เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ: ข้อควรรู้เกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างแรงงานในเวียดนาม

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 3, 2019 14:57 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เวียดนามประสบความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) คือ การเป็นประเทศที่มีตลาดแรงงานขนาดใหญ่ ทำให้มีแรงงานจำนวนมากที่พร้อมทำงาน ประกอบกับมีค่าจ้างแรงงานที่ค่อนข้างต่ำ เวียดนามจึงเป็นแหล่งลงทุนที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานและถือเป็นปัจจัยโดดเด่นที่ทำให้บริษัทต่างชาติตบเท้าเข้ามาตั้งฐานการผลิตในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากผู้ประกอบการสนใจเข้าไปลงทุนในเวียดนามก็ควรศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายแรงงานของเวียดนามให้ละเอียดถี่ถ้วน เนื่องจากรัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิ์ของแรงงานเวียดนามค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรเข้าใจโครงสร้างการจ่ายค่าจ้างแรงงานของเวียดนาม เพื่อให้สามารถกำหนดค่าจ้างหรือค่าตอบแทนต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม อันจะมีส่วนช่วยสร้างแรงจูงใจให้แรงงานอยากทำงานกับบริษัทต่อไป โดยมีรายละเอียดที่ครอบคลุมประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

  • ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ อัตราค่าจ้างของแรงงานเวียดนามที่ทำงานในบริษัทต่างชาติจะขึ้นอยู่กับการเจรจาตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยจะต้องระบุอยู่ในสัญญาว่าจ้างแรงงาน และต้องไม่ต่ำกว่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่รัฐบาลเวียดนามกำหนด ซึ่งล่าสุดรัฐบาลเวียดนามได้ปรับอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำขึ้น 5.3% ภายใต้ Decree No. 157/2018/ND-CP มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 โดยค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอัตราใหม่อยู่ที่ระดับ 2,920,000-4,180,000 ด่องต่อเดือน หรือราว 125-180 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนขึ้นอยู่กับพื้นที่เป็นสำคัญ ดังนี้

ทั้งนี้ ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำข้างต้นเป็นอัตราสำหรับแรงงานทั่วไป หากเป็นแรงงานที่ผ่านการฝึกอบรมวิชาชีพจะมีค่าจ้างสูงกว่าอัตราข้างต้นอย่างน้อย 7% อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าแม้รัฐบาลเวียดนามปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำทุกปี แต่ราว 90% ของพื้นที่ทั้งหมดในเวียดนามเป็นพื้นที่ใน Region IV ซึ่งมีค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 125 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนในปัจจุบัน ซึ่งต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยของหลายประเทศในภูมิภาคอย่าง สปป.ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย และไทย ทำให้ FDI ในอุตสาหกรรมการผลิตส่วนใหญ่เริ่มกระจายไปพื้นที่ใน Region IV มากขึ้นเพื่อชิงความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงาน

ค่าจ้างทำงานล่วงเวลา แรงงานที่ทำงานล่วงเวลา (OT) จะได้รับค่าทำงานล่วงเวลาตามที่กฎหมายแรงงานเวียดนามกำหนดซึ่งค่าทำงานล่วงเวลามี 3 ประเภท คือ

  • วันทำงานปกติ ได้รับค่าทำงานล่วงเวลาอย่างน้อย 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างแรงงานปกติ
  • วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ได้รับค่าทำงานล่วงเวลาอย่างน้อย 2 เท่าของอัตราค่าจ้างแรงงานปกติ
  • วันหยุดนักขัตฤกษ์ ได้รับค่าทำงานล่วงเวลาอย่างน้อย 3 เท่าของอัตราค่าจ้างแรงงานปกติ

ทั้งนี้ สำหรับแรงงานที่ทำงานในผลัดกลางคืน (เวลา 22.00 น.-06.00 น.) จะได้รับค่าจ้างพิเศษอย่างน้อย 1.3 เท่าของอัตราค่าจ้างแรงงานปกติ

ค่าประกันสังคม ค่าประกันสุขภาพ และค่าประกันการว่างงาน ภายใต้กฎหมายประกันสังคมฉบับล่าสุดมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2561 รัฐบาลเวียดนามกำหนดอัตราค่าประกันสังคมไว้ที่ 25.5% ของเงินเดือนลูกจ้าง โดยนายจ้างต้องเป็นผู้จ่าย 17.5% และลูกจ้างจ่าย 8% ขณะที่อัตราค่าประกันสุขภาพอยู่ที่ 4.5% ของเงินเดือนลูกจ้าง โดยนายจ้างต้องเป็นผู้จ่าย 3% และลูกจ้างจ่าย1.5% นอกจากนี้ ยังกำหนดอัตราค่าประกันการว่างงานไว้ที่ 2% ของเงินเดือนลูกจ้าง โดยทั้งนายจ้างและลูกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบฝ่ายละ 1% ของเงินเดือนลูกจ้าง

การจ่ายโบนัส โดยทั่วไปการจ่ายโบนัสของบริษัทต่างชาติในเวียดนามขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัทเป็นสำคัญซึ่งถือเป็นค่าตอบแทนพิเศษที่ให้เป็นสินน้ำใจและเป็นเครื่องมือสร้างแรงจูงใจให้กับแรงงานในการทำงาน โดยบริษัทต่างชาติส่วนใหญ่จะจ่ายโบนัสประจำปีในรูปแบบเงินเดือนเดือนที่ 13 ให้กับแรงงานที่ทำงานครบ 1 ปี ส่วนแรงงานที่ทำงานไม่ครบ 1 ปี บริษัทจะจ่ายโบนัสตามระยะเวลาทำงานจริง (Prorated Bonus) นอกจากนี้ ยังมีการจ่ายโบนัสพิเศษที่เรียกว่าโบนัสตรุษจีนเวียดนาม (Tet Bonus)ซึ่งจะจ่ายให้แรงงานก่อนวันหยุดช่วงเทศกาลตรุษจีน (Tet Holiday) โดยการจ่ายโบนัสรูปแบบนี้มีตั้งแต่เทียบเท่าเงินเดือน 1 เดือนไปจนถึงเทียบเท่าเงินเดือนทั้งปี ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของแต่ละบริษัทเป็นสำคัญ นอกจากโบนัสตรุษจีนแล้วบริษัทต่างชาติบางแห่งยังมีการจ่ายโบนัสเป็นกรณีพิเศษซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่มากในช่วงวันหยุดสำคัญ อาทิ วันแรงงานและวันชาติอีกด้วย

ค่าตอบแทนและสวัสดิการอื่นๆ นอกจากเงินเดือนและโบนัสแล้ว บริษัทต่างชาติบางแห่งยังให้ค่าตอบแทนและสวัสดิการอื่นๆ กับแรงงาน เพื่อเป็นแรงจูงใจในการทำงาน โดยส่วนใหญ่จะระบุอยู่ในสัญญาว่าจ้างแรงงาน อาทิ ค่าเช่าบ้าน ค่าสาธารณูปโภค ค่าเดินทาง และค่าเลี้ยงรับรอง นอกจากนี้ ยังอาจให้ค่าตอบแทนที่ไม่ได้อยู่ในรูปตัวเงิน อาทิ บัตรสมาชิกเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ฟิตเนส กอล์ฟ และเทนนิส

ทั้งนี้ ปัจจัยด้านแรงงานถือเป็นจุดเด่นสำคัญที่ทำให้เวียดนามเป็นแหล่งลงทุนที่มีศักยภาพ ขณะที่แรงงานโดยรวมของเวียดนามนับว่ามีคุณภาพทั้งในด้านความขยันขันแข็ง อดทน ใฝ่เรียนรู้ และพร้อมที่จะทำงาน อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลเวียดนามให้ความคุ้มครองและปกป้องสิทธิ์ของแรงงานท้องถิ่นค่อนข้างมากส่งผลให้สหภาพแรงงานของเวียดนามมีความเข้มแข็งมากเช่นกัน ดังนั้น หากผู้ประกอบการเข้าใจและสามารถปฏิบัติได้ตามกฎระเบียบแรงงานดังกล่าวก็จะช่วยให้การบริหารจัดการแรงงานเป็นไปอย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนเมษายน 2562


แท็ก เวียดนาม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ