CEO Talk: เฟล็กซ์โซ กราฟฟิก ต้นแบบ SMEs ดีเด่นในธุรกิจออกแบบและผลิตแม่พิมพ์บรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษด้วยนวัตกรรม

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 2, 2015 13:54 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

EXIM E-NEWS ฉบับนี้ได้รับเกียรติจากลูกค้า คุณชาธิป ตั้งกุลไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฟล็กซ์โซ กราฟฟิก จำกัด และประธานชมรมผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร มาบอกเล่าเรื่องราวของธุรกิจออกแบบและผลิตแม่พิมพ์สำเร็จรูปและไดคัทสำหรับตัดบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษให้แก่สินค้าอุปโภคและบริโภค ด้วยนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้บริษัทได้รับรางวัลสำคัญมากมาย อาทิ รางวัลธรรมาภิบาลดีเด่น ปี 2556 จากสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสมาคมธนาคารไทย รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นปี 2556 จากกระทรวงอุตสาหกรรม และรางวัล SMEs ดีเด่นปี 2555 จากสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย

จุดเริ่มต้นของธุรกิจ

ผมอยู่ในแวดวงธุรกิจด้านการพิมพ์มานานกว่า 10 ปี โดยเริ่มจากการร่วมทุนกับบริษัท พีแอนด์ดี รีเสิร์ช จำกัด (ประเทศมาเลเซีย) ก่อตั้งบริษัท พีแอนด์ดี รีเสิร์ช จำกัด (ประเทศไทย) ขึ้นในปี 2544 ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องจักรสำหรับผลิตแม่พิมพ์โดยศึกษาดูงานมาจากมาเลเซีย จนต่อมาในปี 2547 เราได้ขยายธุรกิจมาผลิตแม่พิมพ์สำเร็จรูปให้กับโรงงานที่ไม่มีเครื่องหล่อรายย่อยๆ โดยก่อตั้งบริษัท เฟล็กซ์โซ กราฟฟิก จำกัดขึ้นในปี 2547 เฟล็กซ์โซ กราฟฟิกเป็นรายแรกที่นำนวัตกรรมด้านการผลิตแม่พิมพ์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่ทิ้งสารตกค้างมาใช้กับการดำเนินธุรกิจออกแบบและผลิตแม่พิมพ์สำเร็จรูปให้กับโรงงานผู้ผลิตกล่องลูกฟูก ซึ่งมีจำนวนนับพันแห่งในขณะนั้น บริษัทของเรามุ่งเน้นให้บริการแบบ One Stop Service ตั้งแต่การออกแบบกราฟิกและโครงสร้างของบรรจุภัณฑ์ โดยไม่จำกัดจำนวนผลิตขั้นต่ำ รวมทั้งจัดหาเจ้าหน้าที่ให้พร้อมบริการลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง เผื่อเกิดปัญหาหน้างาน ขณะลูกค้าพิมพ์งานจริง

การขยายธุรกิจ

ธุรกิจของบริษัทเราเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อบริษัทเติบโตได้ระยะหนึ่งจึงเริ่มขยายกิจการ เมื่อปี 2547 บริษัทมีนโยบายผลิตบล็อกแม่พิมพ์สำเร็จรูปให้แก่โรงงานที่ไม่มีเครื่องหล่อ จึงก่อตั้งบริษัท เฟล็กซ์โซ กราฟฟิก จำกัด และจากการเติบโตอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียง 2 ปี บริษัท เฟล็กซ์โซ กราฟฟิก จำกัด สามารถขยายสาขาถึง 3 สาขา คือ บริษัท เฟล็กซ์โซ กราฟฟิก จำกัด (สำนักงานใหญ่ พระราม 2 ซึ่งปัจจุบัน ย้ายมาตั้งที่นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร จ.สมุทรสาคร เมื่อปี 2552) บริษัท เฟล็กซ์โซ กราฟฟิก จำกัด (สาขาปทุมธานี) บริษัท เฟล็กซ์โซ กราฟฟิก จำกัด (สาขาบางนา ปัจจุบัน คือสาขาชลบุรี ย้ายมาเมื่อปี 2555) และในปี 2557 ที่ผ่านมาก็ได้เปิดเพิ่มอีก 1 สาขา คือ บริษัท เฟล็กซ์โซ กราฟฟิก จำกัด (สาขานครราชสีมา) จะเห็นได้ว่าบริษัทสามารถให้บริการได้ครอบคลุมทั่วทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด

การขยายสาขาเพิ่มมากขึ้นเป็นไปตามนโยบายของบริษัทที่จะไปตั้งโรงงานรองรับความต้องการของลูกค้าในแหล่งอุตสาหกรรมแต่ละภูมิภาค โดยปัจจุบันบริษัทมีพนักงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 300 คนจากจำนวนแรกตั้งกิจการ 5 คน รวมทั้งมีการผลิตและส่งออกไปยัง สปป.ลาว อินโดนีเซีย และตลาดอาเซียนอื่นๆ มีบริษัทร่วมทุนในเวียดนาม เริ่มจากนครโฮจิมินห์ และขยายไปกรุงฮานอย และมีโรงงานในอีกหลายประเทศในอาเซียน

ความยากและอุปสรรคทางธุรกิจ

วิกฤตครั้งสำคัญคือ มหาอุทกภัยในปี 2554 แต่ภายใต้วิกฤตครั้งนั้นก็ยังมีโอกาสทางธุรกิจเกิดขึ้น เพราะสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้ประสบภัยและประชาชนยังต้องการบรรจุภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นกล่องกระดาษบรรจุน้ำดื่มหรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขณะที่โรงงานผู้ผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์จำนวนกว่า 30% ได้รับความเสียหายและผลกระทบจากน้ำท่วม รวมทั้งโรงงานของเราบางแห่งก็ได้น้ำท่วมด้วยเช่นกัน แต่เราสามารถตั้งตัวใหม่ได้เร็ว ย้ายฐานการผลิตมาผลิตในโรงงานที่น้ำไม่ท่วม ทำให้ผลที่สุดยอดขายของเราในช่วงนั้นโตขึ้น 100% ด้วยกำลังผลิต 24 ชั่วโมงต่อวัน ตลอด 7 วัน เป็นเวลา 2 เดือน ส่วนบุคลากรของเราก็หมุนเวียนทำงานเป็นกะตลอด 24 ชั่วโมงเช่นกัน โดยบริษัทดูแลเรื่องที่พัก อาหาร และเงินช่วยเหลือสำหรับพนักงานสาขาที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เรียกได้ว่า เราให้ความสำคัญกับพนักงาน และพนักงานทุกคนก็ช่วยกันทำงานกันสุดกำลังตลอด 2 เดือนเต็มๆ โดยไม่ได้ขึ้นราคาสินค้าซ้ำเติมผู้บริโภค แม้ว่าต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้น

ขณะเดียวกัน เราก็เตรียมพร้อมกรณีที่น้ำท่วมอาจเข้าท่วมสาขาที่นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร โดยหากเกิดวิกฤตน้ำท่วมก็จะเตรียมย้ายไปชลบุรีภายใน 3 ชั่วโมง ขณะเดียวกันก็วางแนวป้องกันเต็มที่ที่จะไม่ให้น้ำท่วมโรงงาน เรียกได้ว่า “ภายในต้องวางแผน ภายนอกต้องป้องกัน” หมายถึง การบริหารจัดการภายในบริษัท ผมต้องวางแผนเพื่อให้สามารถบริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลิตให้ทันตามคำสั่งซื้อ วางแผนเส้นทางการขนส่งให้ทันต่อการใช้งาน ขณะเดียวกันยังต้องเตรียมแผนเฝ้าระวังน้ำท่วมโรงงานและชุมชน ทำให้ผลสุดท้ายบริษัทสามารถผ่านพ้นวิกฤตนั้นมาได้

ความยากในการบริหารจัดการบริษัทของเราเหมือนกับบริษัทอื่นๆ คือ เรื่องบุคลากร โดยบริษัทต้องทุ่มเทและให้ความสำคัญกับการพัฒนาและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่บุคลากร สำหรับเฟล็กซ์โซ กราฟฟิก เราให้ความสำคัญกับ “คน” ตั้งแต่วันแรกที่เราเริ่มดำเนินงาน เราจัดอบรมสัมมนาและกิจกรรม Team Building เป็นประจำ มีกิจกรรมภายใน เช่น กีฬาสี ซึ่งต้องยอมรับว่า การบริหารจัดการคนเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะเมื่อบริษัทขยายกิจการและเรามีบุคลากรเข้ามาเพิ่มมากขึ้น เพราะทุกคนต่างมีความคิดของตัวเอง เราต้องให้ความรู้ความเข้าใจและสร้างความเป็นทีมของคน ให้เดินไปด้วยกันพร้อมกับการขยายกิจการของบริษัท คนรุ่นใหม่ต้องทำงานเป็นทีมเข้ากับคนรุ่นเก่าได้ โดยเฉพาะการเปิดสาขาใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เราจึงต้องสร้างทีมใหม่ที่ทำงานด้วยกันได้อย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพ

กุญแจสู่ความสำเร็จในวันนี้

ผมโชคดีที่มีหุ้นส่วนทางธุรกิจที่ดี ทำให้เราสามารถขยายกิจการได้เพิ่มมากขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ทั้งในและต่างประเทศ โดยหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจของเราคือ การให้บริการที่ดีที่สุดแก่ลูกค้าในราคาที่ทุกคนซื้อได้ เราเป็นบริษัทเดียวในปัจจุบันที่มีสาขาครอบคลุมแทบจะทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย มีทีมงานออกแบบ มีสตูดิโอเพื่อการออกแบบงานพิมพ์และโครงสร้างกล่อง คำนวณขนาดโครงสร้างบรรจุภัณฑ์ได้ มีเครื่องที่สามารถตัดกล่องตัวอย่างได้ หากงานพิมพ์มีปัญหาเราก็มีช่างเทคนิคที่จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาหน้าเครื่องพิมพ์ของลูกค้าได้ แม้กระทั่งทีมงานด้านการตลาดที่สามารถเข้าไปสนับสนุนในการนำเสนอผลงานแทนลูกค้าด้วย

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เฟล็กซ์โซ กราฟฟิก ประสบความสำเร็จคือ เทคโนโลยี เราเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการผลิตแม่พิมพ์สำเร็จรูปและไดคัทกล่องกระดาษในอาเซียน ทำให้ผู้ผลิตเทคโนโลยีใหม่ๆ เลือกที่จะติดต่อมาหาบริษัทเราก่อน เมื่อเรามีบริการที่ดี เทคโนโลยีที่ดี ก็ทำให้เรามีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าผู้ผลิตรายอื่น และครองส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้นเรื่อยๆ

เป้าหมายในอนาคต

จากธุรกิจออกแบบและผลิตแม่พิมพ์สำเร็จรูปและไดคัทสำหรับตัดบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษ เราต้องการขยายกิจการเพื่อเสนอทางเลือกให้แก่ลูกค้าเพิ่มมากขึ้น โดยเราตั้งเป้าหมายว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า เราจะเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจด้านการออกแบบและผลิตแม่พิมพ์สำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์อื่นๆ เช่น ถุงกระดาษ กระสอบ ฉลากบนขวด ฯลฯ ซึ่งต้องลงทุนด้านเครื่องจักรเป็นมูลค่าสูง ขณะเดียวกัน ต้องการพัฒนาไปสู่ธุรกิจการพิมพ์ด้วยระบบดิจิตอลให้แก่บริษัท SMEs ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า คุณภาพ ความสวยงาม และความรวดเร็วของงานพิมพ์ รองรับตามความต้องการของลูกค้ารายย่อยโดยไม่จำกัดจำนวนขั้นต่ำในการผลิต

บริการของ ธสน.

เฟล็กซ์โซ กราฟฟิกใช้บริการธุรกรรมด้านนำเข้าของ EXIM BANK เป็นหลัก ด้วยระบบการทำงานที่ค่อนข้างยืดหยุ่นของ EXIM BANK ประกอบกับเจ้าหน้าที่ EXIM BANK เข้ามาสัมผัส เรียนรู้ลูกค้า ทำให้เข้าใจลักษณะธุรกิจและสามารถให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ ไม่ใช่พิจารณาผ่านเอกสารเพียงอย่างเดียว

ฝากถึงผู้ประกอบการทั่วไป และผู้ที่สนใจจะเริ่มต้นธุรกิจส่งออก-ลงทุน

ประการแรก ผู้ประกอบการต้องถามตัวเองก่อนว่า คุณมีความตั้งใจจริงหรือเปล่า การทำธุรกิจต้องอาศัยความมุ่งมั่น ทุ่มเทอย่างเต็มที่ มิเช่นนั้นจะล้มเหลวแน่นอน เพราะสู้คู่แข่งรายอื่นที่มีความตั้งใจมากกว่าไม่ได้ ประการที่สองคือ ความรู้ ก่อนจะทำอะไรต้องศึกษาทุกอย่างและรู้จริง เพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจ ประการที่สามคือ ความอดทน ไม่มีธุรกิจใดประสบความสำเร็จในเวลาชั่วข้ามคืน คุณต้องถามตัวเองก่อนว่า พร้อมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นไหม คุณอาจจะไม่ได้รับกำไรในช่วง 2 ปีแรกเลย คุณอยู่รอดได้ใช่ไหม ประการที่สี่ คุณเป็นนักพัฒนาหรือเปล่า ในการทำธุรกิจจะย่ำอยู่กับที่ไม่ได้ คุณต้องพัฒนา ธุรกิจต้องเติบโตและขยายตัว ต้องมีสินค้าหรือบริการใหม่ๆ ออกมาอยู่เสมอ และประการสุดท้าย คุณต้องมี Packaging ที่ดี และปรับเปลี่ยนใหม่อยู่เสมอ เพื่อให้สินค้าดูดี น่าสนใจ และมีเอกลักษณ์ ในวันนี้เศรษฐกิจทั่วโลกยังไม่ดี แต่ก็ไม่ถึงขั้นวิกฤต เพียงแต่ช่วงเวลานี้ทุกคนต้องปรับตัว เสาะแสวงหาตลาดที่ยังมีโอกาสอยู่ เพื่อให้ธุรกิจที่เราตั้งใจทำ รู้จริง มุมานะอดทน พัฒนาอยู่เสมอ และมีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามโดดเด่น พร้อมเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคงในระยะยาว

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนตุลาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ