที่ใจกลางเมืองกรุงฮานอยจะเริ่มจากใจกลางเมืองออกไปทางทิศตะวันตก ส่วนทางใต้จะขยายออกไปถึงมอเตอร์เวย์สายที่ 4 ขณะที่ทางเหนือจะขยายออกไปถึงเขต Me Linh และเขต Dong Anh และทางตะวันออกจะขยายออกไปถึงเขต Gia Lam และเขต Long Bien นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามจะขยายเขตเมืองใหม่ขนานตามริมฝั่งแม่น้ำแดง (Red River) ซึ่งแผนขยายพื้นที่ใจกลางเมืองดังกล่าวจะช่วยรองรับจำนวนประชากรในพื้นที่ใจกลางเมืองซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 3.7 ล้านคนในปี 2563 และเพิ่มขึ้นเป็น 4.6 ล้านคนในปี 2573

? พื้นที่เมืองบริวาร เมืองบริวารตั้งอยู่รายล้อมพื้นที่ใจกลางเมืองของกรุงฮานอย ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนากรุงฮานอยได้แบ่งเมืองบริวารในกรุงฮานอยออกเป็น 5 เมือง แต่ละเมืองจะมีจุดเด่นต่างๆ ดังนี้

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
            เมือง                     จุดเด่น
          Hoa Lac          -วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการฝึกอบรม
          Son Tay          -วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยว
          Xuan Mai         -ธุรกิจบริการและอุตสาหกรรมสนับสนุน
          Phu Xuyen        -อุตสาหกรรมและเป็นศูนย์กลางการคมนาคม
          Sac Son          -ธุรกิจบริการโดยเฉพาะการเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติ

Noi Bai และเป็นจุดผ่านของเส้นทางเศรษฐกิจ

Kunming-Hanoi-Quang Ninh +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ทั้งนี้ เป็นที่คาดว่าจำนวนประชากรในเมืองบริวารทั้ง 5 เมืองจะเพิ่มขึ้นเป็น 0.7 ล้านคนภายในปี 2563 และเป็น 1.3-1.4 ล้านคนภายในปี 2573

? พื้นที่ชนบท พื้นที่ชนบทจะตั้งอยู่รอบนอกของกรุงฮานอย ซึ่งภายใต้แผนแม่บทการพัฒนากรุงฮานอยได้กำหนดให้มีการพัฒนาด้านการศึกษาและสาธารณสุขในพื้นที่ชนบทของกรุงฮานอยเป็นสำคัญ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการฝึกอาชีพเพื่อพัฒนาแรงงานให้มีคุณภาพ

5. การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งเพื่อแก้ปัญหาจราจร

กรุงฮานอยประสบปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนักจนถึงขั้นวิกฤตในชั่วโมงเร่งด่วน เนื่องจากจำนวนยานพาหนะบนท้องถนนที่เพิ่มขึ้นมากตามจำนวนประชากร ทั้งนี้ ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนากรุงฮานอยกำหนดเป้าหมายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบคมนาคมขนส่งอย่างชัดเจน เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนัก โดยรัฐบาลเวียดนามจะมุ่งเน้นการลงทุนในระบบขนส่งสาธารณะ อาทิ โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (The Mass Rapid Transit : MRT) โครงการรถไฟฟ้าบนดินและใต้ดิน ซึ่งปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และเป็นที่คาดว่าในอนาคตระบบเครือข่ายขนส่งสาธารณะในกรุงฮานอยจะสามารถเชื่อมต่อพื้นที่ใจกลางเมืองกับพื้นที่รอบนอกได้สะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังมีโครงการพัฒนาและยกระดับทางหลวงอีกหลายสายในกรุงฮานอยเพื่อเชื่อมต่อไปยังจังหวัดโดยรอบ อีกทั้งยังมีการก่อสร้างสะพานลอยต่างระดับและอุโมงค์ลอดสี่แยกที่มีความพลุกพล่านของการจราจร ซึ่งเป็นช่องทางระบายการจราจรที่ติดขัดในพื้นที่เมืองหลวง

ทั้งนี้ การจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกรุงฮานอยนับเป็นการยกระดับเมืองหลวงครั้งสำคัญของเวียดนาม ซึ่งเป็นที่คาดว่าในอนาคตกรุงฮานอยจะมีศักยภาพในการรองรับกิจกรรมทางการค้าและการลงทุนมากขึ้น อีกทั้งจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจของเวียดนามตอนเหนือ จึงนับเป็นโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าไปทำการค้าการลงทุนในเมืองหลวงที่มีศักยภาพแห่งนี้ของเวียดนาม

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กันยายน 2554--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ