เก็บตกจากต่างแดน: ASEAN Middle Class…กลุ่มผู้บริโภคสำคัญขับเคลื่อนตลาดสินค้าและบริการโลก

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 6, 2016 10:28 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

“เก็บตกจากต่างแดน” ฉบับนี้จะขอนำท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ ASEAN Middle Class หรือชนชั้นกลางของอาเซียน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้บริโภคที่กำลังได้รับความสนใจในปัจจุบัน โดย Nielsen (บริษัทวิจัยด้านการตลาดชั้นนำของโลก) คาดว่าชนชั้นกลางของอาเซียนจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นแตะระดับ 400 ล้านคน ในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว เทียบกับปี 2555 ที่มีจำนวนเพียง 190 ล้านคน ทั้งนี้ การขยายตัวของชนชั้นกลางของอาเซียนได้แรงหนุนสำคัญจากเศรษฐกิจอาเซียนที่ขยายตัวดีในช่วงที่ผ่านมา และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องในระยะ 5 ปีข้างหน้า โดยล่าสุด IMF คาดว่าเศรษฐกิจของอาเซียน 5 ประเทศ (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย) จะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.3 ในช่วงปี 2560-2564 นอกจากนี้ การที่สมาชิกอาเซียนหลายประเทศเป็นฐานการผลิตสินค้าสำคัญของโลก อาทิ สิงคโปร์และมาเลเซียเป็นฐานการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ไทยและอินโดนีเซียเป็นฐานการผลิตยานยนต์ปัจจัยเกื้อหนุนดังกล่าวนอกจากจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังก่อให้เกิดการถ่ายทอดทักษะ ความรู้ และเทคโนโลยีให้กับแรงงานในอาเซียน ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ประชากรในอาเซียนมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง และส่งผลให้จำนวนผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นได้อีกในระยะถัดไป ทั้งนี้ Nielsen คาดว่าภายในปี 2563 ชนชั้นกลางของอาเซียนจะมีกำลังซื้อรวมกันกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ชนชั้นกลางของอาเซียนได้รับการคาดหวังว่าจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งของโลกที่จะมีส่วนขับเคลื่อนตลาดสินค้าและบริการของโลกในระยะถัดไป

เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับชนชั้นกลางของอาเซียน
  • ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้าเป็นแหล่งชอปปิงยอดนิยม ชนชั้นกลางของอาเซียนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ จึงมีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้าในห้างค้าปลีกสมัยใหม่ โดยเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้ามากขึ้น เพราะเป็นศูนย์รวมของสินค้าหลากหลายชนิด และหลากหลายแบรนด์ จึงตอบสนองความต้องการได้ครบถ้วนจากการเดินทางไปซื้อสินค้าเพียงครั้งเดียว ล่าสุด EIU คาดว่ายอดค้าปลีกของอาเซียน 6 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม จะพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 14 ต่อปี (CAGR) ในช่วงปี 2557-2561 โดยอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มียอดค้าปลีกขยายตัวสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 18 ต่อปี รองลงมา คือ เวียดนาม และมาเลเซีย ตามลำดับ ทั้งนี้ ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงที่เข้าไปทำตลาดในอาเซียน อาทิ Lotte Mart (ห้างค้าปลีกรายใหญ่ของเกาหลีใต้) ซึ่งขยายกิจการในอินโดนีเซียและเวียดนาม AEON (ห้างค้าปลีกรายใหญ่ของญี่ปุ่น) ขยายธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในเวียดนามและมาเลเซีย กลุ่มเซ็นทรัล เปิดห้างสรรพสินค้าที่เวียดนาม อินโดนีเซีย และอยู่ระหว่างก่อสร้างห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ที่มาเลเซีย ห้างค้าปลีกสมัยใหม่จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกที่ต้องการเจาะตลาดอาเซียนในปัจจุบัน
  • เดินทางท่องเที่ยว… Life Style สำคัญของชนชั้นกลางอาเซียน ชนชั้นกลางของอาเซียนมีพฤติกรรมคล้ายคลึงกับชนชั้นกลางของประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่เมื่อมีรายได้สูงขึ้น มักจะแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งไว้สำหรับเดินทางท่องเที่ยว เพื่อเป็นรางวัลให้กับชีวิตทำงาน รวมถึงเพื่อหาประสบการณ์แปลกใหม่จากการเดินทางท่องเที่ยวในสถานที่ที่ยังไม่เคยไปมาก่อน ทั้งนี้ ชาวอาเซียนจำนวนมากนิยมเดินทางท่องเที่ยวในอาเซียนด้วยกันเอง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลายประเทศมีพื้นที่ติดต่อกันทำให้เดินทางสะดวกและเสียค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนัก โดยข้อมูล ASEAN Tourism Statistics Database พบว่าในปี 2557 มีชาวอาเซียนเดินทางท่องเที่ยวภายในภูมิภาคอาเซียนเองมากถึง 49 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 40 เทียบกับปี 2553 ขณะเดียวกันสถานที่ท่องเที่ยวในอาเซียนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และหลายประเทศมีวัฒนธรรมงดงาม มีความเป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศนอกอาเซียน เช่น จีน ยุโรป และญี่ปุ่น ให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในอาเซียนมากขึ้นเช่นกัน โดย Pacific Asia Travel Association (PATA) คาดว่าในปี 2561 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวในอาเซียน 173 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 13 ต่อปี (CAGR) ในช่วงปี 2557-2561 ทั้งนี้ ตลาดท่องเที่ยวในอาเซียนที่มีแนวโน้มขยายตัวดังกล่าวคาดว่าจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปเจาะตลาดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อาทิ ธุรกิจโรงแรม ไม่ว่าจะเป็นผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ปลอกหมอน ของใช้ในห้องน้ำโรงแรม อาทิ สบู่ แชมพู ครีมนวดผม หมวกคลุมผม รวมถึงของที่ระลึกต่างๆ ประเภทพวงกุญแจ แม่เหล็กติดตู้เย็น ธุรกิจสปา อาทิ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว น้ำมันหอมระเหย และธุรกิจร้านอาหาร อาทิ เครื่องปรุงรส อุปกรณ์ตกแต่งภายในร้านอาหาร เป็นต้น
  • Online…ช่องทางสำคัญเจาะตลาดชนชั้นกลางของอาเซียน การซื้อขายสินค้าผ่านช่องทาง Online มีบทบาทมากขึ้นตามจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของอาเซียนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จาก ในปี 2558 อาเซียนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูงถึง 249 ล้านคน เทียบกับปี 2543 ที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพียง 11 ล้านคน อีกทั้งผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลางของอาเซียนที่อยู่ในวัยแรงงานมักชอบทดลองใช้สินค้าและบริการแปลกใหม่ ทำให้การซื้อขายสินค้าออนไลน์ซึ่งเป็นช่องทางใหม่ที่สะดวกและประหยัดเวลาได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่ผู้บริโภคชนชั้นกลางของอาเซียน โดย A.T. Kearney คาดว่ายอดซื้อสินค้าผ่านช่องทาง Online ของผู้บริโภคในอินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 25 ต่อปี (CAGR) ในช่วงปี 2556-2560 หรือมีมูลค่าสูงถึง 17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่ตลาดสินค้า Online มีศักยภาพในการขยายตัวได้อีกมาก เพราะเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดในอาเซียน โดยเว็บไซต์ที่ชาวอินโดนีเซียนิยมเลือกซื้อสินค้าและบริการ อาทิ lazada.co.id และbhinneka.com ทั้งนี้ สินค้าที่ชาวอินโดนีเซียนิยมสั่งซื้อผ่านอินเทอร์เน็ต อาทิ สินค้าแฟชั่น ทั้งเสื้อผ้าและรองเท้า ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก เช่น ผ้าอ้อม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสำหรับเด็ก และอาหารสำหรับเด็กในช่วงวัยต่างๆ ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ช่องทาง Online ประชาสัมพันธ์สินค้าหรือวางจำหน่ายสินค้า อันจะช่วยให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคชนชั้นกลางของอาเซียนได้อย่างแพร่หลาย และเพิ่มโอกาสในการได้รับคำสั่งซื้อตามมา

ปัจจุบันแม้สินค้าส่งออกของไทยหลายรายการเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในด้านคุณภาพจากผู้บริโภคอาเซียน แต่ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงกฎระเบียบปลีกย่อยในการนำเข้าสินค้าซึ่งบางประเทศมีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคของแต่ละประเทศเพื่อลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจและช่วยให้การวางกลยุทธ์การตลาดสอดคล้องกับลูกค้าเป้าหมายแต่ละกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมิถุนายน 2559--


แท็ก อาเซียน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ