รู้ลึก AEC: ไลฟ์สไตล์สุดฮิตของชาวเมียนมาในยุคสังคมเมือง

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 26, 2017 15:00 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

นับตั้งแต่รัฐบาลเมียนมาดำเนินนโยบายเปิดประเทศในปี 2553 เป็นต้นมา เศรษฐกิจเมียนมาก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนโยบายพัฒนาประเทศ และอิทธิพลของกระแสเทคโนโลยียุคใหม่ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เมียนมาเข้าสู่สังคมเมือง (Urbanization) มากขึ้น เห็นได้จากในปี 2558 สัดส่วนประชากรที่อยู่ในเขตเมืองของเมียนมาอยู่ที่ราว 34% ของประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 29% ในปี 2548 นอกจากนี้ The Boston Consulting Group บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำคาดว่ากลุ่มประชากรเมียนมาที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป (Middle and Affluent Class: MAC) ซึ่งมีรายได้ต่อเดือนสูงกว่า 120 ดอลลาร์สหรัฐ จะมีจำนวนราว 10.3 ล้านคน ภายในปี 2563 คิดเป็นสัดส่วน 15% ของประชากรทั้งประเทศ ทั้งนี้ การเข้าสู่สังคมเมืองและการเพิ่มขึ้นของกลุ่มประชากร MAC ทำให้พฤติกรรมการบริโภคของชาวเมียนมา โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่มีความคล้ายคลึงกับรูปแบบการบริโภคของผู้คนในเมืองใหญ่ๆ ในอาเซียน อาทิ กรุงเทพฯ กัวลาลัมเปอร์ และจาการ์ตามากยิ่งขึ้น โดยตัวอย่างพฤติกรรมการบริโภคของชาวเมียนมายุคใหม่ในเขตเมืองใหญ่ที่เปลี่ยนไปชัดเจน อาทิ

การเข้าโรงภาพยนตร์กลับมาบูมอีกครั้ง

ในช่วง 60 ปีก่อน ชาวเมียนมาเคยนิยมชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์เป็นอย่างมาก ซึ่งในขณะนั้นเมียนมามีโรงภาพยนตร์มากกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ แต่หลังจากรัฐบาลทหารเข้าปกครองประเทศ โรงภาพยนตร์ลดจำนวนลงเหลือราว 40 แห่งเท่านั้น ส่งผลให้ชาวเมียนมาบางส่วนเลือกชมภาพยนตร์ที่บ้านจาก VCD/DVD แทน อย่างไรก็ตาม หลังจากเมียนมาเปิดประเทศอีกครั้ง ชาวเมียนมากลับมานิยมชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์มากขึ้น ปัจจุบันภาพยนตร์ที่ฉายในเมียนมามีทั้งภาพยนตร์เมียนมา ภาพยนตร์ไทย และภาพยนตร์ชาติอื่นๆ เช่นเดียวกับที่ฉายในประเทศไทย ขณะเดียวกันโรงภาพยนตร์ก็พัฒนาเป็นระบบ Multiplex โดยเครือโรงภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยม เช่น Mega Ace Cineplex, Mingalar San Pya Cineplex และ Junction Cineplex เป็นต้น โรงภาพยนตร์เหล่านี้

ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ แนวโน้มการชมภาพยนตร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้บริษัทผู้ดำเนินธุรกิจโรงภาพยนตร์เอกชนของเมียนมามีแผนสร้างโรงภาพยนตร์เพิ่มอีก 100 แห่งทั่วประเทศภายปี 2561

Fast Food และ Modern Cafe เทรนด์ใหม่ของชาวเมียนมา

การเข้าสู่สังคมเมืองของเมียนมาส่งผลให้การใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนในเขตเมืองใหญ่มีความเร่งรีบมากขึ้น การรับประทานอาหารจานด่วน (Fast Food) จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยม ขณะเดียวกันกระแสการดื่มกาแฟตามร้านกาแฟสมัยใหม่ก็เป็นที่นิยมมากขึ้นในเมียนมาเช่นเดียวกับเมืองใหญ่อื่นๆ ทั่วโลก โดยปัจจุบันเครือร้านอาหารจานด่วนและร้านกาแฟสมัยใหม่ชื่อดังหลายแห่งจากต่างประเทศเข้ามาเปิดให้บริการในเมียนมาโดยเฉพาะในเมืองย่างกุ้งและมัณฑะเลย์แล้ว อาทิ

ตัวอย่างร้านอาหารจานด่วนชื่อดัง              ตัวอย่างร้านกาแฟสมัยใหม่                    ปีที่เปิดให้บริการ
Pizza Hut (สหรัฐฯ)                     Gloria Jean's Coffees (ออสเตรเลีย)         ปี 2559
KFC (สหรัฐฯ)                           True Coffee (ไทย)                         ปี 2559
Lotteria (เกาหลีใต้)                    Chao Doi (ไทย)                            ปี 2558
Marrybrown (มาเลเซีย)                  Black Canyon Coffee (ไทย)                 ปี 2558
CP Five Star (ไทย)                    Gong Cha (ไต้หวัน)                          ปี 2558
Krispy Kreme (สหรัฐฯ)*                 Ya Kun Kaya Toast (สิงคโปร์)                ปี 2556

หมายเหตุ : *เตรียมเปิดสาขาในเมียนมาภายใน 5 ปีข้างหน้า
ที่มา : รวบรวมโดยฝ่ายวิจัยธุรกิจ EXIM BANK

Facebook...ช่องทางทำความรู้จักชาวเมียนมายุคใหม่

กระแสเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีอิทธิพลมากขึ้นในเมียนมาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวเมียนมายุคใหม่นิยมใช้อินเตอร์เน็ตและ Social Media มากขึ้นเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ We Are Social บริษัทด้านสื่อโฆษณาชั้นนำระบุว่าในช่วงต้นปี 2560 จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในเมียนมาเพิ่มขึ้น 97% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะ Social Media ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จากการสำรวจของ Nielsen บริษัทวิจัยชั้นนำพบว่า Social Media ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากชาวเมียนมา 5 อันดับแรก ได้แก่

1. Facebook (เป็น Social Media ที่ได้รับความนิยมสูงถึง 99% ของโปรแกรม Social Media ทั้งหมด)

2. Thit Htoo Lwin (เว็บไซต์/แอพพลิเคชันข่าว)

3. Google

4. Myanmar News (เว็บไซต์/แอพพลิเคชันข่าว)

5. G-talk (โปรแกรม/แอพพลิเคชันสนทนา)

พฤติกรรมของชาวเมียนมาในเขตเมืองใหญ่ที่เปลี่ยนไปส่งผลให้โอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเจาะตลาดเมียนมาไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มสินค้าและบริการพื้นฐานที่มีราคาไม่สูงนักอีกต่อไป กระแสความนิยมของชาวเมียนมายุคใหม่ในสังคมเมืองมีความคล้ายคลึงกับไทย ช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าไปทำตลาดในเมียนมาได้หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะ ในกลุ่มสินค้าและบริการที่รองรับรูปแบบการใช้ชีวิตในสังคมเมือง เช่น โรงภาพยนตร์และสื่อบันเทิง ร้านอาหารและเครื่องดื่มสมัยใหม่ สถานเสริมความงาม ฟิตเนส ศูนย์ประดับยนต์ และศูนย์ Car Care เป็นต้น นอกจากนี้ ความนิยมใช้โทรศัพท์มือถือในรูปแบบ Smartphone ของชาวเมียนมาที่สูงถึง 62% ของจำนวนโทรศัพท์มือถือทั้งหมด มากกว่าเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียที่ใช้ Smartphone ราว 52% 34% และ 23% ตามลำดับ ความนิยมดังกล่าวในเมียนมานับว่าเป็นอีกหนึ่งโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการดำเนินธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Digital Content เช่น การผลิตสื่อโฆษณาออนไลน์สำหรับใช้บนแอพพลิเคชัน การออกแบบและผลิตแอพพลิเคชันต่างๆ การตลาด/โฆษณาออนไลน์ เป็นต้น ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าปัจจุบันรูปแบบพฤติกรรมการบริโภคของชาวเมียนมาค่อนข้างเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ อาทิ เมืองย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ แต่ในระยะถัดไปมีหลายเมืองในเมียนมา อาทิ เมืองพะสิม (เขตอิรวดี) เมืองตองยี (รัฐชาน) เมืองสะกาย (เขตสะกาย) และเมืองพะโค (เขตพะโค) ซึ่งมีประชากรจำนวนมาก มีแนวโน้มก้าวเข้าสู่สังคมเมืองมากขึ้น ส่งผลให้รูปแบบพฤติกรรมการบริโภคของชาวเมียนมาในเมืองดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตเช่นกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงไม่ควรมองข้ามเมืองเหล่านี้ที่กำลังจะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ศักยภาพสำหรับการเจาะตลาดในระยะถัดไป

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤษภาคม 2560--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ