Share โลกเศรษฐกิจ: ระบบ e-WTP…พลิกโฉมการดำเนินธุรกิจของ SMEs ในอนาคต

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 31, 2016 11:05 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

หลายประเด็นที่มีการอภิปรายและนำเสนอในการประชุม G20 Summit ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ล้วนมีความสำคัญต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็น “Four Prescriptions” ของประธานาธิบดี Xi Jinping ของจีน หรือ 4 ปัจจัยที่จำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ได้แก่ ความคิดริเริ่ม (Innovative) ความมีพลัง (Invigorated) การติดต่อเชื่อมโยง (Interconnected) และการมีส่วนร่วม (Inclusive) นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการจัดตั้งระบบ Electronic World Trade Platform (e-WTP) ซึ่ง Jack Ma ผู้ทรงอิทธิพลทางธุรกิจ e-Commerce ของจีน ได้นำเสนอต่อที่ประชุม Business 20 Summit (B20) ซึ่งเป็นการประชุมของผู้นำในภาคธุรกิจก่อนหน้าการประชุม G20 Summit ประเด็นดังกล่าวมีการกล่าวถึงเป็นวงกว้างและได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากที่ประชุมในฐานะกลไกที่จะพลิกโฉมการทำธุรกิจของ SMEs ในเวทีการค้าโลกในอนาคต

แนวคิดที่นำไปสู่การจัดตั้ง e-WTP

สำหรับแนวคิดในการจัดตั้ง e-WTP มีจุดเริ่มต้นจากความต้องการผลักดันให้เกิดการค้าในรูปแบบ e-Commerce และอำนวยความสะดวกให้ธุรกิจ SMEs เข้าสู่ตลาดการค้าโลก เนื่องจากในระยะข้างหน้าภาคธุรกิจต้องเตรียมตัวเข้าสู่ยุคการดำเนินธุรกิจแบบดิจิทัล กล่าวคือ มีการนำเทคโนโลยีการซื้อขายรูปแบบใหม่มาใช้ การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและการใช้ระบบการชำระเงินรูปแบบใหม่ ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่มีความสามารถในการปรับตัวเพื่อตอบรับกระแสดังกล่าวได้ดีกว่าผู้ประกอบการ SMEs ขณะที่ e-WTP จะเป็นระบบที่เข้ามาช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถซื้อขายสินค้าได้สะดวกและรวดเร็ว เพิ่มอำนาจต่อรองให้สูงขึ้น และสร้างโอกาสในการเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น ในอีกด้านหนึ่ง e-WTP จะเป็นกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งนำโดยภาคธุรกิจและขับเคลื่อนด้วยธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ผ่านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศผ่านช่องทางการค้าอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross-border E-Commerce) รวมทั้งการกำหนดกฎระเบียบที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการด้านภาษี และระเบียบพิธีการศุลกากร ซึ่งจะเป็นมาตรฐานสำคัญเพื่อให้เกิดการค้าที่มีความโปร่งใสและยุติธรรม

ต้นแบบของ e-WTP
การจัดตั้ง e-WTP มีต้นแบบมาจากการจัดตั้งเขตการค้าอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross-border E-Commerce Zone) ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลจีนนำมาใช้เพื่อกระตุ้นภาคส่งออกที่ชะลอตัว โดยมีการทดลองจัดตั้งพื้นที่นำร่องเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2558 ภายใต้ชื่อโครงการ “Cross-border E-Commerce Comprehensive Pilot Area” ในเมืองหางโจว ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจ e-Commerce และเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ Alibaba บริษัทยักษ์ใหญ่ธุรกิจ e-Commerce ของจีน ซึ่งหลังจากการทดลองใช้พื้นที่นำร่องดังกล่าวมูลค่าการซื้อขายในธุรกิจ Cross-border E-Commerce ของเมืองหางโจวพุ่งขึ้นจากราว 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2557 เป็น 3.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของการดำเนินธุรกิจในรูปแบบดังกล่าว อีกทั้งรัฐบาลจีนยังตั้งเป้าให้เมืองหางโจวก้าวขึ้นเป็น Global E-Commerce Platform ภายในปี 2560 และจำนวนผู้ประกอบการในธุรกิจ Cross-border E-Commerce จะมีมากกว่า 5,000 รายภาในปีเดียวกัน ทั้งนี้ ภายในพื้นที่นำร่องผู้ประกอบการสามารถยื่นขออนุญาตส่งออกผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งรวมขั้นตอนของหน่วยงานราชการต่างๆ ทั้งกรมศุลกากร กรมควบคุมคุณภาพสินค้า กรมควมคุมโรค กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานอื่นๆ ไว้ในที่เดียว ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการติดต่อกับหน่วยงานราชการและลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ภายในพื้นที่นำร่องยังมีระบบการจัดการและการให้บริการต่างๆ ที่ครบวงจรสำหรับการดำเนินธุรกิจ Cross-border E-Commerce อาทิ ศูนย์ข้อมูลกลางและการแบ่งปันข้อมูล การให้บริการสินเชื่อ e-Commerce ระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ ระบบตรวจสอบและควบคุมความเสี่ยง เป็นต้น ซึ่งทำให้การดำเนินธุรกิจในพื้นที่นำร่องดังกล่าวมีความคล่องตัวมาก

ความสำเร็จของโครงการ Cross-border E-Commerce Comprehensive Pilot Area จะมีส่วนผลักดันให้การจัดตั้ง e-WTP เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับที่ประเด็นดังกล่าวถูกบรรจุอยู่ในรายงานนโยบายประจำปีของการประชุม B20 Summit ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักที่ข้อเสนอจากภาคธุรกิจได้ถูกบรรจุอยู่ในรายงานดังกล่าวเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม G20 Summit ทั้งนี้ การดำเนินการจัดตั้ง e-WTP ให้ประสบผลสำเร็จนั้นต้องได้รับความร่วมมือจากนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศเหล่านั้นได้รับประโยชน์จากการขยายการค้าผ่านช่องทาง Cross-border E-Commerce ไปทั่วโลก โดย e-WTP จะมีส่วนช่วยสนับสนุนเทคโนโลยีด้านการชำระเงินและโลจิสติกส์เป็นสำคัญ อันจะเป็นการพลิกโฉมการดำเนินธุรกิจครั้งสำคัญในเวทีการค้าโลก สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ไทยควรเร่งปรับตัวให้สอดรับกับกระแสเทคโนโลยีการค้าขายรูปแบบใหม่ เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการขยายตลาดการค้าไปต่างประเทศทันทีที่ e-WTP เริ่มใช้งานอย่างสมบูรณ์

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนตุลาคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ