Share โลกเศรษฐกิจ: ตลาดยานยนต์อินเดียโตผงาด...โอกาสทองของห่วงโซ่การผลิตไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 7, 2018 15:01 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์ในอินเดียเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนอินเดียกลายเป็นฐานการผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จากข้อมูลขององค์การผู้ผลิตยานยนต์นานาชาติ (Organisation Internationale des Constructeurs d’Automobiles : OICA) พบว่า ในปี 2560 อินเดียมีปริมาณการผลิตรถยนต์ ทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์เชิงพาณิชย์รวมกันราว 4.8 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 22% จากปี 2554 ที่มีปริมาณการผลิตรวม 3.9 ล้านคัน ส่งผลให้อินเดียก้าวขึ้นมาเป็นฐานการผลิตยานยนต์อันดับ 5 ของโลกจากที่เคยอยู่อันดับ 10 ในปี 2550 แซงหน้าทั้งเกาหลีใต้ สเปน และบราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำของโลก ขณะที่ปริมาณการส่งออกรถยนต์ของอินเดียก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากประมาณ 5 แสนคันในปี 2554 เป็น 9 แสนคันในปี 2560 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยราว 10% ต่อปี

นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียได้เร่งผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างต่อเนื่องภายใต้แผน Automotive Mission Plan 2569 (AMP 2026’s) ที่ต้องการยกระดับให้อินเดียเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ของโลกผ่านการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งด้านภาษีและมิใช่ภาษี อาทิ ให้นักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมยานยนต์สามารถถือหุ้นได้ 100% และยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตยานยนต์ในอินเดียมากขึ้น รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ทดสอบและการวิจัยและพัฒนาแห่งชาติ (National Automotive Testing and R&D Infrastructure Project : NATRiP) ซึ่งถือเป็นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์อินเดีย นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียยังได้กำหนดแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าระดับชาติปี 2563 (National Electric Mobility Mission Plan 2020) ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฮบริด พร้อมตั้งเป้าสร้างสถานีชาร์จประจุไฟฟ้า (EV Station) 4,500 แห่งภายในปี 2563

จากนโยบายดังกล่าวทำให้ปัจจุบันมีบริษัทรถยนต์ชั้นนำของโลกหลายแห่งเข้ามาตั้งฐานการผลิตในอินเดีย ไม่ว่าจะเป็น Suzuki Toyota Honda Hyundai BMW และ Ford ตลอดจนบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่อย่าง Tesla จากสหรัฐฯ Mercedes-Benz จากเยอรมนี และ Nissan จากญี่ปุ่น ทั้งนี้ สมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งอินเดีย (Society of India Automobile Manufactures : SIAM) คาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์อินเดียจะก้าวขึ้นมาเป็นฐานการผลิตยานยนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของโลกภายในปี 2563 ด้วยกำลังการผลิตรถยนต์กว่า 20 ล้านคัน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์อินเดียมีสัดส่วนต่อ GDP เพิ่มขึ้นเป็น 10% จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ราว 7%

การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอินเดียนับเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทยทั้งในมิติด้านการค้าและการลงทุน เนื่องจากไทยถือเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ขณะที่ผู้ประกอบการไทยหลายรายมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง โดยในมิติด้านการค้า การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอินเดียดังกล่าวถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์และสินค้าที่เกี่ยวข้องของไทยในการขยายตลาดส่งออกไปยังอินเดีย ทั้งนี้ในช่วงปี 2558-2560 มูลค่าส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ของไทยไปอินเดียขยายตัวเฉลี่ยราว 12% ต่อปี ขณะที่มูลค่าส่งออกยางยานพาหนะไปอินเดียขยายตัวเฉลี่ยราว 15% ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน สำหรับมิติด้านการลงทุน จากการที่อุตสาหกรรมยานยนต์ของอินเดียเติบโตอย่างรวดเร็วประกอบกับอินเดียมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนแก่นักลงทุนต่างชาติ พร้อมด้วยศักยภาพของโครงสร้างพื้นฐานในอุตสาหกรรมยานยนต์อินเดีย ถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในการเข้าไปลงทุนผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อป้อนให้กับค่ายรถยนต์ในอินเดียหรือใช้อินเดียเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่สาม ซึ่งจะช่วยขยายตลาดและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่อไป

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนเมษายน 2561


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ