ประเทศกำลังพัฒนาก้าวสู่ Consumer Economy ไม่ง่าย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 26, 2015 14:02 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

การค้าโลกในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงซบเซา สังเกตได้จากก่อนวิกฤต Hamburger ในปี 2552 มูลค่าการค้าโลกขยายตัวมากกว่า GDP โลกราว 3-5 เท่า แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาการค้าโลกขยายตัวต่ำกว่า GDP โลก โดยในปี 2555-2557 GDP โลกขยายตัวเฉลี่ยราว 3.4% ขณะที่มูลค่าการค้าโลกขยายตัวเฉลี่ยเพียง 1% ต่อปี สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาซึ่งส่วนใหญ่พึ่งพารายได้จากการส่งออกในสัดส่วนสูงได้รับผลกระทบอย่างมาก และมีส่วนทำให้ประเทศเกิดใหม่หลายประเทศนำโดยจีน มีแนวคิดที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจโดยหันมาเน้นการบริโภคในประเทศ (Consumption-Led Growth) แทนการส่งออก (Export-Led Growth) มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาอุปสงค์จากต่างประเทศ ที่มีความผันผวน โดยเชื่อว่าจะเป็นแนวทางที่ทำให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

แม้ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศมีชนชั้นกลางมากขึ้น ซึ่งนับเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่จะช่วยให้การบริโภคเติบโตได้มาก แต่การที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งระบบเพื่อให้การบริโภคในประเทศกลายมาเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจถือเป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายและยังต้องใช้เวลา เนื่องจากข้อจำกัดหลายประการ ได้แก่ 1. การพึ่งพาภาคการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่พึ่งพาภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ส่งผลให้รายได้ต่อหัวอยู่ในระดับต่ำ นับเป็นอุปสรรคสำคัญในการก้าวสู่สังคมแห่งการบริโภค ต่างจากประเทศพัฒนาแล้วที่พึ่งพาภาคการผลิตและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ส่งผลให้รายได้ต่อหัวสูงและการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างแท้จริงในระยะยาว ไม่ต้องอาศัยการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้นอย่างที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายใช้อยู่ในปัจจุบัน 2. อัตราการออมสูง ระบบสวัสดิการสังคมของประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังด้อยคุณภาพและไม่ทั่วถึง ทำให้ประชาชนจำเป็นต้องออมเงินเพื่อการศึกษา การรักษาพยาบาลและใช้จ่ายหลังเกษียณในสัดส่วนที่สูง เห็นได้จากอัตราการออมต่อ GDP ของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียที่สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วถึง 2 เท่า นอกจากนี้ การที่ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศกำลังเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้การบริโภคชะลอลง 3.ระบบการเงินขาดการพัฒนา ทำให้เข้าถึงสินเชื่อเพื่อการบริโภคและการลงทุนได้ยาก โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่และเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญ ประกอบกับตลาดเงินตลาดทุนของหลายประเทศยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร อีกทั้งประชาชนขาดความรู้เรื่องการลงทุนในสินทรัพย์อื่นนอกเหนือจากการฝากเงินซึ่งให้ผลตอบแทนต่ำ ปัจจัยดังกล่าวมีส่วนทำให้ประชาชนขาดโอกาสในการเพิ่มรายได้เพื่อใช้บริโภคในอนาคต 4.กำลังซื้ออ่อนไหว เนื่องจากหลายประเทศเป็นเศรษฐกิจแบบเปิด ทำให้ค่าเงินซึ่งแสดงถึงอำนาจซื้อของประชาชนผันผวนจากปัจจัยภายนอกมากกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่นในปัจจุบันที่ค่าเงินของประเทศกำลังพัฒนาอ่อนค่ามาก หลังสหรัฐฯ ทยอยถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีส่วนทำให้การบริโภคของประเทศกำลังพัฒนาชะลอลง

ทั้งนี้ แม้สัดส่วนการบริโภคภาคเอกชนต่อ GDP ของประเทศเศรษฐกิจใหม่ อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศในภูมิภาคแอฟริกามีสัดส่วนเกิน 60% แต่เนื่องจากภาคการผลิตยังมุ่งเน้นเพื่อบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก หรืออาจเป็นเพียงการผลิตเพื่อส่งออกวัตถุดิบขั้นต้นหรือสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำเท่านั้น ทำให้ประชากรยังมีรายได้ต่อหัวไม่สูงพอที่จะใช้การบริโภคเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยตนเองได้อย่างแท้จริง ตรงกันข้ามกับประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรปที่ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจพัฒนาจนประชากรมีรายได้ต่อหัวสูง ทำให้มีการบริโภคมากขึ้นและกลายเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า แม้ประเทศกำลังพัฒนาจะสามารถปฏิรูปเศรษฐกิจและหันมาพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศได้สำเร็จ ก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าจะสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนเสมอไป สังเกตได้จากบทเรียนวิกฤต Hamburger ในสหรัฐฯ ซึ่งเกิดจากการปล่อยสินเชื่อเพื่อสนองการบริโภคที่เกินตัวของชาวอเมริกัน ทำให้หนี้ภาคครัวเรือนสูงเป็นเท่าตัวของ GDP นอกจากนี้ หลายประเทศในยุโรปที่มีระบบสวัสดิการสังคมดีเยี่ยมได้กดดันให้หนี้สาธารณะสูงขึ้นกว่า 100% ต่อ GDP จนกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรื้อรังมาถึงปัจจุบัน ดังนั้น แม้เศรษฐกิจการบริโภคจะช่วยลดความผันผวนจากเศรษฐกิจโลก ได้ระดับหนึ่ง แต่หากผู้บริโภคในประเทศขาดวินัยในการใช้จ่าย และรัฐบาลขาดการใช้นโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ ก็อาจจะกลายเป็นสังคมบริโภคนิยมแทนที่จะเป็นสังคมบริโภคที่มีคุณภาพ ซึ่งอาจนำมาซึ่งปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาวได้เช่นกัน

Disclaimer : คอลัมน์นี้เผยแพร่เพื่อให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจต่างประเทศ รวมถึงภาวะธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--


แท็ก GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ