เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ: ควรเลือกใช้ธนาคารไหนในเมียนมาเมื่อจะทำการค้าขายกัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 1, 2018 15:39 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ในทุกประเทศ ภาคการเงินและการธนาคารนับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจ นอกจากนี้ รูปแบบหรือลักษณะของธุรกรรมทางการเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งก็มีผลต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในระบบเศรษฐกิจแบบเปิดที่สินค้าและบริการมีการไหลเวียนเข้าออกจำนวนมากเฉกเช่นประเทศไทย บทความเกร็ดการเงินระหว่างประเทศจึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นช่องทางในการนำเสนอข้อมูลทางการเงินในประเทศต่างๆ ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์และช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการในการลงสนามการค้าโลก

เริ่มต้นบทความแรกด้วยเรื่องของการทำธุรกรรมทางการเงินกับเมียนมา ที่เดิมเราอาจจะเห็นว่าการค้ากับประเทศเมียนมาส่วนใหญ่ทำผ่าน Trader ชายแดน และชำระเงินกันในระบบโพยก๊วน แต่หลังจากสหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่มีต่อเมียนมาตั้งแต่ปี 2559 ประกอบกับนโยบายเศรษฐกิจที่เปิดกว้างมากขึ้นก็ทำให้ภาคธนาคารของเมียนมาพัฒนาขึ้นอย่างมาก ขณะเดียวกันมูลค่าการค้าขายกับเมียนมาที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและเป็นไปตามมาตรฐานสากลมากขึ้น ทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศผ่านระบบธนาคารกลายเป็นสิ่งจำเป็น ผู้ประกอบการจึงควรทำความรู้จักธนาคารสำคัญในเมียนมา โดยเฉพาะธนาคารของรัฐ เนื่องจากถือเป็นธนาคารที่มีบทบาทสำคัญในการทำธุรกรรมทางการเงินในปัจจุบัน ทั้งนี้ ธนาคารรัฐในเมียนมามีทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่

  • Myanma Economic Bank (MEB) ถือเป็นธนาคารใหญ่อันดับสองของเมียนมาในแง่ศักยภาพของการเข้าถึงลูกค้า (รองจาก KBZ Bank ซึ่งเป็นธนาคารเอกชน) โดยมีสาขาราว 350 แห่ง และมีพนักงานราว 9 พันราย ซึ่งด้วยสาขาที่มีจำนวนมากทำให้เป็นธนาคารที่เข้าถึงชาวเมียนมาในพื้นที่ชนบท (70% ของชาวเมียนมาทั้งประเทศ) อย่างไรก็ตาม สำหรับด้านการปล่อยสินเชื่อ MEB เน้นสนับสนุนทางการเงินให้กับภาครัฐเป็นหลัก อาทิ การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล การสนับสนุนทางการเงินกับรัฐวิสาหกิจ และการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับธนาคารรัฐอื่นๆ ขณะที่การสนับสนุนทางการเงินกับภาคเอกชนในเมียนมามีสัดส่วนน้อยกว่า (ต่ำกว่า 10% ของสินทรัพย์ของธนาคาร)
  • Myanma Foreign Trade Bank (MFTB) เป็นธนาคารที่เน้นให้บริการทางการเงินด้านการค้าระหว่างประเทศด้วยเครือข่าย Correspondent Bank กว่า 263 ธนาคาร ใน 54 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นธนาคารที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการเลือกเปิดบัญชีเงินตราต่างประเทศ
  • Myanma Investment and Commercial Bank (MICB) มีขนาดเล็กกว่า MEB และ MFTB อีกทั้งยังให้บริการที่คล้ายคลึงกับทั้งสองธนาคารไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจในประเทศและธุรกิจระหว่างประเทศ แต่จุดเด่นของ MICB คือ การเน้นสนับสนุนผู้ประกอบการภาคเอกชนเป็นหลัก เพื่อช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเมียนมา
  • Myanma Agricultural and Development Bank (MADB) เน้นให้บริการแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่
ชนบททั้งสินเชื่อระยะสั้นและสินเชื่อระยะยาว มีลูกค้าราว 2 ล้านราย พนักงานราว 2,500 คน และสาขา 230 แห่งทั่วประเทศ

ทั้งนี้ สำหรับด้านการค้าระหว่างประเทศ ธนาคารรัฐอย่าง MFTB และ MICB ถือเป็นธนาคารที่ควรทำความรู้จัก เนื่องจากเป็นธนาคารที่มีประสบการณ์ด้านธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศมายาวนาน ประกอบกับเป็นธนาคารที่รัฐสนับสนุนจึงมีความน่าเชื่อถือค่อนข้างสูง และมีโอกาสที่คู่ค้าชาวเมียนมาจะใช้บริการทางการเงินจากธนาคารทั้งสองแห่ง อาทิ การโอนเงินระหว่างประเทศและการเปิด L/C

เกร็ดน่ารู้ : พัฒนาการของภาคธนาคารในเมียนมา

ภาคธนาคารในเมียนมาถือว่าขาดการพัฒนาในช่วงปี 2506-2533 ซึ่งเป็นช่วงการปฏิวัติยึดอำนาจของนายพลเนวิน โดยมีการยึดครองธนาคารเอกชนเป็นธนาคารของรัฐและมีการดำเนินธุรกิจธนาคารในรูปแบบสังคมนิยม ต่อมาหลังจากนายพลเนวินลงจากอำนาจ รัฐบาลเมียนมาได้ออกกฎหมายทางการเงินฉบับใหม่ในปี 2533 ได้แก่ Central Bank of Myanmar Law และ Financial Institutions of Myanmar Laws อีกทั้งมีการออกใบอนุญาตธนาคารเอกชนแห่งแรกในปี 2535 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาภาคธนาคารเมียนมาครั้งสำคัญ อย่างไรก็ตาม ภาคธนาคารของเมียนมาต้องเผชิญอุปสรรคอีกครั้งเมื่อสหรัฐฯ ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับเมียนมาในปี 2543 และต่อมาเกิดวิกฤตการทางเงินในเมียนมาราวปี 2546 เนื่องจากบริษัท Trading หลายรายของเมียนมา ซึ่งอีกด้านหนึ่งเป็นผู้ให้บริการธุรกรรมทางการเงินนอกระบบ ประสบปัญหาทางการเงินจนลุกลามไปถึงสภาพคล่องของธนาคารในเมียนมา จนนำไปสู่การปิดตัวของธนาคารเอกชนหลักของเมียนมาในช่วงเวลาดังกล่าว 3 แห่ง ได้แก่ Asia Wealth Bank, Mayflower Bank และ Myanmar Universal Bank และส่งผลต่อเนื่องให้ธนาคารกลางเมียนมาต้องออกมาตรฐานสถาบันการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อาทิ อัตราส่วนเงินทุน ต่อเงินฝากในระดับสูง และการกำหนดหลักทรัพย์ค้ำประกันที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอุปสรรคต่อการขยายตัวของภาคการเงินในช่วง 10 ปีถัดมา ทั้งนี้ หลังจากวิกฤตการเงินดังกล่าวของเมียนมา ภาคธนาคารของเมียนมาเริ่มเข้าสู่ช่วงของการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่เข้มงวดในการอนุญาตจัดตั้งสถาบันการเงินใหม่ ทำให้ธนาคารของรัฐ ได้แก่ MEB MFTB MICB และ MADB เป็นธนาคารหลักในการขับเคลี่อนธุรกิจการเงินในเมียนมาในระยะถัดมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้า คือ ความท้าทายใหม่ที่ธนาคารรัฐต้องเผชิญ โดยเฉพาะการแข่งขันจากธนาคารเอกชนที่รุนแรงขึ้นหลังเมียนมาออก Central Bank of Myanmar Law ฉบับล่าสุดในปี 2556 ซึ่งให้ธนาคารกลางทำหน้าที่เป็นองค์กรอิสระในการดูแลภาคการเงินและการธนาคาร และเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางเมียนมาดำเนินนโยบายการเงินการธนาคารที่เสรีมากขึ้น โดยมีการออกใบอนุญาตให้กับธนาคารเอกชนใหม่หลายแห่ง นอกจากนี้ ธนาคารรัฐอย่าง MEB ต้องเผชิญกับผลการดำเนินงานส่วนใหญ่ที่อยู่ในภาวะขาดทุน เนื่องจากต้องดำเนินงานในลักษณะที่สนองนโยบายภาครัฐเป็นหลัก ส่วน MADB ต้องสนับสนุนภาคเกษตรกรรมของเมียนมาเป็นหลัก ทำให้ผลการดำเนินงานขึ้นกับสินค้าเกษตรไม่กี่ประเภท ประกอบกับส่วนต่างกำไรที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ MADB ต้องเผชิญภาวะขาดทุนเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงต้องติดตามกันต่อไปว่าปัจจุบันรัฐบาลเมียนมามีแผนที่จะปฏิรูปธนาคารของรัฐดังกล่าวอย่างไรในระยะข้างหน้า

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมกราคม 2561--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ