รู้ทันเกมการค้า: คู่ค้าจ่ายเงินล่าช้า...พฤติกรรมเสี่ยงที่ผู้ส่งออกควรใส่ใจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 3, 2018 14:17 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

บ่อยครั้งที่ผู้ส่งออกอาจไม่อยากทำการค้ากับคู่ค้ารายใหม่ เพราะคิดว่าจะไปเพิ่มความเสี่ยงให้กับตนเองทำไม และไม่อยากเสียเวลาไปตรวจสอบคู่ค้าใหม่ และยิ่งเป็นลูกค้าจากประเทศไกลๆ ซึ่งติดต่อพบปะกันยาก ก็เริ่มไม่อยากค้าขายด้วย สู้ค้าขายกับคู่ค้าที่คุ้นเคยกันไม่ได้ และหากคู่ค้าที่ค้าขายกันอยู่แล้วไม่เคยมีประวัติเบี้ยวหนี้เลยตั้งแต่ค้าขายกันมา ก็ยิ่งไม่จำเป็นต้องมองหาคู่ค้าใหม่ๆ ให้ยุ่งยาก ค้าขายกับคู่ค้าเก่าก็น่าจะเพียงพอแล้ว ปลอดภัยกว่า แต่ลองพิจารณาตัวอย่างของคุณชอบค้า (ผู้ส่งออก) ที่หยิบยกมาเล่าสู่กันฟังในครั้งนี้ มุมมองของท่านอาจจะเปลี่ยนไป

คุณชอบค้าส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ให้กับคู่ค้า (ผู้ซื้อ) รายหนึ่งในประเทศตูนิเซีย จากที่คุณชอบค้าเคยตรวจสอบก็พบว่าคู่ค้ารายนี้มียอดขายและผลกำไรที่ดี อีกทั้งยังไม่มีประวัติถูกฟ้องร้อง จึงได้ติดต่อค้าขายกันมายาวนานถึง 5 ปี และตลอดระยะเวลาที่ค้าขายกันคู่ค้ารายนี้ก็ชำระค่าสินค้าทุกครั้ง เพียงแต่มักจะชำระค่าสินค้าและรับสินค้าล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ประมาณ 3 เดือนเป็นประจำ แรกๆ คุณชอบค้าก็มีความกังวลและคอยติดตามคู่ค้าอยู่เสมอ แต่ก็พบว่าถึงแม้คู่ค้ารายนี้จะมารับสินค้าช้าไปบ้าง แต่ก็มารับสินค้าและชำระค่าสินค้าครบถ้วนทุกครั้ง นานวันเข้าคุณชอบค้าก็เริ่มชินกับพฤติกรรมจ่ายเงินล่าช้าของคู่ค้ารายนี้ และมั่นใจในสถานะการเงินของคู่ค้ารายนี้ จึงไม่ได้ตรวจสอบและมิได้ติดใจอะไรอีกต่อไปเมื่อคู่ค้ามารับของล่าช้า จนกระทั่งครั้งล่าสุดที่คุณชอบค้าส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์มูลค่าราว 40,000 ดอลลาร์สหรัฐให้แก่คู่ค้ารายนี้ ด้วยเทอมการชำระเงินแบบเดิม คือ Document against Payment (D/P Sight) ซึ่งมีเงื่อนไขที่ผู้ซื้อต้องชำระค่าสินค้าให้ธนาคารที่ทำหน้าที่เรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินก่อน จึงจะขอรับใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading : B/L) เพื่อไปรับสินค้า ทั้งนี้ คุณชอบค้าเชื่อว่าคู่ค้าจะมารับของล่าช้าเหมือนทุกครั้ง ดังนั้นแม้จะเกินเวลานัดรับของตามที่กำหนดในเอกสารแล้ว คุณชอบค้าก็ไม่ได้เดือดร้อนใจในการติดตามทวงถามคู่ค้า เพราะคุ้นชินกับการมารับของล่าช้าเช่นนี้แล้ว แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะผ่านไปกว่า 3 เดือนแล้ว คู่ค้าของคุณชอบค้าก็ยังไม่มารับสินค้า จนเมื่อคุณชอบค้าสอบถามไปยังคู่ค้าจึงทราบว่าคู่ค้าขอปฏิเสธการรับมอบสินค้าเพราะขาดสภาพคล่องอย่างหนักจนไม่สามารถชำระเงินค่าสินค้าได้

จากการละเลยติดตามทวงถามคู่ค้าในครั้งนี้ ทำให้นอกจากคุณชอบค้าต้องสูญเสียเงินค่าสินค้าที่ควรจะได้รับแล้ว ยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดการสินค้าที่ตกค้างปลายทางอยู่เป็นเวลานานกว่า 3 เดือนอีกด้วย สำหรับในกรณีนี้เนื่องจากสินค้าล็อตนี้ผลิตเพื่อจำหน่ายได้เฉพาะในตูนีเซียเท่านั้น คุณชอบค้าจึงตัดสินใจติดต่อหาผู้ซื้อรายใหม่ในตูนีเซียแทนการขนสินค้ากลับเมืองไทยซึ่งมีค่าใช้จ่ายราว 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่คู่ค้ารายใหม่ก็ต่อรองให้ลดราคาสินค้าลงราว 15% ซึ่งนอกจากคุณชอบค้าต้องขายสินค้าในราคาถูกลงถึง 6,000 ดอลลาร์สหรัฐแล้ว คุณชอบค้ายังต้องเสียค่าดูแลตู้สินค้าที่นำของออกมาช้าอีก 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ สุดท้ายคุณชอบค้าจึงมีรายได้จากการขายสินค้าครั้งนี้หายไปทั้งสิ้น 16,000 ดอลลาร์สหรัฐ คือ แทนที่จะได้เงินค่าสินค้า 40,000ดอลลาร์สหรัฐ แต่กลับได้เพียง 24,000 ดอลลาร์สหรัฐ

เหตุการณ์นี้นับเป็นข้อเตือนใจให้กับคุณชอบค้าและผู้ส่งออกท่านอื่นๆ ว่า การที่ผู้ส่งออกมั่นใจคู่ค้าที่ตนเองติดต่อค้าขายกันมานานจนวางใจ อาจเป็นการกระทำที่ประมาท เพราะคู่ค้าที่ค้าขายกันด้วยดีมายาวนานก็ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าจะไม่เกิดการผิดนัดชำระหนี้ตลอดไปในอนาคต การค้าไม่ว่าจะกับคู่ค้ารายเก่าหรือรายใหม่ก็ย่อมมีความเสี่ยงอยู่เสมอ ดังนั้นการตรวจสอบคู่ค้าอยู่เป็นประจำเป็นสิ่งที่ควรกระทำและต้องไม่ละเลยกับสิ่งที่คู่ค้าทำไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขข้อกำหนดต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการชำระเงิน เพราะการรู้ตัวแต่เนิ่นๆ จะช่วยบรรเทาความเสียหายบางส่วนลงได้ แต่หากท่านไม่ต้องการแบกรับความเสี่ยงดังกล่าว การซื้อประกันการชำระเงินจาก EXIM BANK เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ทั้งนี้ ท่านสามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายส่งเสริมการรับประกันการส่งออกและการลงทุน EXIM BANK โทร. 0 2271 3700 ต่อ 3920-3922

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤศจิกายน 2561

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ