รู้ลึกลุ่มน้ำโขง: เกาะติดความคืบหน้าโครงการทวาย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 30, 2013 15:05 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หากกล่าวถึงโครงการลงทุนในพม่า โครงการทวายถือเป็นโครงการลงทุน สำคัญที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ อีกทั้งเป็นโครงการที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่า ให้ความสำคัญและมีการหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนพฤศจิกายน 2555 รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมไทย-พม่า เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีคณะทำงาน 3 ระดับ ได้แก่ คณะทำงานร่วมระดับสูงไทย-พม่า (Joint High-Level Committee : JHC) คณะกรรมการประสานงานไทย-พม่า (Joint Coordination Committee : JCC) และคณะอนุกรรมการ 6 สาขา(Joint Sub-Committee : JSC) เพื่อทำงานร่วมกันในการพัฒนาโครงการทวายให้แล้วเสร็จ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าสำคัญของโครงการทวาย

สำหรับความคืบหน้าของโครงการทวายตั้ง แต่ช่วงต้นปี 2556 มีดังนี้

  • รูปแบบการลงทุนในโครงการทวาย ที่ประชุม JCC มีมติให้ระดมทุนในโครงการทวายโดยการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle : SPV) ซึ่งไทยและพม่าจะถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 50 เท่ากัน โดยในเบื้องต้นตกลงจะร่วมกันลงทุนฝ่ายละ 50 ล้านบาท เพื่อให้เป็นหน่วยงานธุรกิจที่รับสัมปทานการพัฒนา โครงการทวาย รวมทั้งระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับฝ่ายไทยจะให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (Neighbouring Countries Economic Development Cooperation Agency : NEDA) เป็นตัวแทนในการจัดตั้ง SPV ร่วมกับ Foreign Economic Relation Department (FERD) ของพม่า ทั้งนี้ SPV ที่จัดตั้งขึ้นจะประกอบด้วยคณะกรรมการฝ่ายไทย 3 คน ฝ่ายพม่า 3 คน และผู้จัดการ 1 คน ซึ่งจะทำหน้าที่คัดเลือกนักลงทุนที่สนใจและมีศักยภาพเข้ามาลงทุนในโครงการทวายประกอบด้วยโครงการขนาดใหญ่ 7 ประเภทโครงการ ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึก ถนนเชื่อมโยงพื้นที่โครงการทวายกับชายแดนบ้านพุน้ำ ร้อน จ.กาญจนบุรี นิคมอุตสาหกรรม ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบโทรคมนาคมและโครงการที่พักอาศัยและห้างสรรพสินค้า คิดเป็นมูลค่าลงทุนสูงถึง 213,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
  • บทบาทของบริษัท ITD ในโครงการทวาย ที่ประชุม JCC มีมติให้ยกระดับ Framework Agreement ให้เป็นข้อตกลงสัมปทานระหว่าง SPV กับคณะกรรมการบริหารโครงการทวาย (Dawei SEZ Management Committee : DSEZMC) จากเดิมที่เป็นการลงนามร่วมกันระหว่าง Myanmar Port Authority (MPA)กับ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (Italian-Thai Development Plc. : ITD) ในช่วงปลายปี 2553 ซึ่งทำให้ ITD เปลี่ยนสถานภาพจากผู้พัฒนาโครงการทวายมาเป็นผู้ลงทุนในบริษัทนิ ติบุคคลย่อย(Special Purpose Companies : SPCs) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาโครงการทวายใน 7 ประเภทโครงการ ดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ SPV จะว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาอิสระเพื่อตรวจสอบสถานะ (Due Diligence) ของโครงการต่างๆ ที่ ITD ได้ดำเนินการไปแล้ว และจะชำระคืนเงินลงทุนให้แก่ ITD เพื่อให้สอดคล้องกับสถานภาพที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งอาจอยู่ในรูปของหุ้นใน SPCs ทั้ง 7 ประเภทดังกล่าว
  • ความคืบหน้าของโครงการทวายในส่วนของงานก่อสร้าง ปัจจุบัน ITD ปรับปรุงถนนสำหรับขนส่งเครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ และพาหนะที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างของ ITD เชื่อมระหว่างโครงการทวายกับบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ระยะทาง 132 กิโลเมตร ซึ่งเป็นถนนลูกรัง 2 ช่องจราจรเสร็จแล้ว รวมทั้งเริ่มพัฒนาถนนภายในนิคมอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ITD อยู่ระหว่างการพัฒนาท่าเรือขนาดเล็ก มีท่าเทียบเรือยาว100 เมตร สามารถรองรับเรือขนาด 8,000-10,000 DWT และตู้สินค้าขนาด 250-400 TEU ซึ่งคาดว่าท่าเรือดังกล่าวจะเปิดใช้งานได้ภายในปี 2556

โอกาสของไทยจากการเชื่อมโยงกับโครงการทวาย

เป็นที่ทราบกันดีว่าโครงการทวายมีส่วนช่วยยกระดับบทบาทของไทยในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง สอดคล้องกับที่ Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) คาดว่าไทยมีโอกาสได้ประโยชน์จากการเป็น Land Link เชื่อมโยงกับโครงการทวาย ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ 1.9% ทั้งนี้ โครงการทวายยังอยู่ในระยะเริ่มต้น จึงมีงานก่อสร้างจำนวนมาก และกว่าจะแล้วเสร็จคาดว่าจะใช้เวลาถึง 10 ปี จึงเป็นโอกาสของธุรกิจก่อสร้าง ซึ่งต้องการผู้รับเหมาก่อสร้างและผู้รับเหมาช่วงในงานก่อสร้างประเภทต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก รวมถึงโอกาสของธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง เพื่อรองรับโครงการก่อสร้างและการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน นอกจากนี้ โครงการทวายยังมีส่วนช่วยกระตุ้นให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบริเวณชายแดนไทย-พม่า คึกคักมากยิ่งขึ้นโดยปัจจุบันมีนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนใน จ.กาญจนบุรี มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจบ้านจัดสรร และธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ ส่งผลให้ราคาที่ดินในบางพื้นที่พุ่งสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ทางการจังหวัดกาญจนบุรียังมีแผนจะพัฒนาพื้นที่ใน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ห้วยกระเจา อ.เลาขวัญ อ.หนองปรือและ อ.บ่อพลอย ให้เป็นเขตเศรษฐกิจใหม่เพื่อเชื่อมโยงกับโครงการทวาย ซึ่งเมื่อพัฒนาแล้วเสร็จ จะเป็นโอกาสในการขยายการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านชายแดน รวมทั้งเป็นโอกาสขยายตลาดสินค้าเพื่อรองรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรายละเอียดของโครงการทวายยังมีความไม่แน่นอนอยู่บ้าง โดยเฉพาะขนาดของพื้นที่โครงการ ซึ่งพม่าต้องการปรับลดลงจาก 204.5 ตารางกิโลเมตร เหลือ 150 ตารางกิโลเมตร ทั้งนี้ รัฐบาลไทยยังสงวนท่าทีต่อข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดโครงการนอกจากนี้ การระดมทุนในโครงการทวายอาจไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากองค์กรระหว่างประเทศ โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ยืนยันว่าไม่มีแผนสนับสนุนด้านการเงินในโครงการทวาย เนื่องจากเห็นว่าโครงการทวายสามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยการระดมทุนจากภาคเอกชนและการสนับสนุนภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่า การระดมทุนในโครงการทวายจึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ