สถานะประเทศไทยบนเส้นทางการก้าวข้าม Middle Income Trap

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 23, 2016 15:31 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ในอดีตประเทศไทยเคยถูกคาดหมายว่าจะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย ตามหลังฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ในการก้าวขึ้นสู่ประเทศรายได้สูง (รายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงกว่า 12,735 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี) แต่ด้วยปัจจัยรุมเร้านานัปการและอุปสรรคต่างๆ อาทิ ผลิตภาพการผลิตไม่สอดคล้องตามค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น ข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการผลิต การพึ่งพาสินค้าเกษตรขั้นต้นที่ราคาผันผวนตามตลาดโลก ทำให้ไทยยังไม่สามารถก้าวสู่ประเทศรายได้สูง เสมือนติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเร่งผลักดันและตั้งเป้าหมายให้ไทยก้าวขึ้นเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี 2569-2574

หากพิจารณาประสบการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศรายได้สูง พบว่าหัวใจของการพัฒนาประเทศให้สามารถก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง คือ การยกระดับภาคการผลิตไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งต้องการปัจจัยสนับสนุน อาทิ การลงทุนใน R&D การยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาคุณภาพการศึกษา และการพัฒนาตลาดการเงินให้มีประสิทธิภาพ ดังนั้น เพื่อให้เห็นสถานะในปัจจุบันของไทยบนเส้นทางการก้าวข้าม Middle Income Trap ผู้เขียนจึงลองเปรียบเทียบตัวชี้วัดของไทยในปัจจุบันกับตัวชี้วัดของประเทศรายได้สูงอื่นๆ ในเอเชีย โดยใช้ข้อมูลในปีแรกที่ประเทศเหล่านั้นก้าวสู่การเป็นประเทศรายได้สูงได้สำเร็จ รวมทั้งเทียบกับมาเลเซียที่วางเป้าหมายในการหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางภายในปี 2563 พบว่าการลงทุนใน R&D เป็นจุดอ่อนสำคัญของไทย โดยปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 0.3% ของ GDP ต่ำกว่าประเทศรายได้สูง และมาเลเซียที่มีสัดส่วนดังกล่าวเกินกว่า 1% ขณะที่การส่งออกสินค้า High-tech ของไทยมีสัดส่วน 20% ของ GDP ยังต่ำกว่าประเทศรายได้สูงและมาเลเซียค่อนข้างมาก นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และตลาดการเงิน พบว่าคะแนนของไทยในปัจจุบันยังต่ำกว่าคะแนนของประเทศรายได้สูงอยู่พอสมควร ขณะที่สถานะของมาเลเซียอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศรายได้สูงแล้ว

แม้ว่าหลายปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นชี้ให้เห็นว่าไทยยังต้องเร่งพัฒนาปัจจัยสนับสนุนอีกหลายประการ เพื่อเข้าสู่เส้นชัยแห่งการเป็นประเทศรายได้สูง แต่จากนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมถึงการเร่งดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ มาตรการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ไม่เพียงต่อยอดอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ แต่ยังมุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่จะช่วยยกระดับภาคการผลิตของไทยไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง การสนับสนุนการลงทุนใน R&D และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยให้ไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางไปได้ อย่างไรก็ตาม แนวทางการพัฒนาดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เวลา ดังนั้นความต่อเนื่องของนโยบายจึงเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาประเด็นดังกล่าวถือเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ

Disclaimer : คอลัมน์นี้เผยแพร่เพื่อให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจต่างประเทศ รวมถึงภาวะธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ