เปิดประตูสู่ตลาดใหม่: วิเคราะห์ 7 รัฐใหญ่แดนภารตะ...ส่องโอกาสธุรกิจในอินเดีย

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 2, 2019 15:41 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

อินเดียเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่อันดับ 7 ของโลก แบ่งเป็น 29 รัฐ (States) และ 7 ดินแดนสหภาพ (Union Territory) อีกทั้งมีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก จึงมีความหลากหลายทั้งภูมิประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรม ดังนั้น การเข้าใจ Location จึงถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจในอินเดีย บทความฉบับนี้จึงคัดเลือก 7 รัฐใหญ่ที่สุดของอินเดีย (วัดตาม GDP) มาวิเคราะห์ใน 5 มิติสำคัญ ได้แก่ Market Size, Purchasing Power, FDI Attractiveness, Ease of Doing Business, Infrastructure Readiness เพื่อสะท้อนโอกาสทางธุรกิจในแต่ละรัฐ

“State Highlights”

Maharashtra

Financial Hub of India

มีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจอินเดียมากที่สุด

เมืองหลวง : มุมไบ

ประชากร : 112 ล้านคน

GDP per Capita : 3,189 USD

โอกาสสำหรับไทย : เชื่อมโยง Supply Chain เจาะตลาด Middle Class

มีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน โดยเมืองปูเน่เป็น Hub ยานยนต์ใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศ และมี MNCs เข้าไปตั้งฐานการผลิต จึงเป็นโอกาสส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อเชื่อมโยง Supply Chain นอกจากนี้ ด้วยตลาดขนาดใหญ่และกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะเมืองมุมไบ จึงเป็นโอกาสส่งออกสินค้าเจาะตลาดกลุ่ม Middle Class

Tamil Nadu

Manufacturing Hub of India

เมืองหลวง : เจนไน

ประชากร : 72 ล้านคน

GDP per Capita : 2,876 USD

โอกาสสำหรับไทย : โอกาสลงทุนหลากหลายจากความพร้อมรอบด้าน

เหมาะกับการเข้าไปลงทุนในหลายอุตสาหกรรม เช่น สิ่งทอ อาหารแปรรูป ยานยนต์ และ IT สะท้อนจากบริษัทต่างชาติส่วนใหญ่เลือกรัฐนี้เป็นพื้นที่แรกในการเข้าไปลงทุน ปัจจุบันมี SEZs 40 แห่งมากที่สุดในประเทศ ประกอบกับมีแรงงานทักษะ โดยเฉพาะวิศวกรมากที่สุดในประเทศ

Karnataka

IT Hub of India

มี Technology Cluster ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก

เมืองหลวง : เบงกาลูรู

ประชากร : 61 ล้านคน

GDP per Capita : 3,258 USD

โอกาสสำหรับไทย : เจาะตลาดกำลังซื้อสูง

ปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจมีความพร้อมทุกด้าน เอื้อทั้งการเข้าไปลงทุนและส่งออกสินค้า ซึ่งสามารถทำตลาดสินค้าราคาแพงได้ เนื่องจากเศรษฐกิจขยายตัวดีและประชากรมีกำลังซื้อสูง แม้ตลาดจะค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับ 7 รัฐใหญ่ (แต่ประชากรเกือบเท่าไทยทั้งประเทศ)

Uttar Pradesh

ตลาดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ

เมืองหลวง : ลัคนาว

ประชากร : 199 ล้านคน

GDP per Capita : 953 USD

โอกาสสำหรับไทย : ยังไม่ใช่พื้นที่แรกๆ สำหรับผู้ประกอบการไทย

แม้เป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศแต่กำลังซื้อไม่สูง อีกทั้งยังเป็นรัฐที่ไม่ติดทะเล ทำให้ต้นทุนขนส่งสินค้าค่อนข้างสูงและใช้เวลาขนส่งนาน ดังนั้น อาจไม่ใช่พื้นที่ลำดับต้นๆ ที่ผู้ประกอบการไทยจะเลือกเข้าไปเจาะตลาดหรือทำธุรกิจ

Gujarat

New Engine of Growth

เมืองหลวง : คานธีนาการ์

ประชากร : 60 ล้านคน

GDP per Capita : 2,654 USD

โอกาสสำหรับไทย : เหมาะกับตั้งฐานการผลิตเพื่อขายในประเทศและส่งออก

เป็นรัฐที่เติบโตเร็ว โดยมีเมืองเศรษฐกิจสำคัญอย่าง Ahmedabad เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม จึงมีความพร้อมด้านคลัสเตอร์โครงสร้างพื้นฐาน และกฎระเบียบที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกันมีท่าเรือขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ เมื่อผนวกกับแรงงานทักษะจำนวนมาก สะท้อนโอกาสในการเข้าไปตั้งฐานการผลิต โดยเฉพาะเพื่อการส่งออก

West Bengal

แหล่งเพาะปลูกสินค้าเกษตรหลักของอินเดีย

เมืองหลวง : กัลกัตตา

ประชากร : 91 ล้านคน

GDP per Capita : 1,681 USD

โอกาสสำหรับไทย : เน้นสินค้าที่ราคาแข่งขันได้

เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้ไทยที่สุดแต่กำลังซื้อไม่สูง จึงอาจต้องใช้กลยุทธ์ด้านราคาที่แข่งขันได้ในการเจาะตลาด โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภค ขณะเดียวกันมีโอกาสส่งออกเครื่องจักรกลการเกษตร สอดรับกับการเติบโตของภาคเกษตรกรรม

Rajasthan

อยู่ใจกลางของ DMIC*

เมืองหลวง : จัยปูร์

ประชากร : 69 ล้านคน

GDP per Capita : 1,676 USD

โอกาสสำหรับไทย : ส่งออกวัสดุก่อสร้าง ป้อนโครงการ DMIC

รัฐมีนโยบายดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เทคโนโลยีชีวภาพ และเกษตรแปรรูป อย่างไรก็ตามความพร้อมของอุตสาหกรรมสนับสนุนยังมีข้อจำกัด จึงอาจเป็นอุปสรรคในการเข้าไปลงทุน เป็นที่น่าสังเกตว่า Rajasthan อยู่ในเส้นทาง DMIC สะท้อนความต้องการวัสดุก่อสร้างและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการขยายตัวของสังคมเมือง

สรุป

รัฐที่มีศักยภาพลำดับต้นๆ ของอินเดียส่วนใหญ่อยู่บริเวณฝั่งตะวันตกและตอนใต้ของประเทศ ซึ่งแต่ละรัฐมีความโดดเด่นและมีปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจที่แตกต่างกัน อาทิ ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน คลัสเตอร์อุตสาหกรรม กฎระเบียบ และขนาดตลาด เป็นต้น ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรมองอินเดียในลักษณะ 1 รัฐ เท่ากับ 1 ประเทศ เพื่อศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจลักษณะเฉพาะของแต่ละรัฐก่อนจะรุกเข้าไปทำธุรกิจ

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกรกฎาคม 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ