เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ: เอกสารสำคัญที่ควรรู้ก่อนลงทุนใน สปป.ลาว

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 2, 2019 16:00 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

เมื่อผู้ประกอบการตัดสินใจออกไปลงทุนในต่างประเทศ การปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุญาตลงทุนเป็นเสมือนหน้าด่านที่จะสื่อให้เห็นถึงความตั้งใจในการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่เข้าไปลงทุน ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาให้ละเอียดและทำความเข้าใจอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้การเริ่มต้นธุรกิจในต่างประเทศราบรื่น อีกทั้งยังช่วยร่นระยะเวลาดำเนินการบางส่วนลง ไม่เว้นแม้แต่การเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทยที่ผู้ประกอบการต้องศึกษาข้อมูลการขออนุญาตลงทุนให้รอบด้าน เนื่องจากมีเอกสารสำคัญหลายฉบับที่ต้องยื่นขอจากหน่วยงานต่างๆ สำหรับเอกสารสำคัญที่ผู้ประกอบการควรทำความรู้จักก่อนเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว มีดังนี้

-ใบอนุญาตลงทุน (Investment License / Business License) กฎหมายส่งเสริมการลงทุนฉบับล่าสุด ปี 2559 ของสปป.ลาว แบ่งธุรกิจทั่วไป (General Business) เป็น 2 ประเภท คือ 1. ธุรกิจที่อยู่ในบัญชีควบคุม* และ 2. ธุรกิจที่อยู่นอกบัญชีควบคุม สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนในธุรกิจที่อยู่ในบัญชีควบคุมจะต้องขออนุมัติการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน โดยสามารถยื่นคำร้องพร้อมเอกสารประกอบการพิจารณาเพื่อขอใบอนุญาตลงทุน (Investment License) ผ่านศูนย์บริการ One Stop Service ที่กรมส่งเสริมการลงทุน กระทรวงแผนการและการลงทุน ซึ่งมีหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความเห็นชอบ การพิจารณาอนุมัติใช้เวลาราว 25 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่ศูนย์บริการ One Stop Service ได้รับคำร้อง สำหรับการลงทุนในธุรกิจที่อยู่นอกบัญชีควบคุม ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจ (Business License) กับกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับประเภทธุรกิจของผู้ประกอบการโดยตรง อาทิ ธุรกิจบริการ เช่น ร้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงธุรกิจบันเทิง เช่น โรงภาพยนตร์ สามารถยื่นขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจที่กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว เป็นต้น

  • ใบทะเบียนวิสาหกิจ (Enterprise Registration Certificate) กฎหมายวิสาหกิจฉบับปี 2556 กำหนดว่าผู้ประกอบการที่ลงทุนในธุรกิจทั่วไปทั้งธุรกิจที่อยู่ในและนอกบัญชีควบคุม ต้องยื่นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเพื่อขอรับใบทะเบียนวิสาหกิจ ซึ่งเป็นเอกสารที่รับรองว่าผู้ประกอบการมีตัวตนและสามารถดำเนินธุรกิจใน สปป.ลาว ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยข้อตกลงว่าด้วยการขึ้นทะเบียนวิสาหกิจ เลขที่ 0023/MOIC.DERM ลงวันที่ 9 มกราคม 2562 กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องยื่นคำร้องพร้อมเอกสารประกอบการพิจารณาผ่านศูนย์บริการ One Stop Service ที่กรมทะเบียนและคุ้มครองวิสาหกิจ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าในนครหลวงเวียงจันทน์ หรือฝ่ายทะเบียนที่แผนกอุตสาหกรรมและการค้าของแต่ละแขวง รวมถึงสำนักงานอุตสาหกรรมและการค้าของแต่ละเมือง สำหรับอำนาจในการอนุมัติการจดทะเบียนธุรกิจมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้งธุรกิจ ขนาด และประเภทของธุรกิจที่ผู้ประกอบการต้องการจดทะเบียน อาทิ การจดทะเบียนบริษัทจำกัดและมหาชนที่มีทุนจดทะเบียนมากกว่า 500 ล้านกีบ (ราว 1.8 ล้านบาท) ขึ้นไป จะต้องยื่นคำร้องที่กรมทะเบียนและคุ้มครองวิสาหกิจเท่านั้น ส่วนการจดทะเบียนบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนน้อยว่า 500 ล้านกีบ สามารถยื่นคำร้องได้ทั้งที่แผนกอุตสาหกรรมและการค้าของแต่ละแขวง หรือสำนักงานอุตสาหกรรมและการค้าของแต่ละเมือง

ทั้งนี้ ธุรกิจที่อยู่นอกบัญชีควบคุม เจ้าหน้าที่ทะเบียนจะพิจารณาคำร้องภายใน 10 วันทำการ ขณะที่ธุรกิจที่อยู่ในบัญชีควบคุมศูนย์บริการ One Stop Service จะติดต่อประสานงานไปที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความเห็นชอบภายใน 10 วันทำการ ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบ เจ้าหน้าที่ทะเบียนจะดำเนินการจดทะเบียนให้แล้วเสร็จภายใน 3 วันทำการ โดยหลังจากที่ได้รับใบทะเบียนวิสาหกิจแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องเริ่มดำเนินกิจการตามประเภทธุรกิจที่ระบุไว้ในใบทะเบียนภายใน 90 วัน

  • ใบทะเบียนอากร (Tax Registration Certificate) และใบยั่งยืนเลขประจำตัวผู้เสียภาษี เป็นเอกสารสำคัญทางภาษีที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการยื่นขอจากกรมสรรพากร กระทรวงการเงิน หลังจากได้รับใบทะเบียนวิสาหกิจแล้ว อย่างไรก็ตาม ล่าสุดกระทรวงการเงินได้ออกประกาศว่าด้วยเรื่องการออกหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี เลขที่ 0489/PSO.MOF ลงวันที่ 5 มีนาคม 2562 โดยกำหนดให้รวมขั้นตอนการขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีกับขั้นตอนการขอใบทะเบียนวิสาหกิจผ่านระบบ TaxRis ดังนั้น ผู้ประกอบการจะได้รับใบทะเบียนวิสาหกิจแบบใหม่ที่มาพร้อมกับเลขประจำตัวผู้เสียภาษี และสามารถใช้ใบทะเบียนดังกล่าวแทนใบทะเบียนอากรและใบยั่งยืนเลขประจำตัวผู้เสียภาษี นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับการชำระภาษีใน สปป.ลาว ภายใน 30 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่ได้รับใบทะเบียนวิสาหกิจแบบใหม่แล้ว
  • ใบอนุญาตใช้ตราประทับบริษัท (Company Seal) การลงนามในเอกสารต่างๆ ใน สปป.ลาว จะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายก็ต่อเมื่อมีการประทับตราบริษัท ซึ่งผู้ประกอบการสามารถยื่นคำร้องขอจัดทำตราประทับบริษัทกับกระทรวงป้องกันความสงบ ซึ่งจะเป็นผู้แกะสลักตราประทับ ขึ้นทะเบียนตราประทับ และออกใบอนุญาตใช้ตราประทับให้แก่ผู้ประกอบการภายใน 5 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่
ได้รับคำร้องและใบทะเบียนวิสาหกิจ ทั้งนี้ ตราประทับบริษัทที่ใช้ใน สปป.ลาว มีการกำหนดรูปแบบ ลักษณะ ตลอดจนวิธีการใช้ที่ชัดเจนโดยตราประทับจะต้องเป็นรูปทรงแปดเหลี่ยมและมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 3.5 เซนติเมตร รวมถึงต้องใช้น้ำหมึกสีน้ำเงินในการประทับเท่านั้น ขณะที่รายละเอียดบนตราประทับจะต้องประกอบด้วยชื่อบริษัท ที่ตั้งของบริษัท และหน่วยงานที่กำกับดูแลการดำเนินกิจการของวิสาหกิจใน สปป.ลาว ซึ่งรายละเอียดดังกล่าวจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่กำหนดเท่านั้น อาทิ ชื่อบริษัทอยู่บริเวณใจกลางตราประทับ ชื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่บริเวณด้านบนและที่ตั้งบริษัทอยู่บริเวณกรอบด้านล่างของตราประทับ เป็นต้น
  • ใบยั่งยืนการนำเงินทุนเข้าประเทศ (Capital Importation Certificate) ผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจทั่วไปใน สปป.ลาว จะต้องดำเนินการนำเงินทุนอย่างน้อย 30% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมดที่ระบุไว้ในใบอนุญาตลงทุนหรือใบทะเบียนวิสาหกิจเข้ามาใน สปป.ลาว ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับเอกสารดังกล่าว โดยนักลงทุนต่างชาติสามารถนำเงินทุนเข้ามาผ่านบัญชีที่เปิดไว้กับธนาคารพาณิชย์ของ สปป.ลาว หรือหากนำเงินทุนเข้ามาในรูปแบบเงินสดจะต้องสำแดงรายการเงินตราต่อจุดตรวจศุลกากรและนำเอกสารรับรองที่ได้รับมายื่นเป็นหลักฐานที่ธนาคารแห่ง สปป.ลาว (Bank of the Lao PDR) ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องนำหลักฐานการนำเงินทุนเข้ามาแสดงต่อธนาคารแห่ง สปป.ลาว ทุกครั้ง เพื่อออกหนังสือรับรองการนำเงินทุนเข้ามาภายในประเทศหรือที่เรียกว่าใบยั่งยืนการนำเงินทุนเข้าประเทศสำหรับผู้ประกอบการที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่นอกนครหลวงเวียงจันทน์สามารถติดต่อขอรับใบยั่งยืนได้ที่สาขาของธนาคารแห่ง สปป.ลาว หรือธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาต

อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายส่งเสริมการลงทุนและกฎหมายวิสาหกิจกำหนดกรอบระยะเวลาการพิจารณาใบอนุญาตต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติกระบวนการดังกล่าวยังใช้เวลานาน โดยการยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจอาจใช้เวลาเฉลี่ย 5-7 เดือนส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีเพียงกระทรวงหลักอย่างกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้ากับกระทรวงแผนการและการลงทุนเท่านั้นที่สามารถดำเนินการต่างๆ ที่จุดเดียวได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรวางแผนและเผื่อเวลาสำหรับขั้นตอนต่างๆ แต่เนิ่นๆ

  • ธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกรกฎาคม 2562


แท็ก ลาว  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ