Share โลกเศรษฐกิจ: Black Swan Event...กับดักเศรษฐกิจโลกที่มักคาดไม่ถึง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 1, 2016 11:30 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

การค้นพบว่าหงส์ไม่ได้มีเพียงแค่สีขาวเป็นครั้งแรกของโลกโดยนาย Willem de Vlamingh นักสำรวจชาวเนเธอร์แลนด์ระหว่างการเดินเรือไปทางภาคตะวันตกของทวีปออสเตรเลียเมื่อกว่า 300 ปีที่ผ่านมา ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้นาย Nassim Nicholas Taleb นักเขียนชาวเลบานอน-อเมริกัน ซึ่งเป็นอดีตนักวิเคราะห์ความเสี่ยงและผู้ค้าหลักทรัพย์ พัฒนาแนวคิดนี้อย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การนิยามคำจำกัดความที่ใช้เรียกเหตุการณ์ต่างๆ ที่ยากจะเกิดขึ้น แต่กลับเกิดขึ้นและส่งผลกระทบรุนแรงว่า “Black Swan Event” ซึ่งนาย Taleb ได้เผยแพร่แนวคิดนี้ลงในหนังสือ The Black Swan : The Impact of the Highly Improbable ในปี 2550 โดยเหตุการณ์ที่เข้าข่าย Black Swan Event ต้องประกอบด้วยคุณลักษณะ 3 ประการ คือ 1. เป็นเหตุการณ์ที่ยากจะเกิดขึ้น (Rarity) 2. เป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรง (Extremely Impact) และ 3. เป็นเหตุการณ์ที่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต (Retrospective Predictability)

หลังจากแนวคิดดังกล่าวเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย นักเศรษฐศาสตร์และสำนักข่าวเศรษฐกิจหลายแห่งได้นำคำว่า Black Swan Event มาใช้เรียกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ Black Monday ที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกดิ่งลงอย่างรุนแรงในปี 2530 วิกฤต Dot-com Bubble หรือภาวะฟองสบู่ในภาคธุรกิจไอทีเมื่อปี 2533 เหตุการณ์ 9/11 ที่ผู้ก่อการร้ายโจมตีสหรัฐฯ ในปี 2544 และวิกฤต Sub-prime จากผลพวงของหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ในปี 2550 ทั้งนี้ เหตุการณ์ล่าสุดที่เข้าข่ายเป็นหนึ่งใน Black Swan Event ที่สำคัญของโลก คือ การลงประชามติออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ซึ่งมีคุณลักษณะของเหตุการณ์ Black Swan Event ครบทั้ง 3 ประการ ดังนี้

นอกจากเหตุการณ์นี้แล้ว นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าโอกาสในการเกิด Black Swan Event ในอนาคตยังมีอีกมาก ที่สำคัญ อาทิ

  • ภาวะ Hard Landing ของเศรษฐกิจจีน แม้ว่าเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ขยายตัว 6.7% สอดคล้องกับที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายไว้ที่ 6.5-7% ในปี 2559 สะท้อนให้เห็นว่าจีนได้หลุดพ้นจากการเข้าสู่ภาวะ Hard Landing (การเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างฉับพลัน) แต่โอกาสในการเกิดภาวะดังกล่าวยังคงมีอยู่ โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญจากภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดพันธบัตรของจีน ทั้งนี้ หากเกิดภาวะ Hard Landing ขึ้นจริง นอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาวะเศรษฐกิจจีนแล้ว ยังเป็นปัจจัยบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อีกทั้งยังทำให้ภาคส่งออกและสถานะหนี้ต่างประเทศทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
  • วิกฤตการเงินในอิตาลี สถานการณ์หนี้เสียของภาคธนาคารในอิตาลีที่ส่อเค้าลุกลามบานปลายอาจทำให้ประเทศดังกล่าวที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของ EU ต้องประสบกับวิกฤตการเงินครั้งใหม่ โดยเฉพาะหากนาย Matteo Renzi ชนะการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 ในปี 2560 เนื่องจากนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่านโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของนาย Renzi ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้เสียในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการประกาศใช้มาตรการ Bail-in [หนึ่งในมาตรการทางการเงินของ EU ที่กำหนดให้ธนาคารของประเทศที่กู้ยืมเงินจากธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) จัดเก็บภาษีจากบัญชีเงินฝากในประเทศ เพื่อแบ่งเบาภาระหนี้ภาครัฐ และลดความเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะล้มละลาย] เช่นเดียวกับที่ไซปรัสเคยใช้เมื่อปี 2556 ก็เป็นปัจจัยที่เร่งให้เกิดวิกฤตดังกล่าวเร็วขึ้นทั้งนี้ การเกิดวิกฤตการเงินในอิตาลีไม่เพียงซ้ำเติมเศรษฐกิจอิตาลีที่ยังเปราะบางจากผลกระทบของ Brexit แต่ยังบั่นทอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของ EU และทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้าลงอีกด้วย

ท่ามกลางความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว ประกอบกับภาวะราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ตกต่ำ การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือวิกฤตการเงินที่เข้าข่ายเป็น Black Swan Event ในประเทศใดประเทศหนึ่งย่อมก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่สะเทือนถึงกันเป็นวงกว้าง เนื่องจากปัจจุบันระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศต่างมีความเกี่ยวพันและเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น การให้ความสนใจและติดตามความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจต่างประเทศ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเตรียมการป้องกันและรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนสิงหาคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ