Make in India บันไดสู่ความสำเร็จของอินเดีย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 6, 2016 14:23 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ในช่วงที่ผ่านมา อินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่เศรษฐกิจขยายตัวสูงที่สุดในโลก โดยในปี 2554-2558 เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวเฉลี่ยราว 7% ต่อปี สูงกว่าเศรษฐกิจโลกในช่วงเดียวกันที่ขยายตัวเฉลี่ยเพียง 3% ต่อปี ด้วยปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญจากการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวอย่างร้อนแรง อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดียวกันผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของอินเดียกลับขยายตัวเฉลี่ยเพียง 2% ต่อปีซึ่งไม่เพียงพอกับการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) แทบไม่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา จากกฎระเบียบด้านการลงทุนที่ซับซ้อนและภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ส่งผลให้อินเดียต้องนำเข้าสินค้าเพื่อใช้บริโภคในประเทศเป็นจำนวนมาก จนเป็นบ่อเกิดของปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรังซึ่งบั่นทอนเสถียรภาพของเศรษฐกิจอินเดียในระยะยาว ทำให้ในปี 2557 รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี Narendra Modi พยายามปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ด้วยการชูนโยบาย "Make in India" เพื่อสนับสนุนการลงทุนและยกระดับภาคการผลิตของอินเดีย โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้อินเดียเป็นศูนย์กลางการผลิตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก (Global Manufacturing Hub)

นโยบาย Make in India มุ่งเน้นดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติให้เข้าไปตั้งฐานการผลิตในอินเดีย เพื่อยกระดับภาคการผลิตของอินเดียและเพิ่มสัดส่วน GDP ของภาคอุตสาหกรรมเป็น 25% ของ GDP รวมภายในปี 2565 จาก 17% ของ GDP รวมในปัจจุบัน โดยมีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมแล้วใน 3 ด้าน ดังนี้ 1) การเพิ่มเพดานสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติเป็น 100% ใน 25 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ก่อสร้าง อาหาร และพลังงานทดแทน 2) การปรับปรุงระบบราชการ โดยลดขั้นตอนการดำเนินธุรกิจของนักลงทุนต่างชาติให้สะดวกรวดเร็วขึ้น อาทิ การจัดตั้งระบบ One-stop service online เพื่อเป็นศูนย์รวมในการขอใบอนุญาตลงทุนในอินเดีย 3) การจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนต่างชาติ อาทิ การจัดตั้งหน่วยพิเศษ (Special Cell) ที่มีหน้าที่ให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาแก่นักลงทุนต่างชาติ พร้อมทั้งหาแนวทางแก้ปัญหาได้ภายใน 3 วัน

ด้วยองค์ประกอบทางเศรษฐกิจของอินเดียที่มีความน่าสนใจเป็นทุนเดิม ทั้งเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก จำนวนประชากรกว่า 1,300 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้นโยบาย Make in India ก่อให้เกิดประสิทธิผลอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2558 เม็ดเงิน FDI ที่เข้าไปในอินเดียเพิ่มขึ้นเกือบ 30% เทียบกับปี 2557 ประกอบกับอันดับความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ที่จัดทำโดย World Bank ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากอันดับ 142 ในปี 2557 เป็น 130 ในปัจจุบัน นับเป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอันดับดีขึ้นมากที่สุดในทวีปเอเชียใต้ นอกจากนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจอินเดียยังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่ารายได้ต่อหัว (GDP per capita) ของอินเดียจะขยายตัวราว 6% ต่อปี ทำให้จำนวนชนชั้นกลางในอินเดียเพิ่มขึ้นเป็น 140 ล้านครัวเรือนภายในปี 2568 ซึ่งจะทำให้อินเดียกลายเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงทั้งด้านการค้าและการลงทุน

การปฏิรูปเศรษฐกิจของอินเดียผ่านนโยบาย Make in India นับว่ามีผลต่อไทยทั้งด้านการค้าและการลงทุน สำหรับด้านการค้า ปัจจุบันแม้ว่าอินเดียจะเร่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในประเทศ แต่เนื่องจากห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของภาคอุตสาหกรรมในอินเดียที่ยังไม่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมต้นน้ำและกลางน้ำ ทำให้อินเดียต้องนำเข้าสินค้าวัตุดิบและกึ่งวัตถุดิบจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกสินค้าต้นน้ำและกลางน้ำของไทย ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกสินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบของไทยไปอินเดียหลายรายการขยายตัวในเกณฑ์ดี (อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ส่วนประกอบยานยนต์ เครื่องจักรกลไฟฟ้า) สวนทางกับมูลค่าส่งออกไปอินเดียโดยรวมที่หดตัว ขณะที่ด้านการลงทุน ด้วยนโยบาย Make in India ที่มุ่งเน้นดึงดูด FDI ด้วยการปรับปรุงกฎระเบียบด้านการลงทุน รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่มากขึ้น ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปลงทุนในอินเดีย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูง และสอดคล้องไปกับ 25 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของอินเดีย อาทิ ก่อสร้าง/รับเหมา ส่วนประกอบยานยนต์ และอาหาร เป็นต้น

ปัจจุบันแม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินเดียในด้านการค้าการลงทุนจะยังมีไม่มาก แต่ผู้เขียนมองว่าอินเดียมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะจากการดำเนินโยบาย Make in India ที่มีจุดเด่นและศักยภาพหลายด้านสอดคล้องกับนโยบายสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศของไทย ทำให้อินเดียเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรพลาด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ